ความเสี่ยงกับการลงทุนเป็นของคู่กันเสมอ แต่ถ้าเรารู้จักป้องกัน ก็จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงการลงทุนได้ เช่น ถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้น ก็จะต้องรู้จักความเสี่ยงที่เป็นระบบและความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ หรือถ้าลงทุนในกองทุน ก็จะต้องรู้จักระดับความเสี่ยงของกองทุน หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก่อนลงทุน ต้องประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ เพื่อให้เรามีความระมัดระวังในการลงทุน ไม่ลงทุนแบบ Overinvest มีสินทรัพย์เสี่ยงในพอร์ตมากเกินไป เมื่อตลาดเกินความผันผวนเลยเกิดความวิตกกังวล หรือ Underinvest ลงทุนต่ำกว่าความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ ก็อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นการรู้จักความเสี่ยงจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พอร์ตการลงทุนของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นอกจากความเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงด้าน ESG หรือ ESG Risk เกิดขึ้นมาใหม่ไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นความท้าทายที่องค์กรจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงที่มีผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร การแข่งขัน ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความอยู่รอดขององค์กร ดังนั้นธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ โดยบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความเสี่ยงด้าน ESG เป็นพื้นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน รวมถึงควรมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน มาประกอบการจัดการความเสี่ยงในระดับต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
ดังนั้น บริษัทต่างๆ จึงมุ่งพัฒนาระบบการทำงานให้สอดคล้องกับการดำเนินงาน ESG โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีตัวเลขพิสูจน์แล้วว่า บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน S&P 500 ESG Index สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า S&P 500 ในช่วงวิกฤตโควิด
โดยหากเทียบดัชนี S&P 500 กับ S&P 500 ESG Index ช่วงปี 2018 ถึงต้นปี 2019 พบว่าการลงทุนใน ESG แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนที่แตกต่างกัน หรืออาจจะมากกว่าเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 1% พอช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิดในปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 หุ้นกลุ่มนี้เริ่มชนะตลาดมากขึ้นจนมาอยู่ที่ 2-3% และช่วงที่โควิดเริ่มระบาดจนถึงปัจจุบันก็สามารถเอาชนะตลาดได้มากขึ้นไปอีกจนอยู่สูงสุดที่ 5-6% ก่อนที่ในช่วงหลังจะเริ่มนิ่งที่ 4%
นอกจากนี้ งานวิจัยของ New York University ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานมากกว่า 1,000 ชิ้น ว่าในระยะ 6 ปีหลัง พบว่าบริษัทที่ลงทุนใน ESG มีโอกาสที่ผลประกอบการด้านการเงินจะดีขึ้นในระยะยาว และอีกทั้งหุ้นกลุ่ม ESG ยังคงต้านทานผลกระทบในช่วงวิกฤตได้ค่อนข้างดีกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ
โดยสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการทางด้านการเงินดีขึ้น เนื่องจากการลงทุนใน ESG จะบังคับให้ธุรกิจต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ในประเด็นต่างๆ ซึ่งหมายถึงการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีของเสียน้อยลง และมีความเสี่ยงโดยรวมต่อประเด็นต่างๆ ลดลง
อย่างไรก็ตาม มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับ 2 บริษัทชื่อดัง อย่าง Facebook กับ Tesla ที่นักลงทุนมองว่าเป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ หากแต่ทั้ง 2 บริษัทนี้เคยถูกปลดจาก S&P 500 ESG Index โดย Facebook นั้น เริ่มเกิดจากประเด็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ในปี 2018 ที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า ข้อมูลผู้ใช้งาน Facebook หลุดออกไปยังบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลอย่าง Cambridge Analytica ซึ่งกระทบผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านบัญชี รวมไปถึงการคว่ำบาตรไม่ลงโฆษณาบน Facebook จากหลายบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากการที่ Facebook ไม่สามารถจัดการกับปัญหา Hate Speech หรือคำพูดที่แสดงถึงความเกลียดชัง การสร้างความเข้าใจผิดและความแตกแยกในสังคมได้
นอกจากนี้ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ยังได้มีการเรียกผู้บริหารของ Facebook ไปให้ข้อมูลและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการผูกขาดทางธุรกิจและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย ส่งผลให้ในเดือนมิถุนายน 2019 หุ้น Facebook ถูกถอดออกจากดัชนี S&P ESG และยังไม่ได้ติดอันดับอยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Index (DJSI)
ในทางตรงกันข้าม Facebook กลับเป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงในด้านการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างมาก แม้ว่า Google จะเป็นเจ้าแรกในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่มีการลงทุนในพลังงานทดแทน (พลังงานแสงอาทิตย์) เพื่อใช้สำหรับศูนย์ข้อมูล แต่ Facebook เองถือเป็นผู้บุกเบิกศูนย์ข้อมูลสีเขียว หรือ Green Data Center หลังเปิดตัวศูนย์ข้อมูลของตัวเองขึ้นในปี 2011 ซึ่งนับเป็นศูนย์ข้อมูลที่ออกแบบมาเพื่อประหยัดการใช้พลังงาน และยังมีการแชร์การออกแบบศูนย์ข้อมูลแบบนี้อย่างเปิดเผยผ่าน Open Compute Platform เพื่อให้บริษัทอื่นๆ เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กรด้วย ในกรณีของ Facebook ข้างต้น ทำให้เกิดความเห็นต่างของผู้ลงทุน โดยคนหนึ่งอาจจะมองว่า ถึงบริษัทจะมีความพยายามปรับปรุง ESG ในมิติอื่นๆ แต่ในมิติที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ บริษัทกลับไม่สามารถแก้ไขได้ และเป็นความเสี่ยงในด้าน Regulation ของบริษัท แต่ขณะเดียวกัน ผู้ลงทุนอีกคนหนึ่งอาจจะมองว่า ถ้า Facebook ต้องการแก้ไขทุกปัญหาที่ถูกโจมตี อาจจะทำให้ Facebook ขาดความเป็นโซเชียลมีเดียและอาจจะมีแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่นแย่งส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นได้
ส่วนกรณีของ Tesla นั้น เกิดจากบริษัทมีปัญหาในการจัดการต่อกรณีที่ถูกไต่สวนในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายราย รวมถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่โรงงานในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งที่ผ่านมาคะแนนทางด้าน ESG ของ Tesla นั้นค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันที่มีคะแนน ESG ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ อีลอน มัสก์ ได้ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ว่าสิ่งที่บริษัทพยายามทำอยู่นั้นเพื่อพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้น เรื่องของ ESG Investing จึงเป็นเหมือนเรื่องหลอกลวง
อย่างไรก็ตาม Tesla กลับมีประวัติที่ไม่ดีเกี่ยวกับประเด็นเรื่องแรงงาน หลังจากที่โรงงานของบริษัทที่แคลิฟอร์เนียถูกฟ้องร้องจากพนักงานจำนวนมากเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติ และอีกหนึ่งปัญหาคือเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคจากระบบขับเคลื่อนรถยนต์แบบ Self-Driving Cars ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ถูกไต่สวนโดย The U.S. National Highway Traffic Safety Administration ต่อข้อขัดข้องที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ขณะที่รถ Tesla ในจีนส่วนใหญ่ก็ถูกเรียกคืน นอกจากนี้ในอดีต Tesla ก็มีปัญหาเกี่ยวกับความโปร่งใสในการรายงานเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการจัดการของเสียที่เกิดขึ้น
ที่ผ่านมา Tesla นั้นยังไม่ได้ถูกรวมอยู่ในดัชนีความยั่งยืนของ Morningstar เนื่องจากมีคะแนน ESG ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ที่ผ่านมาบริษัทก็ยังไม่ค่อยมีการเปิดเผยข้อมูลและให้ความสำคัญต่อนักลงทุนค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ดีปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในด้านนี้ หลังจากที่การประชุมผู้ถือหุ้นในปีที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการและความเสมอภาคในองค์กร ส่งผลให้ในปีนี้บริษัทเริ่มมีการจัดทำรายงานเรื่องดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ให้กับนักลงทุนมากขึ้น
จากภาพรวมที่กล่าวข้างต้น นักลงทุนจึงควรทำความรู้จักและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ของบริษัทที่เราสนใจลงทุน ควรหาข้อมูลให้มากขึ้น หรือสามารถเลือกลงทุนในกองทุน ESG ที่ผู้จัดการกองทุนให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อทำให้เงินลงทุนของเรางอกเงย เติบโตไปพร้อมๆ กับผู้คน สิ่งแวดล้อม สังคม และยังทำให้โลกของเราน่าอยู่มากขึ้นในทุกๆ วัน
อ้างอิง: