ในวันที่ โรแบร์โต มันชินี เข้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติอิตาลีเมื่อปี 2018 วันนั้นเขาได้ลั่นวาจาที่เป็นดังคำสัญญาเอาไว้
“ผมจะพาอิตาลีกลับไปสู่จุดที่พวกเราควรอยู่ ณ จุดสูงสุดของยุโรปและของโลก เราไม่ได้แชมป์ฟุตบอลยูโรมาหลายปีแล้ว ดังนั้นมันจะเป็นเป้าหมายอันดับแรกของเรา”
การประกาศครั้งนั้นช่างสวนทางกับความเป็นจริงของทีมชาติอิตาลีที่เข้าสู่ยุคมืดเมื่อ จาน ปิเอโร เวนตูรา ไม่สามารถพาทีมผ่านเข้าสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซียในปี 2018 ได้
และเกมแรกที่มันชินีได้เริ่มต้นงานของเขาคือการนำอิตาลีลงสนามในเกมกระชับมิตรกับทีมชาติซาอุดีอาระเบีย ชาติจากเอเชียที่ขอใช้อิตาลีเป็นแค่ ‘คู่ซ้อม’ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมของพวกเขาก่อนหน้าที่จะเดินทางไปลุยฟุตบอลโลก
วันนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าในอีก 3 ปีต่อมาอิตาลีจะก้าวมาเป็นแชมป์ยุโรปได้จริง
ก่อนหน้าที่อิตาลีจะลงแข่งขันยูโร 2020 พวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานะของทีมตัวเก็งเต็งแชมป์ เพราะสายตาผู้คนจับจ้องไปที่ความยอดเยี่ยมของฝรั่งเศส, Golden Generation ของเบลเยียม และเหล่าสิงโตหนุ่มกลัดมันของอังกฤษที่เต็มไปด้วยนักเตะพรสวรรค์มากมาย
แต่ ‘อัซซูรี’ (แปลว่าสีน้ำเงิน) ก็มีความตั้งใจของพวกเขาเหมือนกัน
มันเริ่มตั้งแต่คอนเซปต์ของชุดแข่งขันในรายการนี้ที่มาในแนวคิด ‘Renaissance’ (Rinascita) หรือการกลับมากำเนิดใหม่ – ซึ่งสื่อถึงยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปวิทยา (ค.ศ.1450-1600) ที่ชาวยุโรปกลับมาสร้างบ้านแปงเมืองอีกครั้งหลังจากที่ปล่อยปละละเลยให้ทรุดโทรมมาอย่างยาวนาน
ศูนย์กลางของยุคเรเนสซองส์นั้นอยู่ที่ประเทศอิตาลี และเป็นยุคที่กำเนิดยอดศิลปินมากมาย ผลงานของพวกเขาเหล่านั้นยังคงเป็นงานศิลปะชิ้นเอกของโลกที่อยู่เหนือกาลเวลาแม้ว่าจะล่วงเลยมาแล้วหลายร้อยปีก็ตาม
ศิลปินที่ลือชื่อในยุคนั้นมีมากมาย แต่ที่หลายคนรู้จักกันดีคือ เลโอนาร์โด ดา วินชี (โมนา ลิซา), มีเกลันเจโล (รูปปั้นเดวิด), ราฟาเอล (La Fornarina) และโดนาเตลโล (รูปหล่อสำริดเดวิด) เป็นต้น (และทั้ง 4 คนได้ถูกนำไปตั้งชื่อเป็นตัวละครนินจาเต่า…)
แรงบันดาลใจจากยุคสมัยดังกล่าวนั้นเข้ากับทีมชาติอิตาลีได้เป็นอย่างดี พวกเขาปล่อยปละละเลยเกมฟุตบอล – หนึ่งในความสุขสูงสุดของชาติ – มายาวนาน ความสำเร็จแบบไม่คาดฝันกับการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2006 ไม่ได้รับการสานต่อ วงการฟุตบอลอิตาลีซบเซา กัลโช เซเรีย อา ตกต่ำเสียสถานะลีกที่ดีที่สุดของโลกไปให้แก่พรีเมียร์ลีกแบบยากที่จะทวงกลับ
จนได้มันชินีเข้ามากอบกู้แก้ไขทุกอย่าง เริ่มต้นกันใหม่ (อ่าน ‘Azzurri’ อิตาลีคืนชีพจากเถ้าถ่าน กลับมาเป็นทีมฟุตบอลที่ดีอีกครั้งได้อย่างไร) ที่แก้ไขกันตั้งแต่เรื่องของแนวคิด ระบบการเล่น สไตล์ ไปจนถึงเหล่าขุนพลที่เขาจะเลือกใช้
ทีมชาติอิตาลีชุดยูโร 2020 จึงเป็นทีมที่ไม่มีซูเปอร์สตาร์แบบ ‘ข้ามาคนเดียว’ เหมือนสมัยก่อนที่จะมี Fantasista หรือตัวทำเกมที่เป็นพระเอกอย่าง โรแบร์โต บาจโจ, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร หรือ ฟรานเชสโก ต็อตติ เพราะนักเตะเหล่านี้ดับสูญไปหมดแล้ว
อิตาลีชุดนี้ก็ไม่มี Resista หรือคนคุมเกมอย่าง อันเดรีย ปิร์โล ที่เป็นเหมือนวาทยากรในวงออร์เคสตรา กำหนดจังหวะการเล่นของทีม
แต่มันชินีมีนักเตะที่เล่นได้เข้ากับระบบการเล่นอย่างดีในทุกจุด โดยที่ทุกคนหากได้โอกาสลงสนามจะพร้อมทุ่มเทอย่างเต็มที่ ไม่มีเกี่ยงงอนว่าข้าตัวสำรอง เอ็งตัวจริง หรือข้าตัวจริง เอ็งตัวสำรอง
และเป็นพวกเขาเองที่กำหนด ‘โทน’ ของฟุตบอลยูโรหนนี้ให้กลายเป็นยูโรที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยการงัดฟอร์มระดับพระกาฬไล่ถล่มตุรกีตั้งแต่เกมแรกในการเปิดสนามที่สนามสตาดิโอ โอลิมปิโก ในกรุงโรมอันเกรียงไกร
หลังจากนั้นอิตาลีฝ่าฟันเรื่อยมา และไม่ใช่เส้นทางที่ง่ายเลย ในแต่ละนัดมันมีความยากในแบบที่พวกเขาต้องเหน็ดเหนื่อยจนรากเลือดเสมอ โดยเฉพาะนับตั้งแต่เข้าสู่รอบน็อกเอาต์เป็นต้นมา ที่ไม่มีทีมไหนจะยอมปล่อยให้พวกเขาเดินหน้าบดข้างเดียว
กว่าจะผ่านออสเตรียมาได้ก็ต้องเล่นกันถึงช่วงของการต่อเวลาพิเศษ
กว่าจะผ่านเบลเยียมมาได้ก็แลกด้วยอาการบาดเจ็บของ เลโอนาร์โด สปินาซโซลา แบ็กซ้ายที่เป็นเหมือนลูกสูบทรงพลังที่ขับเคลื่อนทีมด้วยความเร็วสูง
และกว่าจะผ่านสเปนมาได้ พวกเขาก็ต้องเล่นแบบตั้งรับอย่างอดทนเป็นครั้งแรกในรายการ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเจอใครก็ตามก็สามารถคอนโทรลเกมได้อย่างหมดจด สุดท้ายก็ผ่านมาได้ด้วยชัยชนะแบบถึงฎีกากับการดวลจุดโทษ
แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรยากไปกว่าการที่ทีมของมันชินีต้องเป็นฝ่ายตามหลังอังกฤษ คู่ชิงชนะเลิศที่ได้เล่นในสนามเวมบลีย์ของตัวเองท่ามกลางแฟนบอลกว่า 60,000 คน และบทเพลง Three Lions ดังกระหึ่มตลอดเวลา
It’s coming home
It’s coming home
It’s coming home
Football’s coming home
อังกฤษภายใต้การนำของ แกเร็ธ เซาท์เกต ไต่ทะยานขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของความมั่นใจ หลังจากที่พวกเขาเอาชนะเดนมาร์กได้ในรอบรองชนะเลิศ ด้วยฟอร์มการเล่นที่ใช้ได้ ขุมกำลังที่ดี ยุทธศาสตร์และการวางแผนไม่ผิดพลาดรัดกุม และบรรยากาศยิ่งเป็นใจ
หลัง 55 ปีของความเจ็บปวด ชาวอังกฤษและทีมชาติอังกฤษมีความเชื่อและความหวังว่านี่คงจะถึงคราของพวกเขาเสียที และประตูตั้งแต่ 1 นาที 57 วินาทีของ ลุค ชอว์ ก็ชวนให้คิดเป็นอื่นไปไม่ได้
มันเป็นจังหวะการเล่นที่ตระเตรียมซักซ้อมมาอย่างดี เมื่อ แฮร์รี เคน กัปตันทีมถอนตัวลงมาต่ำเพื่อดึงตัวประกบและทำเกม ก่อนจะเลือกจ่ายเปลี่ยนแกนออกทางฝั่งขวาให้ คีแรน ทริปเปียร์ วิงแบ็กที่เซาท์เกตส่งลงตัวจริงวันนี้เพื่อรับมือกับเกมริมเส้นของอิตาลีโดยเฉพาะ ได้บอลและเปิดลึกมาเสาไกลให้ชอว์ที่เติมมาโล่งๆ ไม่มีคนประกบยิงฮาล์ฟวอลเลย์เข้าไป
วินาทีนั้นเส้นโค้งเหนือสนามเวมบลีย์ (Wembley Arch) แทบถล่ม ไม่ต้องสงสัยว่าในใจของคนอังกฤษย่อมคิดว่าฟุตบอลจะได้กลับบ้านเสียทีหลังจากที่ไปอยู่บ้านอื่นเมืองอื่นมานาน (ในความหมายคือประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของเกมฟุตบอลจะได้เป็นแชมป์อีกครั้งหลังทนเห็นชาติอื่นเขายิ่งใหญ่มาตลอด)
สำหรับอิตาลีไม่มีงานไหนจะยากกว่านี้อีกแล้ว ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงเพราะอังกฤษไม่เพียงแต่จะเล่นเกมรับได้อย่างเหนียวแน่น พวกเขายังปิดการทำเกมได้แทบทั้งหมดจนทีมของมันชินีแทบหาทางไปไม่เจอ
ถ้ามองตามสถิติการเล่นในรายการนี้ อังกฤษเสียประตูไปเพียงแค่ลูกเดียวเท่านั้น และมันก็ไม่ได้มาจากจังหวะการเล่นโอเพ่นเพลย์ด้วย แต่เป็นลูกฟรีคิกมหัศจรรย์ของ มิคเกล ดัมส์การ์ด ที่ยิงให้เดนมาร์กขึ้นนำก่อนในรอบรองชนะเลิศ นั่นหมายถึงเกมรับของสิงโตคำรามน่าเกรงขามอย่างแท้จริง
หนักกว่านั้นคืออิตาลีเองก็ไม่เคยตกเป็นฝ่ายตามหลังมาก่อนเลยในรายการนี้ แม้กระทั่งในเกมกับเบลเยียมหรือสเปน พวกเขาก็เป็นฝ่ายขึ้นนำไปก่อน
อย่างไรก็ดีทีมของมันชินีได้แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติสุดท้ายที่สำคัญสำหรับทีมที่ยิ่งใหญ่
พวกเขาไม่ทิ้งความเชื่อและไม่ละความพยายาม
ในช่วงเวลาของความอึดอัด อิตาลียังคงพยายามทำทุกอย่างตามแผน พวกเขาไม่ได้รีบร้อนในการเปิดเกมเข้าใส่แบบหุนหัน แต่ค่อยๆ เปิดเกมจากแดนหลังขึ้นมาอย่างใจเย็น ช่องไหนปิดก็หาช่องใหม่ ช่องไหนเปิดพอลองของได้ก็ลอง
จอร์จินโญ เมโทรนอม นำเข้าจากบราซิล (อ่าน จอร์จินโญ เครื่องกำหนดจังหวะ ‘อัซซูรี’ ที่นำเข้าจากบราซิล เรียนฟุตบอลจากแม่ และกำลังพาทีมลุ้นแชมป์ยูโร) ค่อยๆ สร้างสรรค์เกมร่วมกับ มาร์โก แวร์รัตติ อย่างประณีต เป็นศิลปะที่พลิ้วไหวอยู่ในแดนกลางของสนาม
ที่แนวรุกพวกเขามี เฟเดริโก เคียซา สายฟ้าฟาดทายาทของ เอ็นริโก เคียซา อดีตหัวหอกระดับตำนานยุค 90 ที่กลายเป็นหนึ่งในดาวจรัสแสงของยูโรหนนี้ ซึ่งใช้ความเร็ว ทักษะลีลาการเลี้ยงบอล และความกล้าหาญบุกเข้าใส่เหมือนฝีแปรงที่ตวัดด้วยความร้อนแรง
และแนวรับแม้จะอายุมากกันทั้งคู่แต่ The Art of Defence ของ เลโอนาร์โด โบนุชชี และ จอร์โจ คิเอลลินี ยังหนักแน่นมั่นคงเสมอ
ผมนั่งดูเกมนัดนี้ไปก็อดคิดไม่ได้ว่า ในขณะที่อังกฤษอาจจะคิดและเล่นแบบมีกลยุทธ์ มีวิธีเข้าตี โอบล้อม และตั้งรับ
แต่อิตาลีคิดและเล่นแบบงานศิลปะ ประณีต บรรจง จดจ่อ ตั้งใจ และไม่ท้อที่จะหาแนวทางใหม่ๆ ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเกมอย่างรวดเร็วทันใจของมันชินี ที่ปรับหมากเปลี่ยนตัวกันอย่างสนุก
สุดท้ายคนที่ไม่มีใครคาดคิดอย่างโบนุชชีก็เป็นคนตีเสมอได้ในช่วงครึ่งเวลาหลัง ซึ่งแม้สุดท้ายจะเอาชนะกันในเกมไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดอิตาลีก็ไม่แพ้ใครในเวลาเป็นเกมที่ 34 ติดต่อกัน สถิตินี้เป็นรองเพียงแค่บราซิลเจ้าของสถิติไร้พ่ายตลอดกาลสูงสุด 35 นัด
ส่วนในช่วงของการต่อเวลาพิเศษและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการดวลจุดโทษนั้นมันเป็นเรื่องของดวง ซึ่งเทพีแห่งโชคไม่ได้หันมายิ้มให้เซาท์เกตและทีมของเขา
ผมเองก็อดเสียใจแทนไม่ได้ เพราะด้วยตัวผู้เล่นที่มีแล้ว แกเร็ธ เซาท์เกต สามารถจะทำให้อังกฤษชุดนี้เป็นทีมที่เล่นได้น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดทีมหนึ่งได้ไม่ยาก (เอาแค่ 3 กองหน้า กรีลิช, เคน, ซานโช ก็ระทึกแล้ว) แต่เขาตัดสินใจเลือกแนวทางเน้นความแน่นอนมาก และมันกลับมาเป็นผลเสียในเกมที่สำคัญที่สุด
แม้กระทั่งการตัดสินใจเลือกผู้เล่นที่จะรับหน้าที่สังหารจุดโทษเองก็ดูผิดที่ผิดทาง เหมือนคนที่คิดเยอะและคิดมากจนเกินไป
ขณะที่อิตาลีพวกเขาทำทุกอย่างตามธรรมชาติ แถมยังมีคนเหนือธรรมชาติอย่าง จานลุยจิ ดอนนารุมมา ผู้รักษาประตูในคำทำนายที่ถูกคาดหมายมานานว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นตำนานบทใหม่ต่อจาก จานลุยจิ บุฟฟอน ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำได้ตามคำทำนายจริงในเกมนี้
ลูกยิงของ บูกาโย ซากา เด็กน้อยวัย 19 ปีผู้น่าสงสารที่ถูกดอนนารุมมาบินไปปัดได้ (และเป็นการเซฟจุดโทษลูกที่ 3 ของวัน) ทำให้อิตาลีกลายเป็นแชมป์
คำสัญญาที่มันชินีให้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อนได้รับการเติมเต็มไปแล้วหนึ่งอย่าง
อิตาลีกลับมาอยู่ในจุดสูงสุดของยุโรปได้อีกครั้ง ศิลปวิทยาลูกหนังกลับมาเรืองรอง
และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะปีหน้าฟุตบอลโลกจะกลับมา
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/football/blog/2021/jul/12/roberto-mancini-honours-promise-to-make-italy-champions-of-europe
- https://www.telegraph.co.uk/euro-2021/2021/07/12/turned-three-lions-cubs-world-reacted-italys-euro-2020-final/
- https://www.thetimes.co.uk/article/euro-2020-spirited-italy-prove-masters-of-their-own-destiny-7qwx2pd5n
แถม!
10 เรื่องที่น่าประทับใจที่สุดของการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020
I’m so excited for Sunday’s Final, especially since I just tried on my new kit! Do you like it? 🥰🌈 #EURO2020 #PRIDE #ENGITA pic.twitter.com/85sm1a1327
— Tiny Football Car (@TinyFootballCar) July 9, 2021
1. Tiny Football Car ผู้เชิญลูกฟุตบอล
เซอร์ไพรส์แรกของการแข่งขันคือเจ้ารถบังคับคันน้อยที่เป็นผู้เชิญลูกฟุตบอลในครั้งนี้
2. นาทีชีวิต คริสเตียน อีริกเซน
วินาทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟุตบอลยูโร 2020 คือตอนที่เราทุกคนได้รู้ว่า คริสเตียน อีริกเซน ยังมีลมหายใจอยู่
3. ผู้ชมเต็มสนามปุสกัส อารีนา
ภาพของผู้ชมเต็มความจุสนามปุสกัส อารีนา กว่า 67,000 คน คือบรรยากาศที่ชวนขนลุก เพราะโควิดแทบจะทำให้ลืมสิ่งที่เคยเป็นเรื่องธรรมดาๆ เหล่านี้ไปหมดแล้ว
4. แม็กยาร์ท้าแชมป์โลก
ทีมชาติฮังการี ทีมรองบ่อนสุดกู่ในกลุ่มแห่งความตาย โชว์ผลงานบันลือโลกเกือบเอาชนะแชมป์โลกฝรั่งเศสได้
5. การอำลาของ ‘ม้าศึกแห่งมาซิโดเนีย’
โกรัน ปานเดฟ คือนักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวมาซิโดเนีย และหลังจากยอมกลับมาช่วยทีมชาติอีกครั้งหลังอำลาทีมไปแล้ว และพามาซิโดเนียเหนือเข้ามาแข่งยูโร 2020 ได้ (และทำประตูแรกและประตูเดียวของทีมได้) กองหน้าจอมเก๋าก็ขอปิดฉากตำนานของตัวเองแค่ตรงนี้
6. ปาฏิหาริย์แห่งบูดาเปสต์
ไม่มีใครคิดว่าทีมที่จะหยุดฝรั่งเศสได้คือสวิตเซอร์แลนด์ และนี่คือวันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเมื่อไล่ตีเสมอได้แบบระทึกท้ายเกม ก่อนจะเอาชนะในการดวลจุดโทษ
7. การปลอบขวัญหนูน้อยชาวเยอรมนี
ในวันที่เยอรมนีพ่ายอังกฤษตกรอบปรากฏภาพน่าเอ็นดูของหนูน้อยกองเชียร์ด็อยตช์ลันด์ที่ร้องไห้สะอึกสะอื้นจนชาวเน็ตรวมใจกันบริจาคเงินเพื่อปลอบขวัญ แต่สุดท้ายเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถูกนำไปมอบให้แก่ UNICEF อีกที
8. เทพนิยายที่ไร้ตอนจบของเดนมาร์ก
ทีมที่กลายเป็นขวัญใจของการแข่งขันยูโรครั้งนี้คือเดนมาร์ก ม้านอกสายตาที่ฝ่าเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศได้ด้วยทีมเวิร์กและพลังใจล้วนๆ แม้สุดท้ายจะตกรอบด้วยลูกจุดโทษที่น่ากังขาก็ตาม
9. เสื้อของอีริกเซน
หลัง คริสเตียน อีริกเซน หัวใจวายในสนามและรอดมาได้ ทุกทีมที่แข่งกับเดนมาร์กจะมีมอบของที่ระลึกเป็นเสื้อพร้อมลายเซ็นของคนทั้งทีมให้แก่ดาวเตะผู้โชคดีคนนี้เพื่อเป็นกำลังใจ
Bonucci is drinking Heineken & Coca Cola at the press conference.
The perfect end to the meme.#EURO2020 #ItaliaInghilterra pic.twitter.com/M5sqtsg240
— Alessandro Amoruso (@Aleamoruso99) July 11, 2021
10. การดื่มฉลองของโบนุชชี
เมื่อเสร็จภารกิจพาทีมคว้าแชมป์ได้ เลโอนาร์โด โบนุชชี ผู้ได้รับรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของนัดชิงชนะเลิศ ได้ไปนั่งโต๊ะแถลงข่าวโดยในมือถือทั้งขวดโค้กและขวดเบียร์ไฮเนเก้น สองสปอนเซอร์หลักที่มีกรณีดราม่าตั้งแต่ต้นรายการ เปิดฝากระดกเอื๊อกๆ อย่างสบายใจ เป็นการปิดท้ายยูโรในความทรงจำของทุกคน