เมื่อวานนี้ (8 พฤษภาคม) อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวในช่วงท้ายของการประชุมสุดยอดด้านสังคมของสหภาพยุโรป (EU) ที่จัดขึ้น ณ เมืองปอร์โตของโปรตุเกสว่า บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกของ EU ล้วนเข้าใจดีว่ามี ‘ปัญหาต่างๆ ที่เร่งด่วน’ มากกว่าการยกเว้นสิทธิบัตรของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ฟอน แดร์ ไลเอินให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า หัวข้อข้างต้น ‘เป็นเรื่องสำคัญ’ แต่จะมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ “ในระยะยาว ไม่ใช่ในระยะสั้นหรือระยะกลาง”
เธอกล่าวด้วยว่ายุโรปไม่ควร “มองข้ามปัญหาหลักๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน” นั่นคือ “การผลิตวัคซีนโดยเร็วที่สุด และการจัดสรรวัคซีนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม” ฟอน แดร์ ไลเอินย้ำว่า “EU คือแหล่งผลิตยาของโลก”
“จนถึงวันนี้ EU ผลิตวัคซีนแล้วทั้งสิ้น 400 ล้านโดส ซึ่งร้อยละ 50 ของตัวเลขดังกล่าว หรือคิดเป็น 200 ล้านโดสได้ถูกส่งออกไปยัง 90 ประเทศทั่วโลก เราจึงขอเชิญชวนให้ประเทศอื่นๆ ทำเช่นเดียวกัน” เธอกล่าวและเสริมว่า “นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาคอขวดและการขาดแคลนวัคซีนทั่วโลก”
ฟอน แดร์ ไลเอินชี้ว่า “ขณะนี้เราได้ส่งมอบวัคซีนให้ชาวยุโรปแล้วกว่า 200 ล้านโดส และกำลังเดินหน้าเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดส่งวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอสำหรับประชากรวัยผู้ใหญ่ในยุโรปร้อยละ 70 ภายในเดือนกรกฎาคม โดยขณะนี้มีชาวยุโรปเกือบ 160 ล้านคนแล้วที่ได้รับวัคซีนโดสแรก ซึ่งคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 25”
นอกจากนี้ฟอน แดร์ ไลเอินยังประกาศว่า สหภาพยุโรปได้บรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ในการสั่งซื้อวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ซึ่งจะได้รับวัคซีน 1.8 พันล้านโดสภายในปี 2023
ฟอน แดร์ ไลเอินยังรายงานด้วยความยินดีว่า มีความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านกฎหมายและเทคนิคเกี่ยวกับใบรับรองการเดินทางของ EU และใบรับรองการฉีดวัคซีน ซึ่งตั้งเป้าเปิดใช้งานระบบดังกล่าวในเดือนมิถุนายน
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้แสดงความเห็นพ้องในที่ประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) ในการยกเว้นข้อจำกัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
ด้าน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส กล่าวระหว่างการประชุมสุดยอดทางสังคมว่า เขา “พร้อมจะอภิปรายเกี่ยวกับข้อเสนอนี้ แต่นี่ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา” ในการเร่งกระบวนการฉีดวัคซีน
ส่วนเมื่อวานนี้ มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี กล่าวว่า ข้อเสนอของสหรัฐฯ ในการระงับสิทธิบัตรวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ไม่ได้รับประกันว่าจะมีการจัดหาวัคซีนได้มากขึ้น”
อันโตนิโอ คอสตา นายกรัฐมนตรีโปรตุเกส กล่าวว่า EU เป็น ‘แบบอย่าง’ ของการมีส่วนร่วมในโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้กลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดสามารถเข้าถึงวัคซีน
“เราทุกคนที่สภายุโรปล้วนตระหนักดีว่าจะไม่มีผู้ใดปลอดภัยจนกว่าจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลก ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิก EU ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มประเทศที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด” คอสตากล่าวในตอนท้ายของการประชุมสุดยอดด้านสังคมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม
อนึ่ง ผู้นำระดับรัฐและรัฐบาลของ EU 24 คนจากทั้งหมด 27 คน ได้เข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นนี้เพื่อกำหนดวาระทางสังคมของกลุ่มสำหรับทศวรรษหน้า อันเป็นการประชุมที่จัดโดยประธานาธิบดีของโปรตุเกส ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีแห่ง EU ในปัจจุบัน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว