×

เงินยูโรอ่อนค่า 8 สัปดาห์ติด กดดันจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าคาด เพิ่มโอกาส ECB หยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว

08.09.2023
  • LOADING...
เงินยูโรอ่อนค่า

สกุลเงินยูโรอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนักลงทุนตอบสนองต่อการอ่อนตัวของเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มยุโรป สวนทางกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ยังคงแข็งแกร่ง

 

ล่าสุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงกว่า 5% นับแต่กลางเดือนกรกฎาคม มาสู่ระดับ 1.07 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ การอ่อนค่าดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ในการประชุมในสัปดาห์หน้า ขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปกำลังเข้าสู่ขาลง 

 

ตัวเลขการผลิตของเยอรมนีซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป หดตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ สะท้อนความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีโอกาสจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงยาวนานกว่าที่คิด ดึงดูดให้เม็ดเงินไหลกลับเข้ามายังเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

Chris Turner หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนของ ING กล่าวว่า “ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่ภาคการผลิตของยุโรปกำลังอ่อนแออย่างมาก ซึ่งอาจทำให้ ECB ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อได้”

 

ขณะที่ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ถูกปรับลดจากคาดการณ์เดิมที่ 0.3% มาเหลือเพียง 0.1% และผลสำรวจความเห็นต่อเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมก็มีแนวโน้มจะย่ำแย่ลงอีก

 

Dirk Schumacher อดีตเจ้าหน้าที่ของ ECB ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis ธนาคารพาณิชย์ในฝรั่งเศส มองว่า ECB จะเลือกหยุดขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว แต่ยังคงแสดงท่าทีกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ และพร้อมที่จะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบรัดกุมอีกครั้งหากเงินเฟ้อยังคงพุ่งสูง “ซึ่งจะช่วยให้ตลาดเตรียมพร้อมและคาดการณ์ได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย” 

 

สำหรับนักลงทุนบางส่วนมองว่าสัญญาณต่อภาวะ Recession ในยุโรป จะทำให้ ECB ไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อีก แม้จะมองว่าจำเป็นจะต้องกดให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในปัจจุบัน ซึ่งไม่รวมผลของราคาพลังงานและอาหาร ยังคงอยู่สูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 5.3% 

 

แรงกดดันต่อเงินเฟ้อยังมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากรัสเซียและซาอุดีอาระเบียตัดสินใจยืดเวลาการปรับลดกำลังการผลิตออกไป ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งแตะระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดนับแต่เดือนพฤศจิกายนปีก่อน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X