×

ดูยูโรให้ซีเรียส! ทุกเรื่องที่คุณควรรู้ก่อนดูฟุตบอล ‘ยูโร 2020’

07.06.2021
  • LOADING...
ฟุตบอลยูโร 2020

HIGHLIGHTS

  • หลังจากที่เลื่อนการแข่งขันมา 1 ปีเพราะโควิด-19 ในที่สุดฟุตบอลยูโร 2020 (ไม่เปลี่ยนชื่อรายการ) จะได้ฤกษ์เริ่มต้นเปิดสนามในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายนนี้ที่สนามโอลิมปิกสเตเดียม ประเทศอิตาลี และจะแข่งขัน 1 เดือนเต็ม โดยเกมสุดท้ายคือนัดชิงชนะเลิศที่สนามเวมบลีย์ในวันที่ 11 กรกฎาคม
  • ฟุตบอลยูโรครั้งนี้เป็นครั้งแรก (และครั้งเดียว) ที่จะแข่งขันกันแบบ Pan-European หรือทั่วทวีปยุโรปเพื่อฉลอง 60 ปีของการแข่งขัน โดยมีเมืองเจ้าภาพทั้งหมด 11 เมือง
  • นี่จะเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่มีชาติเข้าร่วมมากถึง 24 ทีมด้วยกัน โดยมี 2 ชาติที่เป็นน้องใหม่ไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาก่อนเลย

อะไรนะ ฟุตบอล ‘ยูโร 2020’ กำลังจะมาถึงแล้วเหรอ?

ใช่! มหกรรมฟุตบอลระดับทวีปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นรองเพียงแค่ฟุตบอลโลกรายการเดียวเท่านั้นกำลังจะได้ฤกษ์เริ่มต้นขึ้นในวันศุกร์ที่ 11 มิถุนายนนี้ (และสิ้นสุดในวันที่ 11 กรกฎาคม) แล้วหลังจากที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกมา 1 ปีเต็มเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

 

เพราะเป็นเกมสำคัญที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกรวมถึงแฟนฟุตบอลชาวไทย และต่อให้ไม่ใช่คอบอลก็ให้ความสนใจ ดังนั้น THE STANDARD จึงพร้อมที่จะเกาะติดเรื่องราวการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์มาฝากทุกคนเหมือนเดิม

 

และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น เรามาทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับการชิงชัยหาแชมป์ทวีปยุโรปกันดูสักหน่อยไหม

 

จะได้ดูยูโรให้ซีเรียสไปด้วยกัน 🙂

 

ฟุตบอลยูโร 2020

โทรฟีอองรี เดอโลเนย์ ที่จะมอบให้แก่แชมป์ของการแข่งขันฟุตบอลยูโร

 

ฟุตบอลยูโรคืออะไรนะ?

สำหรับคนที่ติดตามอยู่แล้วคงจะพอเข้าใจ แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่คอบอลเดนตายก็อาจจะงงๆ กันบ้างว่าฟุตบอลรายการนี้มันคืออะไรกันแน่ ใครแข่งกับใคร แข่งที่ไหน เล่นกันทำไม

 

ฟุตบอลยูโร หรือชื่อเต็มๆ ว่าฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (UEFA European Football Championship) คือการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีปที่ดำเนินการแข่งขันโดยสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) เพื่อหาชาติที่จะได้รับการยกย่องว่านี่แหละคือ ‘เบอร์หนึ่ง’ ของทวีป


การแข่งขันฟุตบอลยูโรนั้นจะมีขึ้นทุก 4 ปีด้วยกัน โดยจุดเริ่มต้นมาจากไอเดียของ อองรี เดอโลเนย์ เลขาธิการสหพันธ์ฟุตบอลฝรั่งเศส (FFF) ที่อยากเห็นชาติต่างๆ ในทวีปยุโรปมาร่วมชิงชัยกันสนุกๆ ซึ่งน่าเสียดายที่กว่าไอเดียนี้จะเป็นความจริงได้เดอโลเนย์ก็เสียชีวิตไปแล้ว (เสียชีวิตในปี 1955)

 

เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บิดาแห่งฟุตบอลยูโร ทางด้านยูฟ่าจึงตั้งชื่อถ้วยการแข่งขันว่า ‘อองรี เดอโลเนย์’ และยังคงใช้มาจนถึงทุกวันนี้

 

‘ยูโร’ หนแรกนั้นเริ่มต้นในปี 1960 ที่ประเทศฝรั่งเศส โดยมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 17 ทีม ก่อนจะคัดเหลือ 4 ทีมที่เดินทางมาแข่งขันรอบสุดท้าย และชาติที่ได้เป็นแชมป์หนแรกคือสหภาพโซเวียตที่เอาชนะยูโกสลาเวียได้ 2-0

 

หลังจากนั้นก็แข่งขันต่อเนื่องทุก 4 ปีมาถึงปัจจุบัน และเพิ่มจำนวนทีมมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 4 เป็น 8 ทีมในฟุตบอลยูโรปี 1980 ที่ประเทศอิตาลี และเป็น 16 ทีมในฟุตบอลยูโร 1996 ที่ประเทศอังกฤษ

 

ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 24 ทีมในฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งพิเศษที่ยูฟ่าตั้งใจที่จะฉลองครบรอบ 60 ปีของการแข่งขันด้วยไอเดียพิเศษ คือแทนที่จะเลือกประเทศเจ้าภาพแค่ชาติเดียวหรือเจ้าภาพร่วม 2 ชาติแบบที่เคยทำมาก็เปลี่ยนเป็นการแข่งทั่วทวีปยุโรปแทน (Pan-European)

 

ฟุตบอลยูโร 2020

‘อัศวินสีส้ม’ เนเธอร์แลนด์ ทีมขวัญใจมหาชนที่พลาดยูโรเมื่อ 4 ปีก่อน กลับมาอีกครั้งในยูโรหนนี้

 

24 ทีมที่แข่งขันมีใครบ้าง?

สำหรับฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เพิ่มจำนวนทีมมากถึง 24 ทีม หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนชาติสมาชิกของยูฟ่า (จากทั้งหมด 55 ชาติ) โดยทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายมีดังนี้

 

  •   กลุ่ม A: อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, ตุรกี, เวลส์
  •   กลุ่ม B: เบลเยียม, รัสเซีย, เดนมาร์ก, ฟินแลนด์
  •   กลุ่ม C: ยูเครน, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, นอร์ทมาซิโดเนีย
  •   กลุ่ม D: อังกฤษ,​ โครเอเชีย, สาธารณรัฐเช็ก, ​สกอตแลนด์
  •   กลุ่ม E: สเปน, โปแลนด์, สวีเดน, สโลวะเกีย
  •   กลุ่ม F: เยอรมนี, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, ฮังการี

 

ในชาติที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมีชาติน้องใหม่ที่ไม่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาก่อนเลยคือฟินแลนด์และนอร์ทมาซิโดเนีย

 

ฟุตบอลยูโร 2020

สนามสุดคลาสสิกอย่างแฮมป์เดนพาร์กได้เป็นหนึ่งในสนามแข่งขันด้วย

 

แข่งกันอย่างไร กี่นัด ที่ไหนบ้าง?

ระบบการแข่งขันของฟุตบอลยูโร 2020 ใช้ระบบมาตรฐานของการแข่งขันฟุตบอลคือ ในรอบแรกจะใช้การแข่งขันแบบแบ่งกลุ่มที่ทุกทีมจะได้พบกันหมด ทีมที่ได้อันดับที่ 1 และ 2 ของกลุ่มจะได้ผ่านเข้าสู่รอบ 16 ทีมสุดท้ายโดยอัตโนมัติ ร่วมกับทีมอันดับ 3 อีก 4 ทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุด

 

สำหรับจำนวนเกมการแข่งขันตั้งแต่นัดเปิดสนามไปจนถึงเกมนัดชิงชนะเลิศจะมีทั้งหมด 51 นัดด้วยกัน โดยมีเมืองเจ้าภาพทั้งหมด 11 เมือง ได้แก่

 

ฟุตบอลยูโร 2020

 

ความจริงแล้วจะต้องมี 12 เมืองเจ้าภาพโดยเดิมจะมีสนามยูโรสเตเดียมในกรุงบรัสเซลส์ แต่ถูกริบสิทธิ์เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้างสนาม และเมื่อเกิดโรคโควิด-19 ระบาดทั่วยุโรปทำให้มีเมืองที่ไม่พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพอีกคือกรุงดับลินในประเทศไอร์แลนด์ที่ต้องขอถอนตัว รวมถึงเมืองบิลเบาในประเทศสเปนที่เปลี่ยนมาใช้สนามลา การ์ตูฆาในเมืองเซบียาแทน

 

ทั้งนี้แต่ละสนามจะได้โอกาสในการจัดการแข่งขันไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่จะได้จัดการแข่งขันทั้งหมด 4 นัด แบ่งเป็นรอบแรก 3 นัด และเกมในรอบน็อกเอาต์อีก 1 นัด

 

มีเพียงแค่ 2 สนามที่ได้จัดการแข่งขัน 7 นัด คือสนามเครสตอฟสกี สเตเดียม เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่ได้จัดการแข่งขัน 7 นัด (6 นัดในรอบแรก และ 1 นัดรอบ 8 ทีมสุดท้าย) และสนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน (3 นัดรอบแรก, 2 นัดรอบ 16 ทีม, รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ)

 

ในแต่ละสนามจะอนุญาตให้ผู้ชมเข้ามาชมเกมได้แตกต่างกันตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแต่ละประเทศ สนามที่ผู้ชมเข้าได้มากที่สุดคือเวมบลีย์อยู่ที่ 22,500 คน (25 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม) และสนามที่มีแฟนบอลเข้ามาได้น้อยที่สุดคือสนามพาร์เคน สเตเดียม ในกรุงโคเปนเฮเกนที่เข้ามาได้ 11,236 คน (33 เปอร์เซ็นต์ของความจุสนาม)

 

อนึ่งสนามที่จะใช้ในพิธีเปิดคือสนามโอลิมปิกสเตเดียมในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

 

ทีมเจ้าภาพจะได้ลงเล่นในบ้านตัวเองบ้างไหม?

ถึงจะแข่งกันทั่วทวีปยุโรปก็จริงแต่ทางยูฟ่าก็ยังหาวิธีให้เจ้าภาพได้ลงสนามต่อหน้าแฟนฟุตบอลของตัวเองได้ด้วย โดยทีมที่จะได้ลงเล่นต่อหน้าแฟนบอลของตัวเองประกอบไปด้วย

 

กลุ่ม A: อิตาลี*

กลุ่ม B: รัสเซีย, เดนมาร์ก*

กลุ่ม C: เนเธอร์แลนด์*

กลุ่ม D: อังกฤษ*, สกอตแลนด์

กลุ่ม E: สเปน*

กลุ่ม F: เยอรมนี*, ฮังการี

หมายเหตุ: ชาติที่มี * จะลงเล่นในบ้านตัวเองครบทั้ง 3 นัดในรอบแรก

 

โดยเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการตัดสินว่าจะได้ลงเล่นในบ้านต่อหน้าแฟนตัวเองครบทั้ง 3 นัดหรือไม่ดูจากผลงานในรอบคัดเลือกเป็นหลัก ซึ่งมีกลุ่ม B ที่ทั้งรัสเซียและเดนมาร์กผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้ทั้งคู่จึงใช้วิธีการจับสลากว่าชาติใดจะได้เล่นต่อหน้าแฟนบอลตัวเองครบทั้ง 3 นัด ปรากฏว่าเป็นเดนมาร์กที่ดวงดีกว่าได้สิทธิ์นั้นไป

 

 

ฟุตบอลยูโร 2020

บรรยากาศในศูนย์ฝึกโคเวียร์ชาโนที่ทีมชาติอิตาลีใช้เป็นฐานที่มั่น

 

แต่ละทีมไปเก็บตัวกันที่ไหน?

ปกติแล้วในการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่ระดับนี้ชาติที่ผ่านเข้ารอบมาจะเลือก ‘ฐาน’ (Basecamp) สำหรับการเก็บตัวตามเมืองต่างๆ แต่คราวนี้เป็นการแข่งขันแบบทั่วทวีปยุโรปทางด้านยูฟ่าจึงอนุญาตให้ทุกทีมเลือกฐานที่มั่นของตัวเองได้ตามใจชอบ ไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับใดๆ ทั้งสิ้น ขอเพียงแค่เดินทางไปแข่งให้ทันเวลา ไม่มีปัญหาก็พอ!

 

ดังนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วเกือบทุกชาติจะเลือกฐานที่มั่นในประเทศตัวเองเป็นหลัก อย่างอิตาลีใช้โโคเวียร์ชาโน ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติในเมืองฟลอเรนซ์, ฝรั่งเศสใช้ศูนย์ฝึกแกลร์กฟงแต็งอันลือชื่อ ส่วนอังกฤษก็อยู่ที่ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติเซนต์จอร์จ

 

จะมีเพียงสกอตแลนด์ที่ตั้งฐานในเมืองเฮอร์เวิร์ท-ออน-ทีส์ ประเทศอังกฤษ, ฟินแลนด์กับสโลวะเกียตั้งฐานในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซี, สวิตเซอร์แลนด์ตั้งฐานในกรุงโรม ประเทศอิตาลี, ตุรกีและเวลส์ตั้งฐานในเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน และยูเครนตั้งฐานในเมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย

 

ภาพ: UEFA /Youtube

 

 

‘Uniforia’ ลูกบอลเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวยุโรป

สีสันเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งสำหรับการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่คือลูกฟุตบอลที่จะใช้ทำการแข่งขัน โดยในฟุตบอลยูโร 2020 ครั้งนี้ยังคงมี Adidas เป็นผู้ให้การสนับสนุนเหมือนเดิม

 

โดยลูกฟุตบอลประจำการแข่งขันปีนี้มีชื่อว่า ‘Uniforia’ ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Unity หรือความเป็นหนึ่งเดียว และ Euphoria หรือความสนุกสนาน

 

ลวดลายบนลูกฟุตบอลยังมีความหมายถึงการเชื่อมต่อเส้นทางและอาณาเขตพรมแดนที่ติดต่อกัน รวมถึงความหลากหลายทางสัญชาติของแฟนบอลและนักฟุตบอลที่ถูกผสมผสานผ่านทางศิลปะและกีฬาฟุตบอลนั่นเอง

 

‘Skillzy’ มาสคอตสุดแหวกแนว

มาถึงตัวนำโชคประจำการแข่งขันหรือ ‘มาสคอต’ (Mascot) ที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้นั้น สำหรับฟุตบอลยูโร 2020 ต้องบอกว่าเป็นมาสคอตที่ ‘แหวก’ ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ เมื่อไม่ได้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประเทศใด ไม่ใช่ตัวละครสุดแฟนตาซี และก็ไม่ใช่เด็กน่ารักแบบ Super Victor มาสคอตในฟุตบอลยูโร 2016 ด้วย

 

เพราะมาสคอตของการแข่งขันคราวนี้คือพ่อหนุ่มน้อยสุดคูลนักฟุตบอลฟรีสไตล์ที่มีลีลาลูกหนังเฟี้ยวสุดๆ อย่าง ‘Skillzy’ ในลุคล้ำๆ หน่อย

 

Skillzy ไม่ได้มาคนเดียวแต่มีลูกพี่มาด้วยอีก 2 คนคือ ลิฟ คุก และ โทเบียส เบกส์ สองนักฟุตบอลฟรีสไตล์ชื่อดังที่จะมารวมพลังกันวาดลวดลายลูกหนังเหนือจินตนาการให้ทุกคนได้ชมกันตลอดการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2020 นี้

 

แม้ว่าเอ่อ…เสียงตอบรับจากแฟนๆ จะไม่ค่อยดีเท่าไรก็ตาม

 

ฟุตบอลยูโร 2020

 

ว่าแต่…ฟุตบอลยูโร 2020 มีถ่ายทอดสดในประเทศไทยไหม?

เอาล่ะ…มาถึงเรื่องสุดท้ายที่สำคัญที่สุดสำหรับแฟนฟุตบอลทุกคนคือ ฟุตบอลยูโร 2020 มีการถ่ายทอดสดในประเทศไทยไหม เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นข่าวหรือเห็นการประชาสัมพันธ์ใดๆ

 

คำตอบ ณ เวลานี้ (7 มิถุนายน) คือ “ยังไม่มีผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 ในประเทศไทยแต่อย่างใด” (อ้าว!!!)

 

ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าอาจจะมีใครสักคนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้ชม (ส่วน UEFA.tv ที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลแชมเปียนส์ลีกและยูโรปาลีกไม่มีให้ชมแน่นอน) แต่ก็ยังไม่มีข่าวดีออกมาแต่อย่างใด ซึ่งแฟนฟุตบอลชาวไทยทุกคน (รวมถึงผู้เขียนเอง) คงต้องภาวนาให้มีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

 

แต่ไม่ว่าจะมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ก็ตาม THE STANDARD จะเกาะติดรายงานการแข่งขันให้ทุกคนได้ติดตามไปด้วยกันตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์อย่างแน่นอน

 

มาติดตามไปด้วยกันนะ 😉

 

 

 

ส่วนนี่คือเพลงประจำการแข่งขัน ‘We Are The People’ ที่ขับร้องโดย Martin Garrix feat. Bono & The Edge เพราะอยู่นะ

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

FYI
  • รู้หรือไม่เดิมฟุตบอลยูโร 2020 มีชาติที่สนใจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพคือตุรกี และเจ้าภาพร่วมอาเซอร์ไบจาน-จอร์เจีย, สกอตแลนด์-ไอร์แลนด์-เวลส์ แต่ มิเชล พลาตินี อดีตประธานยูฟ่าในขณะนั้นอยากให้มีการเล่นใหญ่จัดแข่งทั่วทวีปยุโรปเพื่อเป็นการฉลองครบรอบ 60 ปีฟุตบอลยูโร
  • ก่อนจะมี 11 เมืองเจ้าภาพนั้นมีเมืองที่อกหักเพราะตกรอบการพิจารณา ได้แก่ มิงสก์ (เบลารุส), โซเฟีย (บัลแกเรีย), เยรูซาเลม (อิสราเอล), สโกเปีย (มาซิโดเนีย), สตอกโฮล์ม (สวีเดน) และคาร์ดิฟฟ์ (เวลส์)
  • ที่ถ้วยอองรี เดอโลเนย์ มีการสลักข้อความว่า ‘Coupe d’Europe’ (ถ้วยแชมป์ยุโรป), ‘Coupe Henri Delaunay’ (ถ้วยอองรี เดอโลเนย์) และ ‘Championnat d’Europe’ (แชมเปียนแห่งยุโรป) ไว้ที่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังมีการสลักรูปเด็กเดาะลูกฟุตบอล โดยทีมที่ได้แชมป์จะได้สิทธิ์ในการเก็บถ้วยไว้ 4 ปี
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X