×

ถอดเคล็ดวิชา ‘ลบตัวตน’ เมื่ออิตาลีไม่มี Catenaccio และสเปนเลิกใช้ Tiki-taka แต่มาถึงรอบตัดเชือกยูโร

06.07.2021
  • LOADING...
Tiki-taka

บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว หากมีใครบอกว่าอิตาลีและสเปนจะเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมและมีโอกาสลุ้นแชมป์ครั้งนี้อย่างจริงจัง ก็ต้องบอกว่าเป็นคนที่ตาถึงและมองขาดอย่างมาก

 

นั่นเพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่ดีนักของสองมหาอำนาจดั้งเดิม โดยอิตาลีนั้นไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายศึกฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย โดยที่ในคราวนี้ไม่ได้มีซูเปอร์สตาร์ตำรับอิตาเลียนที่เรียกว่า ‘Fantasista’ เหมือน โรแบร์โต บาจโจ, อเลสซานโดร เดล ปิเอโร หรือฟรานเชสโก ต็อตติ คอยประคับประคองทีม 

 

ไม่มีแม้แต่ Regista อย่าง อันเดรีย ปิร์โล ด้วยซ้ำไป เรียกว่าดูจากกระดาษรายชื่อแล้ว อย่างไรพวกเขาก็ไม่ใช่ตัวเก็ง

 

เช่นเดียวกันกับสเปนที่นับจากครองโลกในช่วงปี 2008-2012 ด้วยการกวาดแชมป์ระดับเมเจอร์ 3 รายการติดต่อกัน (ฟุตบอลยูโร 2008, 2012 และฟุตบอลโลก 2010) พวกเขาเข้าสู่ยุคตกต่ำลงอย่างช้าๆ

 

เหล่าแข้งอัจฉริยะอย่าง ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรส อิเนียสตา, ดาบิด บียา, เฟอร์นานโด ตอร์เรส, ชาบี อลอนโซ, อิเกร์ กาซิยัส ค่อยๆโบกมือลาทีมไปทีละคน รวมถึง เซร์คิโอ รามอส ที่ไม่ได้รับการเรียกตัวติดทีมชาติในยูโรหนนี้ และนักเตะที่มีก็ดูเทียบกับนักเตะในความทรงจำไม่ได้เลย อาจจะเรียกได้ว่า La Roja ชุดนี้เป็นชุดที่ขี้เหร่ที่สุดในรอบ 30 ปีก็ว่าได้

 

อย่างไรก็ดี ทั้งสองทีมต่างทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมเหนือความคาดหมายและเตรียมที่จะลงสนามปะทะกันเองในรอบรองชนะเลิศคืนนี้ ซึ่งเป็นการย้อนรอยของรอบชิงชนะเลิศในปี 2012 โดยมีเดิมพันคือการผ่านเข้าไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศ

 

อิตาลีภายใต้การนำของ โรแบร์โต มันชินี กุนซือมาดเนี้ยบ สร้างความประทับใจตั้งแต่นัดแรกของยูโรหนนี้ด้วยการถล่มตุรกีขาดลอย 3-0 และเก็บชัยชนะได้ต่อเนื่อง จนถึงเกมล่าสุดที่เฉือนเอาชนะเบลเยียม เต็งสองของการแข่งขันได้

 

ขณะที่สเปนอาจจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ก็ไต่ระดับฟอร์มการเล่นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้ทีละขั้น รวมถึงการเฉือนเอาชนะสวิตเซอร์แลนด์ได้ในการดวลจุดโทษรอบที่ผ่านมา

 

คำถามที่น่าสนใจคือทั้งสองทีมถึงทำผลงานได้ดีจนน่าประหลาดใจขนาดนี้?

 

คำตอบนั้นอยู่ที่ ‘วิธีคิด’ และ ‘แนวทางการปฏิบัติ’

 

Tiki-taka

 

อิตาลีที่ไม่มี Catenaccio

 

ทั้งอิตาลีและสเปนลงแข่งขันในรายการนี้ด้วยฟอร์มการเล่นที่น่าประหลาดใจสำหรับแฟนๆ ทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามดูพวกเขามาโดยตลอด เพราะมันไม่เหมือนกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันในความทรงจำ

 

สำหรับอิตาลี ‘ภาพจำ’ ของพวกเขาตลอดมาคือชาติที่เน้นเกมรับเป็นหลัก เทคนิคแพรวพราว และใช้ความสามารถเฉพาะตัวในการเอาชนะคู่ต่อสู้ โดยเฉพาะเรื่องของเกมรับกับวิธีการเล่นแบบ ‘Catenaccio’ คือเอกลักษณ์ประจำชาติของพวกเขาที่ใครก็รู้จักกันเป็นอย่างดี

 

แต่ในยูโรหนนี้พวกเขากลายเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลเพรสซิ่งอย่างดุดันตั้งแต่แดนบนขึ้นไป ไล่บดจนคู่แข่งเสียท่า และมีทีมเวิร์กที่ลื่นไหลลงตัว โดยที่ทุกคนนั้นเล่นเพื่อกันและกันอย่างแท้จริง

 

ความดุดัน ความเร็ว ความพยายามไม่ย่อท้อของนักเตะ ‘อัซซูรี’ ที่เดินหน้าใส่ทีมคู่แข่งไม่ว่าจะเจอกับทีมอะไรก็ตาม คือเสน่ห์ที่สำคัญของทีมชุดนี้ ที่ต่อให้ไม่ได้เป็นแฟนอิตาลีก็อดที่จะเอาใจช่วยไม่ได้ เพราะเล่นดีและเล่นมันจริงๆ

 

การเปลี่ยนแปลงในระดับ ‘กำเนิดใหม่’ (Renaissance) ครั้งนี้ของอิตาลี เป็นผลมาจากความตกต่ำของทีมที่พลาดฟุตบอลโลก 2018 การโบกมือลาของนักเตะอาวุโสมากมาย ทำให้เขามีโอกาสที่จะเริ่มต้นทุกอย่างขึ้นมาใหม่จากศูนย์

 

มันชินีเลือกระบบและสไตล์การเล่นที่เน้นความรวดเร็วดุดันตามสมัยนิยม และเลือกนักเตะที่จะสามารถเล่นเข้ากับระบบของเขาได้จริงๆ ซึ่งทุกคนไม่ว่าใครก็ตามที่ถูกเลือกติดทีมจะพร้อมลงทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่มีใครที่ต้องแบกใคร หรือใครที่เป็นภาระใคร

 

ดังจะเห็นได้ในแนวรุกที่หาก 3 ตัวหลักอย่าง ลอเรนโซ อินซิเญ, ชิโร อิมโมบิเล และ โดเมนิโก เบร์ราดี เล่นได้ไม่ดี ก็จะมี เฟเดริโก เคียซา หรือ อันเดรีย เบล็อตติ พร้อมลงทำหน้าที่แทนได้อย่างไม่ขัดเขิน ราวกับเป็นแค่การเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์

 

สิ่งที่มันชินีทำเรียกได้เป็นการปฏิวัติฟุตบอลอิตาลีอย่างแท้จริง เพียงแต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องความเหนียวแน่นของเกมรับที่ยังคงไว้ใจได้เสมอ โดยเฉพาะกับคู่กองหลังประสบการณ์สูงอย่าง เลโอนาร์โด โบนุชชี และ จอร์โจ คิเอลลินี ที่กลับมาท็อปฟอร์มพอดี

 

ดังนั้น หากจะบอกว่าพวกเขาเป็นทีมที่น่าประทับใจมากที่สุดในยูโรหนนี้ ก็ไม่น่าประหลาดใจนัก

 

Tiki-taka

 

สเปนที่ไม่ใช้ Tiki-taka

 

สำหรับสเปน การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะไม่ชัดเจนเหมือนอิตาลี เมื่อพวกเขายังคงเป็นทีมที่เน้นการครองบอลเป็นหลักเหมือนเดิม เพียงแต่ในรายละเอียดการเล่นแล้ว ทีมกระทิงดุไม่ได้เล่นเหมือนทีมในยุคทองนัก

 

สเปนชุดนี้จะไม่ใช้วิธีการป้อไปป้อมาในสไตล์ Tiki-taka เหมือนเดิม แต่จะเน้นการเข้าทำที่รวดเร็ว ดุดัน หากเปรียบเป็นมวยคือเป็นมวยขยัน เต้นฟุตเวิร์กแย้บใส่คู่ต่อสู้ตลอดเวลา และรอจังหวะเผลอเพื่อที่จะต่อยหมัดน็อกใส่คู่ต่อสู้

 

เรียกว่าไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง ลดพิธีรีตรองจากเดิมลงไปเยอะมาก

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทีมชาติสเปนชุดปัจจุบันไม่มีตัวผู้เล่นในระดับท็อปคลาสมากมายเหมือนเก่า (ยุคหนึ่งที่ ดาบิด ซิลบา, ซานติ กาซอร์ลา, เฟอร์นานโด ตอร์เรส หรือ เชส ฟาเบรกาส) พวกเขาไม่มีซูเปอร์สตาร์ล้นฟ้าเหมือนเก่าก่อน

 

ดาวเตะที่พอจะจัดเข้าข่ายนั้นได้ก็มีแค่ อัลบาโร โมราตา กองหน้าตัวหลัก นอกนั้นก็เป็นผู้เล่นประสบการณ์สูงที่ยังเหลือไว้ประคองรุ่นน้องอย่าง เซร์คิโอ บุสเกตส์, จอร์ดี อัลบา และโกเก ขณะที่ ติอาโก อัลกันตารา อีกหนึ่งสตาร์ก็กลายเป็นตัวสำรองอดทนในทีมไป

 

แต่ถึงจะไม่มีดาวดังก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับ หลุยส์ เอ็นริเก ที่มั่นใจใน ‘แนวคิด’ ของตัวเองตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี 2018 (แม้จะลาออกจากตำแหน่งไปพักหนึ่งเพื่อดูแลลูกสาวที่ล้มป่วยหนัก ก่อนจะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งหลังลูกสาวเสียชีวิต)

 

เอ็นริเกให้สัมภาษณ์ในช่วงก่อนเกมแรกของยูโร 2020 กับสวีเดนว่า “ตอนที่ผมเข้ารับตำแหน่งในทีมชาติ ผมอยากเห็นว่ามีผู้เล่นคนไหนบ้างที่สนใจในไอเดียสร้างทีมที่ผมต้องการ และมีบุคลิกที่จะสามารถแสดงมันออกมา

 

“ผมอยากจะเริ่มเส้นทางในยูโรด้วยความคิดที่ชัดเจนว่าทีมของผมจะเล่นแบบไหนมาโดยตลอด คนที่ปรับตัวเข้ากันได้ดีกับความคิดของผมก็จะมีโอกาสที่จะได้มาอยู่ที่นี่ ซึ่งก็คือนักเตะทั้ง 24 คนนี้”

 

ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเอ็นริเก (ทดลอง) ใช้งานนักเตะมาแล้ว 60 คน และเขาก็เป็นคนเลือกทีมงานเอง รับมือกับสื่อเอง และจัดแจงการฝึกซ้อมเอง เรียกว่านี่คือ ‘งาน’ ของเขาจริงๆ

 

และเขาก็พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อการทำงานของตัวเอง แม้ว่าจะเผชิญกับเสียงวิจารณ์หนักแค่ไหนก็ตาม โดยเฉพาะใน 2 เกมแรกของยูโรที่สเปนเล่นได้หนืดมาก มีโอกาสแต่ก็ขาดความเฉียบคม จนมีการเรียกร้องให้เขา ‘ปรับ’

 

แต่เอ็นริเกเลือกจะไม่ปรับเพราะเขาหนักแน่นในแนวทาง จนสุดท้ายสเปนก็เริ่มปลดล็อก ถล่มสโลวะเกีย 5-0 ในเกมสุดท้ายของรอบแรก ก่อนจะผ่านด่านทั้งโครเอเชียและสวิตเซอร์แลนด์มาได้ในรอบน็อกเอาต์

 

 

การลบตัวตนกับสิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน

 

ไม่ต่างอะไรจากยอดจอมยุทธ์ในนิยายกำลังภายใน ที่เมื่อก้าวฝึกวิทยายุทธ์ไปถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถไปได้ไกลกว่านั้นได้ก็จำเป็นที่จะต้องค้นหาแนวทางใหม่ เช่น การสลายพลัง หรือลบตัวตน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเริ่มต้นใหม่

 

สิ่งเหล่านี้พูดง่ายแต่ทำยาก และมีค่าตอบแทนสูง ซึ่งสำหรับจอมยุทธ์ สิ่งแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกันกับวิชาใหม่คือการที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำมาจะต้องดับสูญไปจนหมดเสียก่อน

 

มันจึงเป็นแนวทางของคนที่ใจกล้าและบ้าพอเท่านั้น ซึ่งโชคดีสำหรับอิตาลีและสเปนที่พวกเขาได้โค้ชหัวสมัยใหม่ที่มีแนวคิดเป็นของตัวเอง มีความเชื่อที่แรงกล้า และมีลูกบ้าที่ไม่กลัวอะไร โดยเฉพาะต่อเสียงกดดันจากสังคม

 

แม้ว่ามันจะมีโอกาสสูงที่ทุกอย่างจะพัง และหากเป็นเช่นนั้นสภาพศพของทั้งสองก็คงดูไม่สวยงามนัก อาจส่งผลต่อชื่อเสียงและบารมีในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนที่จะอยู่ในวงการ (ใดก็ตาม) แต่เมื่อทั้งมันชินีและเอ็นริเกเลือกที่จะเดินทางนี้อย่างเชื่อมั่นและไม่ไหวหวั่นไม่ว่าจะต้องเจอกับอะไร

 

สิ่งตอบแทนที่พวกเขาได้คือการค้นพบเส้นทางใหม่ แนวทางที่ดีและเหมาะสมกว่ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างมากมาย

 

หนึ่งในสองคนนี้จะได้รางวัลใหญ่ในการเข้าไปชิงชนะเลิศครับ

 

ส่วนอีกคนนั้นจะได้รางวัลปลอบใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การพาทีมเข้ามาถึงรอบลึกๆ ในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ ได้

 

แต่มันคือการเปิดประตูบานใหม่ให้แก่วงการฟุตบอลของประเทศ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นแก่คนรุ่นต่อไป

 

รางวัลนี้ไม่สามารถประเมินค่าได้ครับ มันมหาศาลเกินกว่าที่จะหาหน่วยนับไหว

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X