×

แนวคิด ESG ทวีความสำคัญ หัวใจหลักกลยุทธ์ธุรกิจทั่วโลกหลังโควิด-19

17.11.2020
  • LOADING...
แนวคิด ESG ทวีความสำคัญ หัวใจหลักกลยุทธ์ธุรกิจทั่วโลกหลังโควิด-19 โดย เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ

จากผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อสังคมและภาคธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นและในระยะยาว ผมเห็นว่านโยบายและการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเป็นหัวใจหลักของกลยุทธ์ธุรกิจทั่วโลกหลังโควิด-19 ในบทความนี้ผมจะเล่าให้ฟังว่าเป็นเพราะอะไรครับ

 

ธุรกิจต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

ผลวิจัย KPMG 2020 CEO Outlook ชี้ให้เห็นว่าซีอีโอทั่วโลกต้องการแก้ไขปัญหาภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างจริงจัง และมากกว่า 65% สรุปว่าการจัดการความเสี่ยงนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดความสำเร็จขององค์กร โดยผู้นำธุรกิจและองค์กรต่างๆ ซึ่งมีความสามารถ มีทรัพยากรและความพร้อมในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อสังคมจะต้องมองถึงปัจจัยในระยะยาวที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ 

 

ผู้นำธุรกิจประเมินจุดมุ่งหมายขององค์กร (Purpose) ใหม่ เน้นจุดยืนในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม

เคพีเอ็มจีได้สำรวจการรายงานของบริษัทชั้นนำทั่วโลกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นประเด็นด้านความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศ (Climate Risk) และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) พบว่าในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมมีการรายงานด้านภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากขึ้น หลายประเทศมีความก้าวหน้าในการรายงานด้านนี้มากขึ้นในด้านปริมาณและคุณภาพของรายงาน หลายบริษัทชั้นนำของโลกได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนลงอย่างจริงจัง นอกจากนี้การมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนของธุรกิจไม่ใช่เพียงการพุ่งเป้าไปที่ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึง ESG ในวงกว้างด้วย 

 

สำหรับผมในฐานะผู้นำองค์กร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและทีมงาน เราใช้โอกาสนี้ในการประเมินจุดมุ่งหมายขององค์กร (Purpose) ใหม่ เนื่องจากพวกเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องมีจุดยืนในประเด็นทางสังคมและการดำเนินการกับความท้าทายทางด้านสิ่งแวดล้อม เราจึงมุ่งมั่นและตั้งปณิธานว่า เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมา และลาว จะเป็นองค์กรคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon Organization) ภายในปี 2573 โดยเน้นและให้ความสำคัญในประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างการเติบโตและบรรลุความก้าวหน้าตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) พวกเราได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ประหยัดพลังงานในที่ทำงาน ปรับปรุงแพลตฟอร์มดิจิทัล ลดการใช้กระดาษ และลดปริมาณขยะพลาสติก เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ยังได้ตอบรับเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสังคมลดขยะ (Less Plastic Thailand) เพื่อร่วมผลักดันกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ด้วยครับ

 

ผู้นำธุรกิจยุโรปให้ความสำคัญกับ ESG ที่ครอบคลุมประเด็นสังคม

ผลวิจัยล่าสุดของเคพีเอ็มจี เผยให้เห็นว่าผู้นำธุรกิจของบริษัทชั้นนำในทวีปยุโรปหลายรายให้ความสำคัญกับ ESG ในเชิงกลยุทธ์ และกล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสสำคัญในการวาง ESG เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ฟื้นฟูองค์กร โดยโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงการกำกับดูแล ESG ในบริษัทขนาดใหญ่ ตลอดจนให้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของบทบาทของบริษัทและผลกระทบต่อสังคม ในขณะที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นทางสังคม เช่น ความปลอดภัย สุขภาพร่างกายและจิตใจ และความครอบคลุมทุกกลุ่มคนในสังคมก็กลายเป็นประเด็นใหม่ที่สำคัญด้วยเช่นกัน

 

‘One Report’ อนาคตการเปิดเผยข้อมูล ESG ธุรกิจไทย

ท่ามกลางความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกับวาระ ESG มากขึ้นโดยบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับพันธกิจและกลยุทธ์ขององค์กรเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบใหม่ ‘One Report’ โดยมีเนื้อหาของข้อมูลที่ต้องเปิดเผย ได้แก่ นโยบายและเป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ การจัดการในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติสังคม เช่น เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก เป้าหมายการลดใช้พลังงาน เป้าหมายลดการกำเนิดขยะ ข้อมูลพิพาทด้านสิ่งแวดล้อมและด้านแรงงาน รวมทั้งผลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นต้น

 

มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เหมือนกันทั่วโลก

สำหรับ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เราสนับสนุนลูกค้าของเราในการเสริมสร้างกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยเราให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการวัดผล จัดการ และสื่อสารความคืบหน้าการปฏิบัติการตามแนวทาง ESG ความท้าทายที่สำคัญที่เราพบเห็นอยู่เสมอคือหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูล ESG การเปรียบเทียบว่าข้อมูลที่เปิดเผยนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่เหมือนกันทั่วโลกหรือไม่ 

 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A เปิดเผยข้อมูลว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของตนเอง โดยคิดเป็นเพียง 10% ของรายได้ทั้งปี ในขณะที่บริษัท B เปิดเผยข้อมูลว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดที่บริษัท B เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจในการควบคุมตลอดทั้งปีเท่ากับ 100 ตันต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ จะเห็นได้ว่าทั้งสองบริษัทเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนกัน แต่เปิดเผยในลักษณะข้อมูลที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะเดียวกัน หรือจะนิยามคำจำกัดความการเปิดเผยข้อมูลประเด็นต่างๆ อย่างไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก และสามารถนำไปเปิดเผยและเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกในการพัฒนาเอกสารแนะนำการเปิดเผยผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สามารถวัดผลและเปรียบเทียบได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน พัฒนาคำนิยามที่เป็นสากล รูปแบบการนำเสนอ รวมทั้งเสนอแนะวิธีการคำนวณเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริษัททั่วไปสามารถใช้อ้างอิงและนำเสนอประเด็นหัวข้อต่างๆ ที่สามารถเปรียบเทียบกันระหว่างบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน บริษัทต่างกลุ่มอุตสาหกรรม และติดตามความก้าวหน้าของแต่ละบริษัทในแต่ละรอบปีได้ 

 

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bonds) และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) เติบโตก้าวกระโดด

ผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่กำลังมุ่งหน้าสู่แนวโน้มธุรกิจรักษ์โลกภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในการผนวก ESG เข้ากับการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในเกณฑ์ที่ช่วยกำหนดผลการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากทั้งผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุน บริษัทต่างๆ มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนและตราสารหนี้สีเขียว เพื่อให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน การออกตราสารหนี้เหล่านี้ล้วนประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความต้องการของนักลงทุนและอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษจาก ก.ล.ต. อีกด้วย

 

ในยุคความปกติใหม่ (New Normal) องค์กรต้องมีจุดยืนชัดเจนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

โควิด-19 เป็นวิกฤตการณ์ที่มี ‘คน’ เป็นศูนย์กลาง ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางสังคมขององค์กรจึงเพิ่มสูงขึ้น วิกฤตครั้งนี้ได้เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและการทำงานของเราไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของธุรกิจจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป และโควิด-19 จะเร่งให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรต่างๆ ในสังคม ผมคาดการณ์ว่าในโลกหลังโควิด-19 สาธารณชนจะต้องการให้ธุรกิจต่างๆ เพิ่มบทบาทในการจัดการและรับมือกับความท้าทายทางสังคม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะเร่งผลักดันให้มีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และหน่วยงานกำกับดูแลจะให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลกิจการด้าน ESG มากยิ่งขึ้น ผู้นำธุรกิจจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างมุมมองในระยะยาวเกี่ยวกับผลกระทบขององค์กรที่มีต่อสังคมและชุมชนของตน เพื่อให้องค์กรสามารถนำนโยบาย ESG และความตั้งใจดีไปสู่การลงมือปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้องค์กรเติบโตท่ามกลางความเป็นจริงใหม่ (New Reality)


เพื่อเน้นย้ำจุดยืนขององค์กร ผมผลักดันและสนับสนุนให้เคพีเอ็มจีเป็นองค์กรของการเป็นผู้ให้ผ่านหน่วยงาน KPMG Care & Share ที่ริเริ่มโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ การบริจาคเงินและสิ่งของที่จำเป็น เช่น โครงการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) โครงการโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันเด็กนักเรียน นอกจากนี้เรายังมีการสนับสนุนให้พนักงานออกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในหลายพื้นที่เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนและสังคมด้วยครับ

 

แนวโน้ม ESG ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะมีวิกฤตโควิด-19 และจะยิ่งทวีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จึงต้องคาดการณ์ถึงสภาวะโลกหลังโควิด-19 ที่ครอบคลุมทุกมิติของแนวคิด ESG และกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มีแนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนเพื่อให้องค์กรสามารถสร้างความแตกต่างและแข่งขันในสนามธุรกิจท่ามกลางความปกติใหม่ (New Normal) ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X