×

วิกฤต ‘งบประมาณ’ ของ EU แพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 1.8 ล้านล้านยูโร ผ่านไป 4 เดือน ยังไม่ได้ข้อสรุป

23.11.2020
  • LOADING...
วิกฤต ‘งบประมาณ’ ของ EU แพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด 1.8 ล้านล้านยูโร ผ่านไป 4 เดือน ยังไม่ได้ข้อสรุป

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ข้อเรียกร้องสำคัญของสภายุโรปคือ การกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องเคารพหลักนิติธรรม ซึ่งรวมถึงการที่รัฐบาลต่างๆ ต้องเคารพหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเท่าเทียมกัน  มิฉะนั้นอาจถูกระงับเงินช่วยเหลือได้ แต่ฮังการีและโปแลนด์คัดค้านกลไกนี้ อันนำมาสู่วิกฤต ‘งบประมาณ’ ของสหภาพยุโรปในครั้งนี้
  • เดิมสหภาพยุโรปหวังว่าจะสามารถเริ่มใช้แพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 แต่การเจรจาที่ยืดเยื้ออาจทำให้ต้องรอถึงเดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ล่าสุดต้องหยุดชะงักอีกครั้งหลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง 
  • ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดหนีไม่พ้นประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่น อิตาลี สเปน กรีซ โปรตุเกส รวมทั้งฮังการีและโปแลนด์ นอกจากนี้วิกฤตงบประมาณยังมีผลกระทบทางการเมือง เพราะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนความอ่อนแอและขาดความเป็นเอกภาพของ EU

เมื่อเดือนกรกฎาคม ผู้นำสหภาพยุโรป (EU) บรรลุข้อตกลงแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ได้สำเร็จในวงเงิน 1.82 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ดี นั่นเป็นเพียงขั้นตอนแรกของกระบวนการพิจารณางบประมาณที่ยังต้องผ่านด่านสำคัญถัดมาคือ สภายุโรป 

 

ข้อเรียกร้องสำคัญของสภายุโรปคือ การตั้งมาตรฐานสูงให้ประเทศสมาชิกต้องเคารพหลักนิติธรรม มิฉะนั้นอาจถูกระงับเงินช่วยเหลือได้ แต่ฮังการีและโปแลนด์คัดค้านกลไกหลักนิติธรรมของสภายุโรป อันนำมาสู่วิกฤต ‘งบประมาณ’ ของสหภาพยุโรปในครั้งนี้

 

 

หลักนิติธรรมคือเงื่อนไขสำคัญของการเข้าถึงงบประมาณของสหภาพยุโรป

หลักนิติธรรมเป็นค่านิยมสำคัญของสหภาพยุโรป กล่าวคือรัฐบาลต้องเคารพกฎหมายและไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ รวมทั้งเคารพหลักการประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และความเท่าเทียมกัน ในขณะที่ประชาชนควรมีสิทธิทักท้วงการดำเนินการของรัฐต่อศาลยุติธรรมที่มีความเป็นอิสระได้ 

 

อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปพบว่า สมาชิกบางประเทศในกลุ่มเองกลับมีนโยบายหรือมาตรการที่ขัดกับหลักนิติธรรม โดยฮังการีและโปแลนด์มักตกเป็นเป้าสายตาในเรื่องนี้ เช่น การแทรกแซงระบบยุติธรรม ควบคุมสื่อและนักวิชาการ การละเมิดสิทธิของสตรีและกลุ่มหลากหลายทางเพศ และนโยบายต่อต้านผู้อพยพและผู้ลี้ภัย

 

สหภาพยุโรปจึงพยายามสร้างกลไกต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดหลักนิติธรรมในหมู่ประเทศสมาชิก อันเป็นที่มาของการตั้ง ‘กลไกหลักนิติธรรม’ (Rule of Law Mechanism) ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ กล่าวคือหากพบว่าสมาชิกประเทศใดละเมิดหลักนิติธรรม สหภาพยุโรปก็อาจตัดเงินช่วยเหลือได้

 

การเจรจาเรื่องกลไกหลักนิติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องพยายามประนีประนอมระหว่างฝ่ายสนับสนุนกลไกนี้ (คือสภายุโรปและกลุ่มประเทศยุโรปเหนือและตะวันตก) กับฝ่ายต่อต้าน (เช่น ฮังการีและโปแลนด์) 

 

สภายุโรปต้องการให้กลไกหลักนิติธรรมมีเขี้ยวเล็บและสามารถลงโทษประเทศที่ทำผิดหลักนิติธรรมได้จริง จึงได้ผลักดันประเด็น เช่น การขยายนิยามของคำว่าการละเมิดหลักนิติธรรม (ให้ครอบคลุมทั้งกรณีที่มีการคอร์รัปชันงบประมาณโดยตรง และกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวม) มุ่งการป้องกัน (สหภาพยุโรปสามารถตัดงบประมาณได้ หากพบว่ามีความเสี่ยงว่าประเทศสมาชิกจะละเมิดหลักนิติธรรม โดยไม่ต้องรอให้มีหลักฐานชัดเจนว่าได้ละเมิดไปแล้ว) ปกป้องประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากเงินช่วยเหลือ (ประชาชนยังสามารถขอรับเงินสนับสนุนได้โดยตรงจากสหภาพยุโรป แม้ว่ารัฐบาลของประเทศตนจะถูกตัดงบประมาณ) และการร่นระยะเวลาการพิจารณาของคณะมนตรียุโรป (ที่ประชุมประเทศสมาชิก) ในการออกมาตรการตัดงบประมาณ

 

การคัดค้านของฮังการีและโปแลนด์

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน สภายุโรปได้เห็นชอบแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจและกลไกหลักนิติธรรมข้างต้นแล้ว โดยตามกระบวนการงบประมาณ เรื่องจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของประเทศสมาชิกอีกครั้งก่อนที่จะเริ่มใช้งบประมาณได้ แต่คราวนี้ฮังการีกับโปแลนด์แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับกลไกหลักนิติธรรมที่จะจัดตั้งขึ้น

 

จูดิท วาร์กา รัฐมนตรียุติธรรมฮังการี มองว่า ฮังการีตกเป็นเป้าหลักของกลไกหลักนิติธรรม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มเครื่องมือให้กับสหภาพยุโรปในการลงโทษประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างไป หรือเพื่อกดดันทางการเมือง และวิจารณ์ว่ากลไกดังกล่าวไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย มีขอบเขตการบังคับใช้ไม่ชัดเจน เป็นมาตรการตามอำเภอใจที่ไม่มีการันตีเรื่องความชอบธรรม 

 

ในทำนองเดียวกัน คอนราด ซีมานสกี รัฐมนตรีกิจการยุโรปของโปแลนด์ กล่าวว่า โปแลนด์ไม่ได้มีปัญหากับการตั้งเงื่อนไขเรื่องหลักนิติธรรม และหลักนิติธรรมก็เป็นหลักการสำคัญในรัฐธรรมนูญโปแลนด์ อย่างไรก็ดี ปัญหาอยู่ที่ว่ากลไกดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางกฎหมาย และไม่มีการสร้างหลักประกันทางกฎหมายให้กับประเทศสมาชิก  

 

ในขณะที่ ไมเคิล รอท รัฐมนตรีกิจการยุโรปของเยอรมนี กล่าวว่า หากทุกประเทศยึดมั่นในหลักนิติธรรม ก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัว และ มาร์ค รัท นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ยืนยันว่า กลไกหลักนิติธรรมตามที่เจรจาได้แล้วกับสภายุโรปถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สุด และตนจะไม่ยอมรับที่ลดระดับลงไปมากกว่านี้ 

 

นอกจากนี้ประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมอย่างโรมาเนียนั้น ลูโดวิค ออร์บัน นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย ก็ออกมากล่าวว่า รัฐบาลของตนไม่กลัวกลไกหลักนิติธรรม และผู้เสียภาษีชาวยุโรปควรได้รับหลักประกันว่าเงินจะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง 

 

 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมืองจากความล่าช้าของแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เดิมสหภาพยุโรปหวังว่าจะสามารถเริ่มใช้แพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 แต่การยืดเยื้อของการเจรจาอาจทำให้ต้องรอถึงประมาณเดือนเมษายน 2021 ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ล่าสุดก็ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง  

 

ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดหนีไม่พ้นประเทศที่มีเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เช่น อิตาลี สเปน กรีซ โปรตุเกส รวมทั้งฮังการีและโปแลนด์ สองประเทศที่ขัดขวางแพ็กเกจฟื้นฟูฯ อยู่ในขณะนี้ ผลสำรวจหนึ่งรายงานว่า ชาวฮังการีได้รับผลกระทบสูงสุดจากการสูญเสียรายได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป และในภาพรวมสหภาพยุโรปคาดการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคหดตัว 7.8% ในปี 2020 ก่อนกลับมาขยายตัว 4.2% ในปี 2021      

 

วิกฤต ‘งบประมาณ’ ของสหภาพยุโรปไม่เพียงส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ แต่มีผลกระทบทางการเมืองอย่างชัดเจน เพราะเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนความอ่อนแอและขาดความเป็นเอกภาพของสหภาพยุโรป กระบวนการตัดสินใจของสหภาพยุโรปในประเด็นสำคัญ เช่น งบประมาณ และการต่างประเทศ ยังจำเป็นต้องได้รับมติเอกฉันท์ของประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศ 

 

ในแง่หนึ่ง การขยายจำนวนสมาชิกทำให้สหภาพยุโรปกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ด้วยจำนวนประชากรกว่า 500 ล้านคน และ GDP รวม 16.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในอีกแง่หนึ่ง สหภาพยุโรปได้รวมประเทศที่อาจไม่ได้มี ‘ค่านิยมตะวันตก’ เข้ามาอยู่ด้วย ทำให้การขับเคลื่อนประเด็นที่เชื่อมโยงกับค่านิยมประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยนชนเป็นไปด้วยความลำบาก ซึ่งสหภาพยุโรปตระหนักดีถึงปัญหานี้ และหลายฝ่ายก็ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎเอกฉันท์ เป็นกฎเสียงข้างมากแทน แต่เรื่องนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย

 

แม้ว่าจะคุยเรื่องงบประมาณกันมา 4 เดือนแล้ว สหภาพยุโรปก็คงต้องคุยกันต่อไป การเจรจาและการเจรจาต่อไปเป็นหนทางเดียวที่สหภาพยุโรปมีอยู่ในตอนนี้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการบรรลุข้อตกลงแพ็กเกจฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยืนยันว่า กลไกหลักนิติธรรมที่เจรจาได้กับสภายุโรปเป็นทางออกที่ดีแล้ว และเลี่ยงที่จะกล่าวถึงทางเลือกอื่น ในขณะที่ วิคเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีฮังการี ให้สัมภาษณ์สื่อว่า สหภาพยุโรปน่าจะแก้ไขวิกฤตงบประมาณได้ในเร็วๆ นี้ โดยตนเห็นว่ามีหลายวิธีที่จะผ่าทางตัน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X