สหภาพยุโรป (EU) ยืนยันว่าจะนำมาตรการใหม่มาใช้เพื่อควบคุมการส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผลิตในสหภาพยุโรป ท่ามกลางความขัดแย้งกับบรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและความไม่พอใจของชาติสมาชิกเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีน
มาตรการดังกล่าวจะทำให้ประเทศสมาชิก EU มีอำนาจที่จะปฏิเสธการอนุมัติการส่งออกวัคซีน หากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับ EU
“การปกป้องและความปลอดภัยของพลเมืองของเราเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก และความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้ทำให้เราไม่มีทางเลือก นอกจากที่จะต้องลงมือดำเนินการในเรื่องนี้” คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรปกล่าว
มาตรการควบคุมการส่งออกดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ราว 100 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ในขณะที่อีกหลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศยากจนจะได้รับการยกเว้น
EU ยืนกรานว่ามาตรการควบคุมเป็นแผนการชั่วคราว ไม่ใช่การห้ามส่งออก แต่ถึงกระนั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าวของทาง EU ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ซึ่งรวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าการกระทำของ EU อาจส่งผลกระทบทางอ้อมไปทั่วโลก
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ EU กำลังมีความขัดแย้งกับ AstraZeneca เกี่ยวกับการจัดส่งวัคซีน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 มกราคม) คณะกรรมาธิการยุโรปได้เปิดเผยสัญญาที่เป็นความลับที่ทำร่วมกับ AstraZeneca เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนถ้อยแถลงของ EU ที่ว่าบริษัทไม่สามารถจัดส่งวัคซีนให้แก่ EU ได้ตามที่สัญญาไว้
ทั้งนี้ ภายใต้กฎใหม่ของ EU บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะต้องขออนุญาตก่อนที่จะส่งออกวัคซีนออกไปนอกกลุ่ม EU โดยสมาชิก 27 ประเทศจะสามารถตรวจสอบใบขออนุญาตส่งออกได้
โดยนอกจาก AstraZeneca บริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว EU ยังมีความขัดแย้งกับ Pfizer ด้วยเช่นกัน เนื่องจากบริษัทยาสหรัฐฯ อาจไม่สามารถจัดส่งวัคซีนในปริมาณที่ตกลงกันไว้ให้แก่ EU ภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดย Pfizer ชี้แจงเหตุผลว่าเป็นเพราะการขยายโรงงานผลิตอย่างเร่งด่วนในเมือง Puurs ของเบลเยียม
สำหรับในกรณีของ AstraZeneca นั้น คาดว่าบริษัทจะจัดส่งวัคซีนให้แก่ EU น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ถึงประมาณ 60% ในไตรมาสแรกของปี 2021
อย่างไรก็ดี มี 92 ประเทศที่จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการควบคุมการส่งออกของ EU ซึ่งรวมถึงการบริจาควัคซีนให้แก่โครงการ Covax เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน และการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศในภาคตะวันตกของคาบสมุทรบอลข่าน นอร์เวย์ และแอฟริกาเหนือ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น เลบานอน และอิสราเอล ก็จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน
สเตลลา คีเรียคิเดส กรรมาธิการด้านสาธารณสุขของ EU อธิบายถึงมาตรการควบคุมการส่งออกในระหว่างการแถลงข่าวว่า มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่าพลเมือง EU ทุกคนจะเข้าถึงวัคซีน และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎ
“แนวทางนี้จัดทำขึ้นบนความเชื่อใจ ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ” เธอกล่าว “เราจำเป็นต้องรักษาพันธสัญญาและยึดมั่นในข้อตกลง เราต้องเคารพในสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้า
“วันนี้เราได้พัฒนาระบบซึ่งจะช่วยให้เราทราบได้ว่าวัคซีนกำลังถูกส่งออกจาก EU หรือไม่ ความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นยังจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบสำหรับ EU ในการอนุมัติการส่งออกวัคซีนเหล่านี้ร่วมกับประเทศสมาชิกของเรา”
ทั้งนี้ EU ได้ทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายรายเพื่อซื้อวัคซีนในจำนวนที่ต่างกัน ได้แก่ AstraZeneca 400 ล้านโดส, Sanofi-GSK 300 ล้านโดส, Johnson and Johnson 400 ล้านโดส, Pfizer-BioNTech 600 ล้านโดส, CureVac 405 ล้านโดส และ Moderna 160 ล้านโดส
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ EU นี้มีขึ้นท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากบรรดาประเทศสมาชิกที่ชักจะหมดความอดทนกับการรอคอยวัคซีน
BBC รายงานว่าขั้นตอนการเจรจาที่ติดขัดของคณะกรรมาธิการยุโรป การอนุมัติวัคซีนที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ จนมาล่าสุดกับปัญหาในการจัดส่งวัคซีน ส่งผลให้พลเมือง EU ออกมาขอคำอธิบายและเรียกร้องให้มีการออกมาตรการดำเนินการ
มาร์คุส โซเดอร์ ผู้ว่าการรัฐบาวาเรีย ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีในอนาคต กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ ZDF เมื่อวานนี้ว่าเขารู้สึกว่าคณะกรรมาธิการยุโรปสั่งซื้อวัคซีนช้าไปและหวังพึ่งเพียงไม่กี่บริษัท การตกลงราคาก็ทำผ่านระบบทางการของ EU ซึ่งประเมินสถานการณ์ความเร่งด่วนต่ำกว่าความเป็นจริง
ด้าน คาร์ล บิลด์ท อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน แสดงความเห็นผ่านทาง Twitter ว่าเขาหวังว่าจะไม่ได้เห็น EU กลายเป็นผู้นำกระแสวัคซีนชาตินิยม (Vaccine Nationalism) ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย
ภาพ: peterschreiber.media via ShutterStock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: