×

EU ขยับก้าวแรกสู่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่อาจพลิกโฉมโลกอินเทอร์เน็ตไปตลอดกาล

21.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โลกอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังสหภาพยุโรปเดินหน้าออกกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อเซนเซอร์คอนเทนต์ต่างๆ ก่อนโพสต์ออนไลน์
  • กฎหมายใหม่จะบังคับให้บริษัทเทคอย่าง Facebook และ Google ต้องซื้อไลเซนส์จากบริษัทสื่อ ก่อนจะสามารถโพสต์ลิงก์ข่าวหรือคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ อีกทั้งต้องพัฒนาฟิลเตอร์อัปโหลดเพื่อตรวจสอบว่า คอนเทนต์ที่โพสต์โดยผู้ใช้มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
  • นั่นหมายความว่า Meme หรือภาพที่มาพร้อมมุกตลกหรือข้อความล้อเลียนตามกระแสโลกโซเชียลอาจถูกแบนในยุโรปด้วย เพราะติดปัญหาลิขสิทธิ์รูปภาพต้นฉบับ
  • ผู้คิดค้น World Wide Web และผู้ก่อตั้ง Wikipedia ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่นี้ เพราะอาจเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็นเครื่องมือสอดส่องและควบคุมผู้ใช้อัตโนมัติ ขณะที่มีผู้วิจารณ์ว่ากฎเกณฑ์ใหม่จะขัดขวางการไหลของข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นค่านิยมสำคัญของประชาธิปไตย

ผ่านพ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับก้าวแรกของสหภาพยุโรป (EU) ในการผลักดันกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่การเซนเซอร์คอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ต หลังคณะกรรมาธิการด้านนิติบัญญัติแห่งรัฐสภายุโรป หรือ JURI ได้ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย Copyright Directive โดยมีการแก้ไขภาษาเทคนิคสำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ในยุคอินเทอร์เน็ตให้มีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงบทบัญญัติมาตรา 11 (Article 11) ว่าด้วย ‘Link Tax’ ซึ่งกำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Facebook และ Google ต้องซื้อไลเซนส์จากบริษัทสื่อก่อนที่จะแปะลิงก์เชื่อมกับคอนเทนต์ของพวกเขาได้ และมาตรา 13 (Article 13) ว่าด้วย ‘Upload Filter’ หรือตัวกรองการอัปโหลด ซึ่งกำหนดให้ทุกสิ่งอย่างที่อัปโหลดขึ้นระบบออนไลน์ภายในอาณาเขต EU ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

 

ลองนึกภาพดูว่าคล้ายกับระบบ Content ID ของ YouTube ซึ่งเป็นระบบที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ในการจัดการเนื้อหา โดยวิดีโอที่อัปโหลดบน YouTube จะถูกนำไปประมวลเทียบกับฐานข้อมูลของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ส่งให้ YouTube ดังนั้นเจ้าของลิขสิทธิ์จึงสามารถอ้างความเป็นเจ้าของได้หากเกิดกรณีที่มีคอนเทนต์ในวิดีโอตรงกับผลงานของพวกเขา

 

ลองคิดดูว่ากฎเกณฑ์ใหม่ของ EU ไม่ได้มีผลเฉพาะกับ YouTube เท่านั้น แต่ครอบคลุมโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงอาจสั่นคลอนโลกอินเทอร์เน็ตที่เรารู้จักไม่น้อย

 

ถึงแม้คณะกรรมาธิการ JURI จะโหวตเห็นชอบทั้งมาตรา 11 และมาตรา 13 แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะผ่านการโหวตรับรองในรัฐสภายุโรปแบบเต็มคณะ ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจนว่าจะลงมติเมื่อไร แต่เบื้องต้นมีโอกาสจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมิถุนายน ปี 2019

 

เราไปดูกันว่ารายละเอียดสำคัญในมาตรา 11 และ 13 มีอะไรบ้าง

 

สำหรับมาตรา 11 นั้น อาเซล วอสส์ สมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนี ซึ่งเป็นคนผลักดันร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับนี้ ได้เสนอให้เว็บไซต์ต่างๆ ต้องขอใบอนุญาตสำหรับชุดข้อมูลที่ปรากฏในเนื้อข่าวหรือบทความทุกชิ้น และกฎนี้จะใช้กับลิงก์ต่างๆ บนเว็บไซต์ ขณะที่ JURI ได้เสนอให้ใช้กับลิงก์ที่โพสต์ลงทุกแพลตฟอร์มด้วย

 

สำหรับแพลตฟอร์มที่ไม่จ่ายค่าไลเซนส์หรือไม่ยินยอมจ่าย อาจถูกปิดหรือต้องระงับไม่ให้ผู้ใช้แชร์ลิงก์พร้อมข้อความในข่าว

 

อย่างที่ทราบกันว่า ข่าวเป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาที่ชุมชนออนไลน์ใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์บนโลกโซเชียล โดยมีการแชร์ลิงก์บทความหรือข่าวบนแพลตฟอร์มเว็บต่างๆ พร้อมข้อความข่าวสั้นๆ หรือเฮดไลน์ แต่ภายใต้กฎใหม่ทุกชุดข้อความจะต้องผ่านการขอไลเซนส์ด้วย แม้แต่ข้อความพาดหัวข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงอย่าง ‘อังเกลา แมร์เคิลพบเทเรซา เมย์’ ก็เข้าข่ายโดนด้วย เพราะติดเรื่องสิทธิข้างเคียง (Neighbouring Rights) หรือสิทธิในการเผยแพร่ผลงานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณะ

 

ดังนั้นผลที่จะเกิดขึ้นก็คือการจำกัดขอบเขตการโพสต์ลิงก์ จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือเข้าถึงข้อมูลออนไลน์ และที่สำคัญคือการขัดขวางการไหลของข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นค่านิยมสำคัญของระบอบประชาธิปไตย

 

ส่วนมาตรา 13 ที่พูดถึงเรื่องฟิลเตอร์เจ้าปัญหานั้น ทาง JURI ต้องการให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ติดตั้งตัวกรองการอัปโหลด และใช้กับแพลตฟอร์มใดก็ตามที่อนุญาตให้ผู้ใช้โพสต์คอนเทนต์แบบสาธารณะ ขณะที่วอสส์เสนอให้แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้ใช้ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับเว็บไซต์ Wikipedia

 

ภายใต้กฎหมายใหม่ แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตมีข้อผูกมัดในการลบผลงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งโพสต์โดยผู้ใช้ โดยฟิลเตอร์จะต้องทำงานอัตโนมัติหากตรวจพบว่าคอนเทนต์เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ก่อนที่โพสต์เหล่านั้นจะปรากฏออนไลน์

 

ปัญหาที่ตามมาก็คือฟิลเตอร์จะต้องทำงานได้ดีกระทั่งสามารถแยกแยะได้ว่าคอนเทนต์ไหนได้ลิขสิทธิ์ให้ทำขึ้นเพื่อล้อเลียน ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยูสเซอร์อาจประสบปัญหาถูกปฏิเสธการอัปโหลดและมีความผิดติดตัวไปจนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์

 

อีกหนึ่งข้อถกเถียงจากกฎหมายฉบับนี้ก็คือบริษัทที่อ้างลิขสิทธิ์ผิดพลาดจะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย นอกจากนี้กฎหมายยังมีช่องโหว่สำหรับผู้ที่โพสต์คอนเทนต์แบบออฟไลน์ด้วย

 

ผลกระทบถ้า EU บังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่

คำถามที่ผุดขึ้นตามมาก็คือ หากกฎหมายมาตรา 13 หรือ 11 มีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบต่อชุมชนผู้ใช้อย่างไรบ้าง

 

นักรณรงค์เสรีภาพในอินเทอร์เน็ตเตือนว่า กฎหมายใหม่ของ EU จะทำให้โลกอินเทอร์เน็ตที่มีเสรีภาพและเปิดกว้างเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

 

เบื้องต้นคือบรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลที่ชาวเน็ตนิยมใช้กันแพร่หลายทั้ง Facebook, Twitter, Reddit, Pinterest หรือแม้แต่ Google จะต้องปรับตัวขนานใหญ่ โดยการพัฒนาฟิลเตอร์อัตโนมัติเพื่อกรองคอนเทนต์ลิขสิทธิ์ที่อัปโหลดหรือโพสต์โดยผู้ใช้

 

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเทคจะถูกบีบด้วยข้อกฎหมายให้สแกนทุกสิ่งที่โพสต์ลงแพลตฟอร์มของพวกเขา และต้องถอดหรือลบคอนเทนต์นั้นๆ ทิ้ง หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์

 

และข่าวร้ายก็คือผู้ที่ชื่นชอบ Meme หรือการแชร์และส่งต่อภาพหรือ GIF ที่ถูกตัดต่อพร้อมข้อความมุกตลกล้อเลียนเกาะกระแสโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก อาจไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อีกต่อไป เพราะภาพที่นำไปใช้เหล่านี้อาจติดปัญหาลิขสิทธิ์

 

ดังนั้นเวลาเล่นเน็ต คุณอาจพบสิ่งผิดปกติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชีวิตประจำวันจนเกิดความรำคาญ เพราะลิงก์และสิ่งที่คุณอัปโหลดบนเว็บหรือแพลตฟอร์มต่างๆ อาจถูกปฏิเสธไม่ให้โพสต์

 

ข้อความที่คุณอาจพบบนหน้าจอคอมก็คือ ‘ไม่มีใบอนุญาตสำหรับข้อมูลนี้ในพื้นที่ของคุณ’ ‘ตรวจพบโอกาสละเมิดลิขสิทธิ์’ ‘โปรดรอสักครู่ในขณะที่เราเทียบรูปถ่ายกับรูปในคลังทั้งหมด’ หรือเลวร้ายที่สุดก็คือ ‘ขออภัย เราจำเป็นต้องระงับให้บริการลูกค้าในสหภาพยุโรป’

 

เสียงจากผู้ไม่เห็นด้วย

ก่อนหน้านี้บทบัญญัติมาตรา 11 และมาตรา 13 ได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงในโลกโซเชียล เนื่องจากมีผู้ไม่เห็นด้วยมากมาย แม้แต่สมาชิกรัฐสภายุโรปบางกลุ่มและผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่ในวงการอินเทอร์เน็ตด้วย

 

หนึ่งในนั้นคือ จูเลีย เรดา สมาชิกรัฐสภายุโรปจากกลุ่มการเมือง Green เธอเห็นว่าบทบัญญัติเหล่านี้มีเจตนาดีที่จะคุ้มครองเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จริง แต่คำที่ใช้ในร่างกฎหมายมีความกำกวม และเธอก็ไม่เชื่อว่านี่จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ดี เพราะอาจกลับกลายเป็นสร้างหายนะและส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนที่พวกเขาอยากคุ้มครองด้วยซ้ำ

 

“มันเป็นวันที่น่าเศร้าสลดสำหรับอินเทอร์เน็ต แต่การต่อสู้ยังไม่จบเพียงเท่านี้” เธอกล่าว

 

ขณะที่ โจ แม็กนามี ผู้บริหารสมาคมสิทธิทางดิจิทัล EDRI ได้แสดงความเห็นกับ The Verge ว่า ผลการตัดสินใจของ JURI เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมาก เพราะมีสัญญาณว่าจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านกฎเกณฑ์ใหม่นี้เป็นวงกว้าง

 

อีกหนึ่งเสียงที่ไม่เห็นด้วยคือ ทิม เบอร์เนิร์ส-ลี ผู้คิดค้นและบุกเบิก World Wide Web และจิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้ง Wikipedia เว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ชื่อดัง ซึ่งต่างวิจารณ์ว่ากฎหมายใหม่ของ EU จะเปลี่ยนโลกอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็นเครื่องมือสอดส่องและควบคุมผู้ใช้อย่างอัตโนมัติ

 

แม้ยังเป็นแค่ขั้นตอนแรกและต้องรอการลงมติรับรองในรัฐสภายุโรปอย่างเป็นทางการ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับชุมชนออนไลน์ไม่น้อย เพราะถ้าผ่านออกมาจริง ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมการท่องโลกอินเทอร์เน็ตในยุโรปอย่างแน่นอน

 

จึงต้องจับตาดูกันต่อว่าท้ายที่สุดแล้ว สหภาพยุโรปจะเห็นด้วยกับกฎหมายที่ถูกมองว่าบ่อนทำลายค่านิยมประชาธิปไตยในด้านเสรีภาพในการรับข้อมูลข่าวสารหรือไม่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X