ซีรีส์…แนวโน้มการลงทุน Responsible Investment (7)
ในตอนนี้จะอธิบายถึงประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Responsible Investment ซึ่งสรุปมาจาก ESG Investing for Business โดย Brendan Bradley (2021)
1. การเปรียบเทียบการลงทุนแบบ SRI, Ethical และ Impact Investing
เวลาเราพูดถึงการดำเนินธุรกิจแบบคำนึงถึง ESG (Environmental, Social, Governance) หมายถึงตัวบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยดูจาก 3 ประเด็นข้างต้น ในมุมมองนี้ ESG จึงไม่ใช่ Investment Style แต่หมายถึงบริษัทที่มุ่งมั่นทำธุรกิจโดยมุ่งให้เกิดผลกระทบทางบวกใน 3 ประเด็นเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจลงได้ ในมุมมองของนักลงทุนปัจจุบันและอนาคตอีกไม่ไกล กระแสการหาหุ้นที่ทำได้ดีในเรื่อง ESG จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งมีการออกแบบแนวการลงทุนในชื่อต่างๆ ดังนี้
- Sustainable and Responsible Investing (SRI) ซึ่งเป็นแนวการลงทุนโดยพยายามค้นหาบริษัทที่ก่อให้เกิดปัญหา (Negative Screening) ออกจาก Portfolio เช่น หุ้นด้านยาสูบ หรือหุ้นธุรกิจได้ก่อผลกระทบทางลบ และเป็นอันตรายต่อส่วนรวม เช่น หุ้นของบริษัทที่ธุรกิจทำให้เกิดมลพิษ หรือละเมิดเรื่องสิทธิมนุษยชน
- Ethical Investing มีบางอย่างที่คล้ายกับกรณี SRI เช่น การตัดออก พวก หุ้นกลุ่มที่สร้างผลกระทบทางลบด้าน ESG สิ่งที่แตกต่างคือการระบุประเด็นด้าน ESG (Issued-Based) ที่ชัดเจน เช่น ยาสูบ แรงงานเด็ก เป็นต้น
- Impact Investing สนใจการลงทุนที่ให้ทั้งอัตราผลตอบแทนที่ดี และธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบทางบวกต่อสังคมไปพร้อมกัน การลงทุนแนวนี้ต้องการหลักฐานที่ชัดเจน เช่น รายงานที่เปิดเผยให้เห็นถึงการกระทำ และผลลัพธ์ในเรื่องดังกล่าว และเริ่มมีการกำหนด Area ของการรายงานที่มีความลึกขึ้น เช่น ด้าน Renewable Energy, Sustainable Agriculture, Water Management และ Clean Technology เป็นต้น
ในการวัดผลกระทบด้าน ESG เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุน มีการพัฒนามาตรฐานการวัดขึ้นมา เช่น The Impact Reporting and Investment Standards หรือ IRIS เป็นต้น ซึ่งให้ความรู้และเครื่องมือนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผ่านการบริหารโดย Global Impact Investing Network (GIIN) (https://iris.thegiin.org/about/)
การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ของบริษัทเป็นส่วนที่นิยมทำเพิ่มเติมเข้าไปในส่วนของการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน ถือว่าเป็นพัฒนาการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น กรณีของ BlackRock บริษัท Asset Management ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกาศว่าการวิเคราะห์เรื่อง Sustainability ผ่าน ESG Performance ของบริษัทเป้าหมาย เป็นมาตรฐานใหม่ในการลงทุนที่ต้องยึดถือของ BlackRock บริษัทที่มี ESG Risk ที่สูงเมื่อทำการวิเคราะห์แล้ว จะถูกหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปลงทุน แต่ขณะที่บริษัทที่บริหาร ESG Risk ได้ดี จะถูกกำหนดให้เป็น ‘Good Companies’ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน
2. ประเด็นความลึกด้าน ESG ที่นักลงทุนเพิ่มความสนใจ
หลังยุคโควิด ประเด็นการลงทุนที่จะกลับมาก็คือ ธุรกิจได้ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไร และธุรกิจจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างไร
2.1 ธุรกิจกับเป้าหมายการลดภาวะโลกร้อน
การประกาศของรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนไปสู่ Net Zero Emissions ภายใน ค.ศ. 2050 นั้นแปลว่าการร้องขอและกดดันให้ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการต้องมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยกำหนดเป้าหมายและดำเนินการด้วย ในฝั่งของนักลงทุนก็เช่นกัน ทั้งมี Awareness ที่มากขึ้น รวมทั้งมีพลังจากเงินทุนที่ตนเองมีอยู่ ก็จะเป็นอีกแรงสำคัญที่กดดันภาคธุรกิจด้วย บริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่อย่าง BlackRock ถึงกับประกาศว่า “Climate risk is investment risk.” ซึ่งต้องพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เวลาจะลงทุนในบริษัทใดๆ ก็ตาม Fund Managers บางกองทุนตามหา Clean Energies Policies and Investment ของบริษัทเป้าหมาย เพื่อต้องการเห็นว่าธุรกิจมีแผนปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อโลก
2.2 ธุรกิจกับการแก้ปัญหาสังคม
ปกติประเทศต่างๆ และโลกของเราเต็มไปด้วยปัญหาสังคมในมิติต่างๆ โลกภายใต้และหลังยุคโควิดถูกคาดว่าจะได้รับผลกระทบทางลบ ซึ่งซ้ำเติมให้ปัญหาสังคมบนโลกนี้ย่ำแย่ไปกว่าเดิมอีก นักลงทุนสไตล์ Responsible Investment หลายแห่งพากันขึ้นลิสต์ แนวทางความเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาการลงทุน คือสนใจว่าบริษัทเป้าหมายมีการดำเนินการอะไรที่ดูแลเรื่องคน ซึ่งรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคมอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์กับชุมชน ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน มาตรฐานการดูแลลูกค้า และการมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชนและสังคม ซึ่งอาจมีการละเมิดลดมาตรฐานลงได้จากผลกระทบของโควิด
2.3 ธุรกิจกับบรรษัทภิบาล
แม้ผลกระทบจากโควิดอาจทำให้ผลประกอบการของธุรกิจมีระดับลดลงไปบ้าง แต่บริษัทก็ไม่ควรย่อหย่อนในการกำกับดูแล และยังต้องยึดมั่นการบูรณาการ ESG เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจต่อไป นักลงทุนก็จะยังคงประเมินในประเด็นต่างๆ ของด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance: CG) ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง CG Structure บทบาทของกรรมการ การกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ การมีระบบงานที่เข้มแข็ง การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน เป็นต้น