×

นโยบายวัคซีนของสหภาพยุโรป เร่งเครื่องวิ่งให้ทันโควิด-19 (ที่กำลังกลายพันธุ์)

24.02.2021
  • LOADING...
นโยบายวัคซีนของสหภาพยุโรป เร่งเครื่องวิ่งให้ทันโควิด-19 (ที่กำลังกลายพันธุ์)

HIGHLIGHTS

  • อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ผู้นำ EU ยอมรับต่อสภายุโรปว่า EU อนุมัติวัคซีนช้าไป เพราะมองโลกในแง่ดีเกินไปเรื่องการผลิตวัคซีนจำนวนมาก และ EU อาจเชื่อง่ายไปว่าวัคซีนที่สั่งไว้นั้นจะมาถึงตรงเวลา
  • AstraZeneca ยอมรับว่าบริษัทจะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในระยะสั้นเพราะการผลิตตัวยาสำคัญนั้นต้องใช้เวลานาน ซึ่งบริษัทกำลังหาโรงงานผลิตตัวยาสำคัญเพิ่ม จากเดิมที่ใช้เพียงโรงงานเดียวในเบลเยียมเพื่อผลิตให้กับประเทศทั้งหมดใน EU
  • ขณะที่การเกิดขึ้นของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่คือ การเร่งอัปเกรดวัคซีนให้ทันการกลายพันธุ์ของไวรัส
  • EU มีแผนทุ่มกำลังไปที่การศึกษาจีโนม (Genome Sequencing) เพื่อให้สามารถตรวจจับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้โดยเร็ว และจะร่นระยะเวลาในการอนุมัติวัคซีนรุ่นใหม่หลังการอัปเกรด รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือสำหรับการทดลองทางคลินิก ซึ่งจะครอบคลุมไม่เพียงแต่ประเทศสมาชิก EU เท่านั้น แต่รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์และอิสราเอลด้วย

การคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนจะเป็นเพียงก้าวแรกของเส้นทางที่ยังอีกยาวไกลก่อนที่โลกจะสามารถกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติได้ 

 

จากเมื่อเดือนที่แล้วที่เคยนำเสนอเรื่องนโยบายวัคซีนของสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเล่าถึงจุดแข็งของ EU ที่ทำให้สามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว และ EU ได้จองวัคซีนไว้แล้วกว่า 2.3 พันล้านโดส (เพียงพอสำหรับประชากรจำนวน 400 ล้านคนแน่นอน) นั้น ตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่า EU ยังไม่ถึงเส้นชัยเสียทีเดียว เมื่อยังต้องประสบกับปัญหาใหม่ๆ ซึ่งเราจะมาสรุปให้ฟังกันว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และ EU มีแนวทางแก้ไขอย่างไร

 

อุตสาหกรรมตามไม่ทันวิทยาศาสตร์

อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวยอมรับต่อสภายุโรปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า “เราอนุมัติวัคซีนช้าไป เรามองโลกในแง่ดีเกินไปเรื่องการผลิตวัคซีนจำนวนมาก และเราอาจเชื่อง่ายไปว่าวัคซีนที่สั่งไว้นั้นจะมาถึงตรงเวลา”  

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ EU ได้มุ่งความสนใจไปที่การสนับสนุนการคิดค้นวัคซีนจากหลายๆ บริษัท โดยไม่ได้เตรียมการโรงงานสำหรับผลิตวัคซีนในจำนวนมากพอ ซึ่งกระบวนการผลิตวัคซีนน้ันมีความซับซ้อนสูง ใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบกว่า 400 ชิ้น และมีกว่า 100 ขั้นตอน ซึ่ง ฟอน แดร์ เลเยน สรุปด้วยประโยคว่า “อุตสาหกรรมตามไม่ทันวิทยาศาสตร์” 

 

ในทำนองเดียวกัน ปาสกาล โซริโอท์ ซีอีโอ AstraZeneca หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ชั้นนำ กล่าวหลังจากที่บริษัทจะไม่สามารถส่งวัคซีนให้ EU ได้ตามเป้าว่า ปัญหาคอขวดไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนของการบรรจุขวด (Fill Finish) แต่ติดที่ตัวยาสำคัญและกระบวนการผลิตวัคซีน โดยยอมรับว่าบริษัทจะไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในระยะสั้น เพราะการผลิตตัวยาสำคัญใช้เวลานาน ทั้งนี้บริษัทกำลังหาโรงงานผลิตตัวยาสำคัญเพิ่ม จากเดิมที่ใช้เพียงโรงงานเดียวในเบลเยียมเพื่อผลิตให้กับประเทศทั้งหมดใน EU โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ AstraZeneca ได้เซ็นสัญญากับบริษัท IDT Biologika ของเยอรมนี และมีรายงานข่าวว่าบริษัทกำลังเจรจาอยู่กับผู้ผลิตยาของจีน Wuxi ด้วย

 

อดัม จอห์น ริชชี ผู้ดูแลโครงการของสถาบันเจนเนอร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งรับผิดชอบการวางผังโรงงานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ในสหราชอาณาจักร ได้โพสต์ทวิตเตอร์อธิบายว่าผลผลิตของวัคซีน AstraZeneca นั้นมีความผันผวนสูง “การผลิตต้องเริ่มจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เป็นจำนวนมากเพื่อสร้างวัคซีน หลังจากนั้นจึงนำวัคซีนมาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งผลผลิตอาจผันผวนได้มาก” 

 

ริชชีกล่าวต่อว่า “การคาดการณ์ผลผลิตวัคซีนมักตั้งอยู่บนพื้นฐานของกรณีที่ดีที่สุด (Best Case Scenarios) หากโรงงานทุกแห่งสามารถผลิตวัคซีนได้ในจำนวนสูงสุดในทุกล็อต คุณก็จะได้ปริมาณวัคซีนตามที่คาดการณ์ไว้”

 

“ผลผลิตที่ดีอาจได้ถึง 1 ล้านโดสต่อล็อต (ในความเป็นจริงขึ้นอยู่กับว่าการเพาะเลี้ยงเซลส์มีขนาดใหญ่เท่าใดด้วย) แต่ในการผลิตล็อตแรกๆ อาจเป็นไปได้ว่าคุณจะผลิตวัคซีนได้เพียง 250,000 โดสต่อล็อต ซึ่งการผลิตดังกล่าวใช้ต้นทุนเท่ากัน จำนวนพนักงานเท่ากัน เครื่องจักรเหมือนกัน ฯลฯ ไม่ว่าผลผลิตจะดีเพียงใด และก็ใช้เวลาเท่ากันด้วย”

 

จึงเห็นได้ว่าการผลิตวัคซีนในจำนวนมากนั้นมีความไม่แน่นอนสูง ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง วางแผนระยะยาว และเตรียมความพร้อมของบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือและวัตถุดิบไว้เป็นจำนวนมาก

 

ผู้นำ EU ยอมรับว่าไม่ได้เตรียมการเรื่องกำลังการผลิตไว้ดีพอ และ ณ ขณะนี้จึงต้องเร่งขยายกำลังการผลิต หาโรงงานผลิตเพิ่ม เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 โดยเร็ว โดยมีแนวทาง อาทิ

 

  • การทำสัญญาจองซื้อวัคซีนเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ EU ได้สั่งซื้อวัคซีน Moderna เพิ่มอีก 150 ล้านโดสสำหรับปี 2021

 

  • การช่วยภาคเอกชนเร่งแก้ไขปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต นอกจากปัญหาการเพาะเลี้ยงเซลล์ไวรัลเวกเตอร์ของ AstraZeneca แล้ว เทคโนโลยี mRNA ของวัคซีน Pfizer-BioNTech ก็ประสบกับปัญหาคอขวดเช่นกัน โดย ฟอน แดร์ เลเยน ระบุว่า หากเราสามารถเพิ่มปริมาณโมเลกุลสังเคราะห์ 2 ตัวได้ 250 กรัม จะทำให้สามารถผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านโดส ซึ่ง EU พยายามช่วยบริษัทแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่

 

  • การสนับสนุนให้บริษัทวัคซีนทำงานร่วมกัน โดยบริษัท Sanofi ซึ่งยังคิดค้นวัคซีนของตัวเองไม่สำเร็จ ได้ประกาศว่าจะใช้โรงงานของตนเพื่อผลิตวัคซีนให้กับ Pfizer-BioNTech และ Johnson & Johnson

 

อัปเกรดวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่

การเกิดขึ้นของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าโจทย์ใหญ่อีกประการคือการเร่งอัปเกรดวัคซีนให้ทันการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งผลวิจัยเบื้องต้นชี้ว่า ทั้งวัคซีน Pfizer-BioNTech และ AstraZeneca ยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ แต่มีประสิทธิภาพต่ำลงในการต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้  

 

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ฟอน แดร์ เลเยน ชี้แจงแนวทางการต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ว่า EU จะทุ่มกำลังไปที่การศึกษาจีโนม (Genome Sequencing) เพื่อให้สามารถตรวจจับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้โดยเร็ว และจะร่นระยะเวลาในการอนุมัติวัคซีนรุ่นใหม่หลังการอัปเกรด รวมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือสำหรับการทดลองทางคลินิก ซึ่งจะครอบคลุมไม่เพียงแต่ประเทศสมาชิก EU เท่านั้น แต่รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์และอิสราเอลด้วย 

 

ในระยะยาว EU วางแผนที่จะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ European Health Emergency Preparedness and Response Authority (HERA) เพื่อบูรณาการการทำงานของภาครัฐและเอกชน ในการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการคิดค้นวัคซีน จัดทำฐานข้อมูลรวบรวมผลการศึกษาจีโนมจากทั่ว EU และวางแผนเครือข่ายโรงงานผลิตวัคซีนเพื่อให้มีกำลังการผลิตเพียงพอ โดย HERA จะมีอำนาจหน้าที่คล้ายกับหน่วยงาน BARDA ของสหรัฐฯ และ EU หวังว่า HERA จะช่วยให้ EU มีความพร้อมมากขึ้นในการเผชิญกับวิกฤตด้านสาธารณสุขในอนาคต

 

การจะวิ่งให้ทันไวรัสโควิด-19 นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้ว่าจะคิดค้นวัคซีนได้แล้ว แต่ก็ต้องพบกับความท้าทายในเรื่องการขยายกำลังการผลิต ระยะเวลาในการอนุมัติวัคซีน การบูรณาการระหว่างภาครัฐกับเอกชน และการอัปเกรดวัคซีนให้ทันการกลายพันธุ์ของไวรัส ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยจะต้องตระหนักและเตรียมความพร้อมเช่นกัน เพื่อให้เราสามารถผลิตวัคซีนได้ตามแผนและมีวัคซีนรุ่นล่าสุดที่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ด้วย

 

* บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

ภาพ: Jakub Porzycki / NurPhoto via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising