×

ยุโรปปรับกระบวนทัพอุตสาหกรรม หวังไล่ทันจีนและสหรัฐฯ

08.06.2021
  • LOADING...
ยุโรปปรับกระบวนทัพอุตสาหกรรม

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • มีหลายปัจจัยที่อาจใช้อธิบายการถดถอยของยุโรป เช่น กฎหมายการแข่งขันและกฎหมายแรงงานที่เข้มงวด อัตราภาษีสูง ความเป็นราชการ (Bureaucracy) ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและทำให้บริษัทมีต้นทุนการดำเนินงานสูง 
  • แม้ว่า EU จะเป็นตลาดเดียว (Single Market) แต่หลายบริษัทก็ยังดำเนินธุรกิจเพียงเฉพาะในประเทศของตนเองด้วยความแตกต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ทำให้ยากที่จะเกิดบริษัทขนาดใหญ่ได้
  • เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2021 EU ได้ประกาศยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฉบับใหม่ ‘Updated European Industrial Strategy’ โดยมีจุดเน้น 3 ข้อคือ การเพิ่มความแข็งแกร่งของตลาดภายใน การแก้ไขปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าสินค้ายุทธศาสตร์ และการเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมานับว่าเป็น Wake Up Call ที่ปลุกให้สหภาพยุโรป (EU) ตื่นมาพบว่าอุตสาหกรรมของตนเองเปราะบางและพึ่งพาการนำเข้ามากเกินไป อีกทั้งยังวิ่งตามไม่ทันคู่แข่งอย่างสหรัฐฯ และจีน 

 

เหตุใดบริษัทในยุโรปจึงดูเหมือนจะเสียตำแหน่งผู้นำในโลกธุรกิจ มีสินค้าและเทคโนโลยีอะไรที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในยุคหลังโควิด-19 EU มีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร และมีโอกาสสำเร็จหรือไม่ คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นปมคาใจผู้นำและผู้บริหารในภูมิภาคนี้

 

ในปัจจุบัน 100 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกมาจากสหรัฐฯ กว่า 60 ราย และจากจีน 20 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเทคโนโลยี ในขณะที่จากยุโรปมีเพียง 15 ราย (ลดลงจากจำนวน 41 รายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีก เช่น Nestlé (อาหาร)  LVMH (แฟชั่น) และ IKEA (เฟอร์นิเจอร์) และแม้แต่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่าง SAP (เยอรมนี) ก็ยังไม่สามารถเทียบมูลค่าได้กับบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันอย่าง Apple หรือบริษัทจีนอย่าง Alibaba (SAP 158 พันล้านดอลลาร์, Apple 2.1 ล้านล้านดอลลาร์, Alibaba 6.48 แสนล้านดอลลาร์) 

 

มีหลายปัจจัยที่อาจใช้อธิบายการถดถอยของยุโรป เช่น กฎหมายการแข่งขันและกฎหมายแรงงานที่เข้มงวด อัตราภาษีสูง ความเป็นราชการ (Bureaucracy) ที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และทำให้บริษัทมีต้นทุนการดำเนินงานสูง นอกจากนี้แม้ว่า EU จะเป็นตลาดเดียว (Single Market) แต่หลายบริษัทก็ยังดำเนินธุรกิจเพียงเฉพาะในประเทศของตนเองด้วยความแตกต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ทำให้ยากที่จะเกิดบริษัทขนาดใหญ่ได้ 

 

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2021 EU ได้ประกาศยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมฉบับใหม่ ‘Updated European Industrial Strategy’ โดยมีจุดเน้น 3 ข้อคือ การเพิ่มความแข็งแกร่งของตลาดภายใน การแก้ไขปัญหาการพึ่งพาการนำเข้าสินค้ายุทธศาสตร์  และการเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล

 

เอกสารฉบับดังกล่าวระบุว่า จากการศึกษาซัพพลายเชนของสินค้ากว่า 5,200 รายการ พบว่ามีสินค้า 137 รายการที่ EU พึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก โดยประเทศต้นทาง 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เวียดนาม และบราซิล นอกจากนี้ยังเจาะลึกลงไปด้วยว่า สินค้าและเทคโนโลยีที่ซัพพลายเชนมีความเปราะบางเป็นพิเศษและจำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน ได้แก่ สินแร่หายาก (Rare Earths), แบตเตอรี่, สารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredients: API), ไฮโดรเจน, เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีคลาวด์และ edge  

 

ในเชิงเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า

  • EU พึ่งพาการนำเข้าสินแร่หายากกว่า 98% ของความต้องการใช้จากจีนเพียงประเทศเดียว ซึ่งสินแร่หายากเป็นวัตถุดิบสำคัญในสินค้าไฮเทคเกือบทุกชนิด (ลิเธียมในแบตเตอรี่ ซิลิคอนในเซมิคอนดักเตอร์) รวมถึงในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด (เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม และเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อผลิตไฮโดรเจน) 
  • EU มีสัดส่วนการผลิต APIs เพียง 24% เมื่อเทียบกับ 66% จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (โดยเฉพาะจีนและอินเดีย) ทำให้ในช่วงต้นของวิกฤตโควิด-19 ที่โรงงานในจีนต้องหยุดสายการผลิต และอินเดียห้ามส่งออกพาราเซตามอลและยาพื้นฐานอื่นๆ EU ต้องประสบปัญหาขาดแคลนยารักษาโรคสำคัญหลายตัว
  • EU พึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนแบตเตอรี่จากเอเชีย (จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น) กว่า 84% ซึ่งแบตเตอรี่เป็นหัวใจของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
  • EU พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ชั้นสูงจาก 2 บริษัทคือ Taiwan Semiconductors (ไต้หวัน) และ Samsung (เกาหลีใต้) ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์คือมันสมองของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวเรา
  • ปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลกล้วนมาจากสหรัฐฯ กับจีน (Amazon Web Services, Microsoft Azure, Google Cloud, Alibaba Cloud) ในขณะที่บริษัทผู้ให้บริการคลาวด์แนวหน้าของ EU มีส่วนแบ่งตลาดน้อยมากแม้กระทั่งในยุโรปเอง (เพียงประมาณ 1% ของตลาดคลาวด์ใน EU)

 

สินค้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าแห่งโลกยุคหลังโควิด-19 ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า ประเทศใดจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหรือสามารถพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้ำหน้ากว่าประเทศอื่นได้

  

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของ EU ฉบับนี้จึงนับได้ว่ามีวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงความมั่นคงและเศรษฐกิจ ในเชิงความมั่นคง คือการลดการพึ่งพาจีน มาสู่การเพิ่มการผลิตสินค้าจำเป็นภายใน EU เอง หรือกระจายฐานการผลิตไปในประเทศอื่น (เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ EU จะผลิตทุกอย่างเอง) โดย EU เดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ สำหรับภูมิภาคอาเซียน EU มี FTA กับสิงคโปร์และเวียดนามแล้ว และกำลังเจรจาขั้นสุดท้ายกับอินโดนีเซีย นอกจากนี้ EU ยังเจรจา FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (Mercosur) ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งวัตถุดิบให้กับ EU ได้ด้วย

 

ในเชิงเศรษฐกิจ EU ต้องเร่งพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมของตนเองให้ทันจีนและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด เป็นต้น โดย EU ประกาศเพิ่มเงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างกลไกการทำงานที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดต่างๆ และสามารถอัดฉีดเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม เช่น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารยุโรปเพื่อการลงทุน (European Investment Bank: EIB) ได้สนับสนุนเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านยูโร เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยุโรป นอกจากนี้ EU ยังเน้นการเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ภาษี แรงงาน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างบริษัทยุโรปกับบริษัทต่างชาติ

 

คงจะต้องติดตามดูว่าโมเดลของยุโรปจะแข่งขันอย่างไรกับโมเดลสหรัฐฯ ที่ขับเคลื่อนโดยเอกชนซึ่งมีความสามารถในการระดมทุนมหาศาล และโมเดลจีนที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐซึ่งพร้อมอัดฉีดเงินทุนมหาศาลเช่นกัน ในขณะที่ยุโรปอาศัยโมเดลลูกผสมบนความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่ต่างมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและกฎระเบียบ

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

ภาพ: Soeren Stache / picture alliance via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising