×

‘6 ประเด็น’ สำคัญต้องจับตาในธีมการลงทุน ESG

13.02.2023
  • LOADING...
ESG

ประเด็นด้านการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) สังคม (Social: S) และธรรมาภิบาล (Governance: G) ที่เรียกรวมสั้นๆ ว่า ESG เป็นประเด็นที่มีความสำคัญกับโลกการลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง SCB CIO มองว่ามี 6 ประเด็นสำคัญในการลงทุนกับกระแส ESG ที่ต้องจับตาเวลานี้ ได้แก่

 

  1. กระแส ESG ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน (ทั้งรัฐและเอกชน) โดยเฉพาะหลังปี 2559

 

  1. กองทุนรวม ESG เติบโตต่อเนื่องและโดดเด่นในภูมิภาคยุโรป หนุนให้กองทุน ESG มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในตลาดกองทุนรวม

 

  1. Greenwashing หรือการฟอกเขียว เป็นประเด็นความเสี่ยงของ ESG ที่ต้องจับตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทในตลาดและกองทุนรวม

 

  1. ESG Rating มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท แต่ในระยะสั้นความสัมพันธ์ข้างต้นอาจถูกลดทอนจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในบางช่วงเวลา

 

  1. การลงทุนในกลุ่ม ESG มีความเหมาะสม เพื่อการลงทุนในระยะยาวมากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น ทั้งนี้ ESG Rating เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนใช้เลือกลงทุน ขณะที่กลุ่ม ESG ให้ผลตอบแทนที่พิจารณาความผันผวนด้วย (Risk-Adjusted Return) สูงกว่ากลุ่ม Non-ESG ซึ่งทำให้การลงทุนในกลุ่ม ESG เหมาะเป็นทางเลือกหนึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจ/การเงินมีความผันผวนสูง

 

  1. Climate Change Theme ยังเป็นกระแสหลักที่น่าสนใจในการลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักดันของเวทีระดับโลกอย่างการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2022 (COP27)

 

จากการศึกษาของ SCB CIO พบว่า ความสนใจประเด็น ESG เร่งตัวขึ้นชัดเจนหลังปี 2559 สะท้อนได้จากการที่หน่วยงานกำกับของรัฐในหลายพื้นที่ทั่วโลกออกเกณฑ์กำกับดูแลเกี่ยวกับ ESG มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยพบว่า ในปี 2559-2563 จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เติบโตเฉลี่ย 41% ต่อปี และในปี 2564 เติบโต 17% ซึ่งการกำกับที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาคเอกชนต้องตื่นตัวกับ ESG มากขึ้น ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค สถาบันการเงิน และนักลงทุน

 

จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG ทั่วโลก จำแนกตามกลุ่มหน่วยงานกำกับ

 

ESG

 

ในด้านการลงทุนนั้น กองทุนรวม ESG เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวกับ ESG ในปี 2559-2564 เติบโตสูงเฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี ผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาเป็น 6% ในปี 2564 และทรงตัวในปี 2565 โดยภูมิภาคยุโรปมีความโดดเด่นที่สุดเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ESG โดยพบว่าส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG สูงถึงเกือบ 30% ของ AUM รวมในยุโรป

 

ส่วนแบ่งตลาดกองทุน ESG แยกตามภูมิภาค

 

ESG

 

ความสนใจใน ESG มาพร้อมประเด็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ Greenwashing หรือกระบวนการที่บริษัทต่างๆ สร้างภาพว่าปฏิบัติตามแนวทาง ESG แต่จริงๆ แล้วไม่เป็นเช่นนั้น หรือเรียกสั้นๆ ว่าการฟอกเขียว ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างของกองทุนที่กล่าวอ้างว่าคัดเลือกหุ้นโดยใช้ปัจจัย ESG แต่ถูกตรวจสอบภายหลังพบว่าไม่เป็นความจริง ก็ส่งผลให้ถูกลงโทษ และเกิดปัญหาลูกค้าถอนเงินลงทุน ราคาหุ้นบริษัทแม่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลในหลายประเทศก็พยายามกำกับดูแลและป้องกันไม่ให้เกิด Greenwashing อยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM)

 

เมื่อมองไปที่นักลงทุนพบว่ามีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการพิจารณาปัจจัยเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือด้าน ESG หรือ ESG Rating ในการลงทุนมากขึ้น โดยในยุโรป ซึ่งมีการจัดทำมาตรฐาน ESG พบว่า ช่วงปี 2561-2564 มีเงินลงทุนไหลเข้าไปยังกองทุนรวมที่มีมาตรฐาน Article 9 (มี ESG ที่เข้มข้น) มากกว่ากองทุนรวมที่มีมาตรฐาน Article 8 (มีการส่งเสริม ESG อยู่บ้าง) ส่วนปี 2565 ที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง กลุ่มนักลงทุนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้ง Gen Y และ Gen Z ยกให้ ESG Rating เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน รองจากผลตอบแทนจากการลงทุน

 

ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์ Risk-Adjusted Return ของกลุ่ม ESG พบว่าสูงกว่ากลุ่ม Non-ESG ทำให้การลงทุนในกลุ่ม ESG เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในภาวะที่เศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบันมีความผันผวนค่อนข้างสูง

 

ในระยะสั้น ความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากการลงทุนกับ ESG Rating อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงนั้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2565 ที่ราคาน้ำมันโลกเร่งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้กลุ่มผู้ผลิตพลังงานจากฟอสซิลและบริษัทที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี ESG Rating ที่ต่ำกว่า ให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565

 

ขณะที่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งมี ESG Rating สูงกว่า กลับให้ผลตอบแทนแย่กว่ากลุ่มพลังงานฟอสซิล รวมถึงดัชนี MSCI World ที่ไม่นับรวมกลุ่มพลังงานฟอสซิล เนื่องจากส่วนใหญ่บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกจัดเป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหรือหุ้นที่มีการเติบโตสูง ทำให้ผลตอบแทนอ่อนแอลงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ESG Funds ไม่ได้มี Performance ที่ดีกว่าในทุกช่วงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันเร่งตัวและดอกเบี้ยขาขึ้น

 

ESG

 

โดยรวมแล้ว SCB CIO เชื่อว่า ธีมการลงทุน ESG เป็นธีมที่น่าสนใจสำหรับลงทุนระยะยาว มากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น โดยเมื่อพิจารณาภาพรวมกองทุน ESG ว่ามีนโยบายการลงทุนอย่างไรบ้าง พบว่ายังค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนแบบครอบคลุมประเด็น ESG (General ESG Fund) คิดเป็น 85% ของกองทุน ESG โดยรวม มีเพียง 15% เท่านั้นที่เป็นกองทุนที่เน้นประเด็นเฉพาะเจาะจงใน ESG (Thematic ESG Fund) ซึ่งเกือบครึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

 

ทั้งนี้ เนื่องจากการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน หรือ Climate Change เป็นประเด็นที่ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน กล่าวถึงกันมาก โดยมีเวทีการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2022 หรือ COP27 มาช่วยเร่งความสนใจ จนนำไปสู่การผลักดันเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สร้างโอกาสการลงทุน และแนวโน้มการเติบโตในอนาคตให้กับธุรกิจ Renewable Energy และ Energy Storage

 

เมื่อประเด็น ESG มีความสำคัญต่อความยั่งยืนบนโลกใบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาคการลงทุนเองก็ไม่สามารถละความสนใจในประเด็นนี้ได้เช่นกัน เพราะพอร์ตลงทุนจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวและมีความยั่งยืนได้ ย่อมต้องเป็นพอร์ตลงทุนที่มีการลงทุนโดยคำนึงถึง ESG ด้วย


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X