เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ยอมรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจำกัดการเดินทางที่ไม่สำคัญมายังสหภาพยุโรปเป็นการชั่วคราว โดยผู้เดินทางจากนอกสหภาพยุโรปที่แม้จะยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน แต่หากมาจาก ‘ประเทศที่ปลอดภัย’ ก็จะสามารถเดินทางเข้าพื้นที่สหภาพยุโรปได้ โดยรายชื่อ ‘ประเทศที่ปลอดภัย’ จะมาจากการพิจารณาประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรอบ 14 วันล่าสุดน้อยกว่า 75 รายต่อประชากร 100,000 ราย รวมกับการพิจารณาเงื่อนไขอื่น เช่น ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชากร, การตรวจจับไวรัสสายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล, แนวโน้มที่คงที่หรือลดลงของการติดเชื้อรายใหม่, จำนวนการตรวจหาเชื้อ เป็นต้น
ตามข้อกำหนด ณ เวลานี้ ยังมีเพียง 7 ประเทศที่เคยถูกประกาศว่ามีอัตราการติดเชื้อต่ำ ซึ่งประชากรสามารถเดินทางเข้าพื้นที่สหภาพยุโรปได้อย่างอิสระ ประกอบด้วยออสเตรเลีย, อิสราเอล, นิวซีแลนด์, รวันดา, สิงคโป,ร์ เกาหลีใต้ และไทย สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่ารายชื่อประเทศที่ปลอดภัยที่กำลังรอการประกาศออกมานี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา
นอกจากนี้ คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปยังระบุว่า หากชาติสมาชิกอียูชาติใดที่ยอมรับเอกสารยืนยันการรับวัคซีนเพื่อใช้ระงับข้อจำกัดในการเดินทาง เช่น การตรวจหาเชื้อหรือกักตัวภาคบังคับ โดยหลักการแล้วชาติสมาชิกนั้นก็ควรยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางสำหรับผู้ที่อยู่นอกสหภาพยุโรปและได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วด้วยเช่นกัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวได้แก่วัคซีนที่สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) อนุมัติ ซึ่งได้แก่วัคซีน Pfizer-BioNTech, Moderna, Oxford-AstraZeneca, และ Janssen (Johnson & Johnson) ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนอื่นในกลุ่มที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกนั้น ชาติสมาชิกอียูอาจพิจารณายกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางด้วยก็ได้
อย่างไรก็ตาม บุคคลในกลุ่มนี้ที่จะเดินทางได้จะต้องได้รับวัคซีนโดสสุดท้ายที่แนะนำก่อนเดินทางเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน และหากเกิดสถานการณ์ด้านระบาดวิทยาที่ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วในประเทศหรือภูมิภาคหนึ่งๆ โดยเฉพาะการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล ชาติสมาชิกอียูควรนำข้อจำกัดชั่วคราวและเร่งด่วนเกี่ยวกับการเดินทางเข้าอียูมาใช้ด้วย ซึ่งเรียกว่ากลไก ‘เบรกฉุกเฉิน’ (Emergency Brake) อย่างไรก็ตาม กลไกนี้ไม่ควรถูกบังคับใช้กับพลเมืองอียู ผู้มีถิ่นพำนักในอียูระยะยาว รวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางบางประเภท และเมื่อมีชาติสมาชิกใดบังคับใช้ข้อจำกัดเร่งด่วนนั้น ชาติสมาชิกที่ประชุมกันภายในคณะมนตรีก็ควรทบทวนสถานการณ์อย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ และด้วยความใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการยุโรป โดยข้อจำกัดเร่งด่วนที่ว่านั้นควรได้รับการทบทวนอย่างน้อยทุกๆ สองสัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของคณะมนตรีนี้ไม่ใช่เครื่องมือที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย และหน่วยงานของรัฐสมาชิกยังคงรับผิดชอบในการนำเนื้อหาของข้อเสนอแนะนี้ไปปฏิบัติ
อีกด้านหนึ่ง สำหรับการเดินทางระหว่างชาติสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยกันเอง สหภาพยุโรปก็ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ ‘ใบรับรอง’ เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อเปิดการเดินทางท่องเที่ยวภายใน 27 ชาติสมาชิกในฤดูร้อนนี้แล้วเช่นกัน โดยใบรับรองนี้จะอยู่ในรูปแบบของ QR Code บนสมาร์ทโฟนหรือกระดาษ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทางการสามารถกำหนดสถานะของผู้เยี่ยมเยือนประเทศตามบันทึกที่ปรากฏในประเทศต้นทางในสหภาพยุโรป โดยจะระบุว่าบุคคลผู้นั้นได้รับวัคซีนแล้ว มีผลการตรวจโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้เป็นลบ หรือมีภูมิคุ้มกันตามการฟื้นตัวของโรค
ทั้งนี้ เมื่อมีการผ่อนคลายข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายอย่างอิสระภายในสหภาพยุโรป ชาติสมาชิกจะต้องยอมรับใบรับรองการฉีดวัคซีนสำหรับวัคซีนตัวที่ได้รับการอนุมัติในสหภาพยุโรป ซึ่งจนถึงขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 4 ตัวตามที่ระบุไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกอาจตัดสินใจเพิ่มวัคซีนอื่นที่จะยอมรับใบรับรองการฉีดนอกเหนือจาก 4 ตัวนี้สำหรับผู้เดินทางภายในสหภาพยุโรปได้
ฝ่ายนิติบัญญัติของสภายุโรปต้องการให้ชาติสมาชิกยอมรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ฟรี เพื่อรับใบรับรองดังกล่าว และระบุว่าไม่ควรมีสมาชิกชาติสหภาพยุโรปใดที่จะตั้งข้อกำหนดด้านการกักตัวเพิ่มเติมอีก และแม้จะมีชาติสมาชิกแสดงความไม่เห็นด้วย เช่น เยอรมนี และสวีเดน แต่ในท้ายที่สุดชาติสมาชิกสหภาพยุโรปก็ตกลงที่จะงดเว้นการตั้งมาตรการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเชื้อหรือการกักตัว เว้นแต่จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นในด้านสาธารณสุข เช่น ในกรณีการระบาดเพิ่มขึ้นของเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเข้าร่วมการเจรจาด้วยตกลงที่จะสนับสนุนเงินกว่า 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากกองทุนช่วยเหลือฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ รวมถึงอาจสนับสนุนเงินมากกว่านี้หากจำเป็น
ทั้งนี้ ข้อตกลงเกี่ยวกับใบรับรองนี้ยังต้องได้รับการอนุมัติอีกครั้งในการประชุมใหญ่ของรัฐสภายุโรปที่กำหนดไว้ในสัปดาห์ซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ และชาติสมาชิกสหภาพยุโรปยังต้องทดสอบระบบก่อนเริ่มใช้จริงในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ด้วย
ข้อตกลงนี้ยังครอบคลุมถึงประชากรนอกสหภาพยุโรปแต่อยู่ภายในเขตเชงเก้น อันได้แก่ ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ด้วย แต่ไม่เกี่ยวข้องและแยกกันกับแผนการที่จะเปิดให้ผู้เดินทางจากดินแดนนอกสหภาพยุโรปอื่นๆ ให้เข้ามายังสหภาพยุโรปที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้
ปิดท้ายที่สเปน เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ระบุผ่านสุนทรพจน์ในงานแสดงสินค้าการท่องเที่ยวนานาชาติ FITUR ในกรุงมาดริด เมื่อวันศุกร์ (21 พฤษภาคม) ว่าสเปนกำลังจะอนุญาตให้พลเมืองของประเทศและพื้นที่นอกสหภาพยุโรปซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว เดินเข้าประเทศสเปนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนนี้ ไม่ว่าจะมาจากประเทศต้นทางใดก็ตาม เขาระบุว่าการกลับมาของการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับดันที่สำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสเปน
และตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคมนี้ สเปนก็จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรสามารถเข้าประเทศสเปนได้โดยไม่ต้องมีผลทดสอบหาเชื้อด้วยวิธี PCR ที่เป็นลบ ซึ่งเป็นการอนุญาตเพิ่มเติมจากที่ได้อนุญาตนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย, จีน (รวมฮ่องกง และมาเก๊า), อิสราเอล, นิวซีแลนด์, รวันดา, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และไทย ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยถือว่าพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม รายชื่อพื้นที่เหล่านี้อาจได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้
“พวกเขาจะเป็นที่ยินดีต้อนรับ – มากกว่าแค่ยินดีต้อนรับ – โดยไม่มีข้อจำกัดหรือการควบคุมทางสุขภาพใดๆ” ซานเชซกล่าวกับผู้สื่อข่าวในงาน
เมื่อรวมกับการจองโรงแรมที่กำลังฟื้นตัวจากการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินที่สิ้นสุดลงไปเมื่อต้นเดือนนี้ ซานเชซกล่าวว่า ภายในสิ้นปีนี้ระบบการเดินทางใหม่จะอนุญาตให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังสเปนได้ถึงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่าวชาติที่เดินทางมายังสเปนลดลงมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2020 จากข้อจำกัดอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว
ภาพ: Nicolas Economou / NurPhoto via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2021/05/20/covid-19-council-updates-recommendation-on-restrictions-to-travel-from-third-countries/
- https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_21_2593
- https://www.mscbs.gob.es/en/profesionales/saludPublica/ccayes/alertasActual/nCov/spth.htm
- https://www.mscbs.gob.es/en/profesionales/saludPublica/ccayes/alertasActual/nCov/documentos/AnnexII_between_10052021-and-23052021.pdf
- https://www.mscbs.gob.es/en/profesionales/saludPublica/ccayes/alertasActual/nCov/documentos/AnnexII_between_24052021-and-06062021-uk-japan.pdf
- https://www.efe.com/efe/english/portada/spain-to-lift-travel-restrictions-for-uk-japan-in-bid-salvage-season/50000260-4542354
- https://www.bbc.com/news/world-europe-57168578
- https://www.bbc.com/news/world-europe-57199791
- https://www.nytimes.com/2021/05/19/world/europe/travel-vaccine.html
- https://www.reuters.com/world/europe/eu-countries-agree-ease-travel-restictions-non-eu-visitors-2021-05-19/
- https://www.reuters.com/world/europe/spain-let-vaccinated-travellers-non-eu-countries-june-7-2021-05-21/
- https://www.reuters.com/world/europe/eu-grapples-over-covid-19-passes-summer-travel-2021-05-20/
- https://www.dw.com/en/eu-reaches-deal-on-approving-covid-travel-pass/a-57601963
- https://www.ema.europa.eu/en/human-regulatory/overview/public-health-threats/coronavirus-disease-covid-19/treatments-vaccines/vaccines-covid-19/covid-19-vaccines-authorised