เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค หลังเยอรมนี-ไอร์แลนด์ประกาศปรับลด GDP ไตรมาสแรกปีนี้ นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน ยูโรโซนไม่น่าจะเติบโตมากนักในอีกหลายเดือนข้างหน้า
สำนักงานสถิติแห่งชาติยุโรป (Eurostat) เปิดเผยรายงานสภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ฉบับปรับปรุง (Revised) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ายูโรโซนได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิคอย่างเป็นทางการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปรับตัวติดลบ 0.1% สวนทางกับผลการอ่านรายงานรอบแรกที่ระบุว่าเศรษฐกิจ 3 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.1%
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่เยอรมนี ชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในยูโรโซนปรับลดตัวเลขการเติบโตในช่วงเดียวกันและเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว ขณะเดียวกันทางไอร์แลนด์ยังได้ปรับลดอัตราการเติบโตลงเกือบ 5% แล้ว
รายงานระบุว่า ตัวเลขการหดตัวล่าสุดนี้เกิดขึ้นหลังจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ที่เพิ่งจะหดตัวเช่นเดียวกัน ทำให้ GDP ยูโรโซนปรับตัวติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันและเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
Andrew Kenningham หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Capital Economics ระบุว่า สืบเนื่องจากข่าวที่ GDP หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกปีนี้ นอกจากทำให้ยูโรโซนได้เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคแล้ว ทางผู้เชี่ยวชาญเองก็กังขาว่าเศรษฐกิจยูโรโซนน่าจะหดตัวต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2023
ทั้งนี้ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และกรีซ เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยูโรที่รายงานการหดตัวของเศรษฐกิจ 2 ไตรมาสต่อเนื่องกัน
ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่าการบริโภคภาคครัวเรือนในกลุ่มยูโรโซนยังลดลง 0.3% ในไตรมาสแรก ตอกย้ำถึงแรงกดดันที่ผู้บริโภคเผชิญท่ามกลางราคาสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้น
Claus Vistesen จาก Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า ยูโรโซนไม่น่าจะเติบโตมากนักในอีกหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่การลงทุนก็น่าจะชะลอตัวลงเช่นกัน
นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ขาดพลวัตยังเป็นความยากลำบากต่อธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยอัตราดอกเบี้ยล่าสุดของ ECB อยู่ที่ 3.25%
ธนาคารกลางยุโรปมีกำหนดการประชุมในสัปดาห์หน้า ขณะที่นักลงทุนคาดว่า ECB น่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25%
ขณะเดียวกัน ผลประกอบการทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อาจจำกัดความสามารถของ ECB ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ ECB ได้เสนอแนะก่อนหน้านี้ว่าการลดตัวเลขเงินเฟ้อมีความสำคัญมากกว่าการหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยูโรโซนยังคงซื้อขายสูงขึ้นอย่างมากในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 มิถุนายน) หลังจากการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดหลายรายคาดว่าจะมีการคุมเข้มทางการเงินเพิ่มเติม
ในวันเดียวกันนั้น สำนักข่าว Reuters รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และผลกระทบของสงครามในยูเครน ได้บีบบังคับให้บริษัทชั้นนำต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ค้าปลีก อาหาร วิศวกรรม เทคโนโลยี และการเงินการธนาคาร ต้องเลิกจ้างหรือสั่งระงับการจ้างงานเป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างเช่น Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลีที่ได้ตกลงกับสหภาพแรงงานในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะลดพนักงาน 2,000 คน จากการดำเนินงานในอิตาลีผ่านการเลิกจ้างโดยสมัครใจ
Volvo Cars ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติสวีเดนที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ในการปลดพนักงานในสวีเดนเพิ่มเติม 1,300 คน ซึ่งคิดเป็น 6% ของจำนวนพนักงานของบริษัทในประเทศ
Sainsbury’s กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตของอังกฤษซึ่งวางแผนที่จะรวมคลังเก็บสินค้าทั่วไปของ Sainsbury’s และ Argos ที่มีอยู่ 5 แห่ง เป็น 3 แห่ง และปิด 2 แห่ง ภายในปี 2026 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนงาน 1,400 คน
Philips ผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของเนเธอร์แลนด์เผยเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่าจะเลิกจ้างงาน 6,000 ตำแหน่ง เพื่อรับมือกับยอดขายที่ลดล หลังจากการเรียกคืนเครื่องช่วยหายใจครั้งใหญ่
Vodafone ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของอังกฤษกล่าวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่าจะลดงาน 11,000 ตำแหน่ง ในช่วง 3 ปีนี้ เนื่องจากคาดการณ์ว่ากระแสเงินสด (Cash Flow) ในปี 2023 จะลดลง 1,500 ล้านยูโร
และ Standard Chartered ธนาคารอังกฤษได้เริ่มการเลิกจ้างพนักงานในสำนักงานในลอนดอน สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยจำนวนที่ลดทั้งหมดอาจมากกว่า 100 ตำแหน่ง ตามรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ที่รายงานเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
อ้างอิง: