วันนี้ (8 ม.ค.) เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ กล่าวภายหลัง นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ประกาศแถลงการณ์ผลการพิจารณาปลดใบเหลืองประมงไอยูยูของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่า
ถือเป็นความสำเร็จและน่ายินดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูมาโดยตลอด เพราะตั้งแต่ประเทศไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ก็ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเต็มที่จนสามารถแก้ปัญหาได้ทั้งระบบ ทั้งด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ความมุ่งมั่นทั้งหมดส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้กับไทย
ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค
พลเอก ฉัตรชัย ยังกล่าวด้วยว่าจากนี้ไปรัฐบาลไทยก็ยังมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง พร้อมกันนี้ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูไว้อย่างสมบูรณ์ทั้ง 6 ด้านคือ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4. ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนการดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเคอเมนูแล้ว ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรป เพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรี ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป
ด้าน นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง กล่าวรู้สึกยินดีที่เป็นเจ้าภาพต้อนรับ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พร้อมกันนี้ได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ที่มีมานานว่าจะทำให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ในการหารือร่วมกันของรัฐบาลไทยและสหภาพยุโรปมีความยินดีที่จะประกาศให้ประเทศไทยปลดใบเหลืองในกลุ่มประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมาย และขอแสดงความยินดีกับรองนายกรัฐมนตรีสำหรับความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นในการทำให้การปฏิรูปนี้เป็นไปได้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์