เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ของฮ่องกง เผยแพร่บทความแสดงความคิดเห็นล่าสุดจาก อาร์มิดา ซัลเซียะห์ อาลิสจะห์บานา เลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ ESCAP ซึ่งชี้ให้เห็นว่า วิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิดส่งผลให้ผู้สูงอายุในเอเชียมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลได้มากขึ้น
โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา สัดส่วนประชากรสูงอายุของหลายประเทศในเอเชียนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลจากอัตราการเกิดที่ลดลงและประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ขณะที่ประชากรสูงอายุเป็นกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น แต่ด้วยเทคโนโลยีและอุปกรณ์ช่วยเหลือที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ช่วยให้กลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากสามารถต่อสู้และรับมือกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด อีกทั้งยังคงการดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่พิการหรืออยู่เพียงลำพัง
ซึ่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่สามารถเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของผู้สูงอายุในช่วงนี้ และยังช่วยลดความโดดเดี่ยวและความเหงาที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเพื่อหลบเลี่ยงโควิดหรือการกักตัวท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์
ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่รวดเร็ว ทำให้ประชากรสูงอายุจำนวนไม่น้อยยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ และมีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในตอนนี้ คือการสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัลสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย
ที่ผ่านมาประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีความก้าวหน้าอย่างมากในการเชื่อมต่อระหว่างกันผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แต่ในขณะเดียวกัน ประชากรทั่วภูมิภาคอีกราวครึ่งหนึ่งกลับยังเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิง เป็นกลุ่มที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีในโลกดิจิทัลน้อยที่สุด
บทความยังชี้ว่า ช่วง 2-3 ปีจากนี้ เป็นโอกาสสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการเรียนรู้ประสบการณ์จากวิกฤตโควิด และหันมาสร้างความสำเร็จในการพัฒนาโดยคำนึงถึงประชากรผู้สูงอายุและการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลที่รวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ง่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ เลขาธิการ ESCAP ยังชี้ถึงบทบาทของประชาคมโลกในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัลสำหรับประชาชนทุกวัย โดยในการทบทวนและประเมินผล ‘แผนปฏิบัติการระหว่างประเทศของมาดริดว่าด้วยผู้สูงอายุ (Madrid International Plan of Action on Ageing: MIPAA)’ ครั้งที่ 4 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ มีการเน้นย้ำการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ให้พัฒนานโยบายและแผนปฏิบัติการเพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมทางดิจิทัลสำหรับประชาชนทุกวัย
หนึ่งในนโยบายเหล่านี้ คือการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลและจำกัดช่องว่างในทักษะดิจิทัลของผู้สูงอายุ ผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมแบบ Peer-to-Peer หรือการฝึกอบรมระหว่างผู้สูงอายุกับคนรุ่นเยาว์
นอกจากนี้ ยังเน้นความสำคัญสูงสุดในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตที่ราคาไม่แพงและเชื่อถือได้ ตลอดจนสนับสนุนการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เพิ่มศักยภาพในการใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมทางสังคมได้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ MIPAA ในการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ลดความเสี่ยงและช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเชื่อมต่อทางดิจิทัลน้อยที่สุด แต่ก็เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ประเทศต่างๆ จะต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อสร้างความตระหนักรู้และสอนผู้สูงอายุให้มีความระมัดระวังในการใช้งานเทคโนโลยีออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดีย
ภาพ: Photo by Jens Kalaene/picture alliance via Getty Images
อ้างอิง: