คืนนี้ศึกฟุตบอลยูโร 2020 มีเกมที่น่าสนใจหลายคู่ ไม่ว่าจะเป็นการพบกันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในกลุ่มแห่งความตายอย่างโปรตุเกส ทีมแชมป์เก่ายูโร 2016 และฝรั่งเศสทีมแชมป์โลก 2018 หรืออดีตมหาอำนาจอย่างสเปนที่ต้องดิ้นรนสุดชีวิตในเกมนัดสุดท้ายกับสโลวาเกียเพื่อลุ้นเข้ารอบ
แต่ในจำนวน 4 นัดของคืนนี้ มีหนึ่งเกมที่มีความหมายมากกว่าแค่เรื่องของเกมกีฬาและผลงานในสนาม เพราะมันสัมพันธ์ถึงเรื่องของความเท่าเทียมกันของคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม โดยเกมดังกล่าวคือการพบกันระหว่างทีมชาติเยอรมนีกับฮังการี ที่จะลงสนามคืนนี้เวลา 02.00 น.
ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และมันจะนำไปสู่อะไรบ้าง THE STANDARD ขออนุญาตสรุปให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นแฟนฟุตบอลหรือไม่ก็ตามได้ทำความเข้าใจไปด้วยกัน
- ไฮไลต์ของเรื่องราวคือเรื่องของการยื่นคำร้องขอเปิดไฟสนามอลิอันซ์ อารีนา ซึ่งเป็น 1 ใน 11 สนามแข่งเจ้าภาพของศึกฟุตบอลยูโร 2020 ในเกมที่เยอรมนีจะพบกับฮังการีในคืนวันพุธที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขันรอบแรกให้กลายเป็น ‘สีรุ้ง’
- คำร้องขอดังกล่าวมาจาก ดีเตอร์ ไรเตอร์ นายกเทศมนตรีเมืองมิวนิกที่เรียกร้องต่อสหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า หลังเกิดกรณีการเหยียดเพศของกลุ่มแฟนบอลชาวฮังการีในระหว่างเกมกับโปรตุเกส โดยมีกลุ่มแฟนบอลอัลตราที่สวมชุดดำร่วมกันยืนชูป้ายผ้าในสนามปุสกัส อารีนาว่า ‘Anti-LMBTQ’ (LMBTQ สำหรับชาวฮังการีคือ LGBTQ)
- และชนวนที่สำคัญที่สุดคือการผ่านกฎหมายแบนการสอนเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในโรงเรียนทุกรูปแบบ ซึ่งเป็นนโยบายของ วิกโตร์ โอร์บาน นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม-ชาตินิยมอย่างพรรค Fidesz
- ในฐานะเมืองที่เชื่อมั่นในเรื่องของความเท่าเทียมกันและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ มิวนิกจึงต้องการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการผ่านกฎหมายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรฮังการี
- อย่างไรก็ดี ทางด้านยูฟ่า แม้จะแสดงจุดยืนว่าต่อต้านเรื่องของการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ การเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศเดียวกัน (Homophobia) แต่เนื่องจากคำร้องของ ดีเตอร์ ไรเตอร์ นั้นมีการให้เหตุผลที่ส่อไปในทางการเมือง ในฐานะองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองจึงไม่สามารถอนุมัติคำร้องดังกล่าวได้
- การแสดงจุดยืนครั้งนี้ของยูฟ่าทำให้คนจำนวนมากผิดหวังกับการแสดงท่าทีดังกล่าว และปฏิเสธจะให้การสนับสนุนต่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่ยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก เรียกได้ว่ายูฟ่าพลาดโอกาสครั้งสำคัญที่จะเป็นหนึ่งในผู้นำที่จะผลักดันประเด็นนี้ให้เป็นเรื่องใหญ่ของโลก
- กลุ่มคนที่แสดงความผิดหวังมีทั้งสื่อ แฟนฟุตบอล หรืออดีตนักฟุตบอลที่ยอมรับว่าเป็นเกย์อย่าง โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตกองกลางทีมชาติเยอรมนี ที่ทวีตข้อความในทำนองว่าแทนที่จะกลัวเรื่องนี้ ยูฟ่าควรจะ “คิดถึงคนที่ถูกเหยียดหยาม และควรจะให้การสนับสนุนกับคนเหล่านี้มากกว่า”
- ก่อนหน้านี้ยูฟ่าก็มีท่าทีในทางลบต่อการที่ มานูเอล นอยเออร์ ผู้รักษาประตูกัปตันทีมชาติเยอรมนีสวมปลอกแขนที่เป็นสีรุ้งลงสนามโดยเตรียมจะทำการสอบสวนแล้ว แต่เปลี่ยนท่าทีเป็นการให้การสนับสนุนแทนหลังถูกกระแสต่อต้านอย่างหนัก
- ขณะที่อลิอันซ์ บริษัทประกันภัยระดับโลกที่เป็นผู้สนับสุนนหลักของสนามอลิอันซ์ อารีนา รังเหย้าของทีมบาเยิร์น มิวนิก ยืนยันว่าถึงวันนี้ยูฟ่าจะไม่ยอมให้เปิดไฟสีรุ้ง แต่สนามแห่งนี้จะยังคงเปิดไฟในช่วงสัปดาห์ Christopher Street Day ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์การเฉลิมฉลองของ LGBTQ+ ในยุโรป ซึ่งจะมาถึงในเดือนกรกฎาคมนี้
- และในขณะที่ยูฟ่าขัดขวางการเปิดไฟสนามอลิอันซ์ อารีนาเป็นสีรุ้งได้ แต่ไม่สามารถขัดขวางการร่วมมือร่วมใจกันเปิดไฟสนามกีฬาและสถานที่ต่างๆ เป็นสีรุ้งทั่วประเทศเยอรมนีได้ โดยมีการประกาศที่จะเปิดไฟสีรุ้งทั่วประเทศในคืนนี้เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนให้การสนับสนุน LGBTQ+
- ย้อนกลับไปที่ประเด็นปลอกแขนสีรุ้งของนอยเออร์ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดที่ยูฟ่าจึงคิดจะสอบสวนในเรื่องนี้ ซึ่งทาง The Athletic สื่อกีฬาระดับโลกได้พยายามสอบถามแต่ไม่ได้รับคำตอบ แต่มีความสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะมีการยื่นคำร้องให้สอบสวนจากเจ้าหน้าที่ของทีมชาติฮังการี
- ในประเทศยุโรปตะวันออก ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่มีการยอมรับ ซึ่งในฮังการีเองการผ่านกฎหมายต่อต้านการสอนเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในโรงเรียนทุกรูปแบบนั้นคือเครื่องสะท้อนถึงทัศนคติของคนทางยุโรปตะวันออกต่อเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
- กฎหมายฉบับดังกล่าวยังถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่แทบจะ ‘Copy and Paste’ กฎหมายต่อต้านเกย์ของประเทศรัสเซียเมื่อปี 2013 ซึ่งนอกจากในรัสเซีย และฮังการีแล้วในประเทศโปแลนด์ก็มีกฎหมายแบบเดียวกันด้วย
- มีการวิเคราะห์ว่ากฎหมายของฮังการีนั้นเป็นความตั้งใจของโอร์บานที่จะเรียกคะแนนนิยมก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า ที่คาดหวังว่าจะได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในช่วงฟุตบอลยูโรที่ผ่านมาก็ได้รับคะแนนนิยมมหาศาลจากการให้แฟนบอลเข้าไปชมเกมเต็มความจุสนามได้จนเกิดภาพที่น่าประทับใจในมุมของแฟนฟุตบอล
- สำหรับยูฟ่า ท่าทีที่ออกมาในเชิง ‘ประนีประนอม’ ต่อฮังการีนั้นยังถูกมองว่าเป็นการรักษาน้ำใจกับกลุ่มประเทศทางยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของ อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่าในเวลานี้ด้วย
- โดยในเดือนมีนาคมปีกลาย คณะกรรมการบริหารของยูฟ่าเลือกให้นัดชิงยูโรปาลีกของปี 2022 แข่งที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี และในเกมยูฟ่าซูเปอร์คัพ ปี 2023 จะแข่งที่ประเทศรัสเซีย และเกมฟุตบอลหญิงชิงแชมป์ยุโรปในปี 2025 จะจัดขึ้นที่กรุงมินสก์ประเทศเบลารุสด้วย
- นอกจากนี้การประชุมใหญ่ของยูฟ่าในปีนี้เดิมจะจัดที่กรุงมินสก์เช่นเดียวกัน แต่ถูกยกเลิกไปโดยให้เหตุผลเรื่องของโควิด-19
- ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างยูฟ่ากับกลุ่มประเทศชาติสมาชิกจากยุโรปตะวันออก ซึ่งยังเต็มไปด้วยปัญหาการเหยียดเพศและการเหยียดผิว สองปัญหาใหญ่ที่ยูฟ่ายืนกรานมาตลอดว่าต้องการจะจัดการแก้ไขให้ได้
- การปฏิเสธที่จะให้สนามอลิอันซ์ อารีนาเปิดไฟสีรุ้งนั้นจึงมีความซับซ้อนมากกว่าแค่สิ่งที่มีการแถลงออกมา เพียงแต่สำหรับเยอรมนีแล้ว พวกเขาแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะต่อสู้กับฮังการีไม่เพียงแค่เรื่องของเกมในสนาม แต่รวมถึงเรื่องศักดิ์และสิทธิ์ของชาว LGBTQ+ ด้วย
- วันนี้เยอรมนีจะเป็นสีรุ้ง
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/06/15/europe/hungary-protests-lgbtq-law-intl/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/06/21/football/euro-2020-allianz-arena-spt-intl/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/06/22/football/allianz-arena-rainbow-colors-uefa-spt-intl/index.html
- https://theathletic.co.uk/2665233/2021/06/22/uefa-a-rainbow-armband-and-an-uncomfortable-blind-eye-to-homophobia-in-eastern-europe/
- https://www.telegraph.co.uk/euro-2021/2021/06/23/uefa-wanted-euro-2020-unite-continent-instead-highlighting/