×

เมื่อ ‘ความไวเป็นเรื่องของปีศาจ’ กับความเก่งกาจของ เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์

08.08.2022
  • LOADING...
เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์

HIGHLIGHTS

  • ความไวของฮาลันด์มากเสียจนที่เมื่อถึงบอลแล้วยังไม่มีกองหลังคนไหนตามทัน ทำให้เขามีเวลา ‘จรด’ ด้วยการเปิดองศาของร่างกายให้เข้าเท้าซ้ายข้างถนัด ก่อนที่จะเลือกมุมยิงที่เสาไกลเข้าไปอย่างเลือดเย็น
  • นักวิเคราะห์จำนวนมากได้โอกาสตั้งคำถามถึงทั้งแมนฯ ซิตี้ และฮาลันด์ หลังจบเกมคอมมิวนิตี้ ชิลด์ โดยบอกว่าเห็นได้ชัดว่าสไตล์การเล่นของทีมแชมป์อังกฤษกับศูนย์หน้าคนใหม่ของพวกเขา ซึ่งเป็นนักเตะที่กวาร์ดิโอลาอดทนรอคอยมานานเกือบ 2 ปี ดูยังไม่เข้ากัน

ผมเคยจินตนาการถึงการครอสบอลจากริมเส้นของ เควิน เดอ บรอยน์ ที่ทะลุแนวรับเหมือนการลากเส้นจากฝั่งขวาเข้ามาที่กลางประตู โดยที่มี เออร์ลิง เบราต์ ฮาลันด์ โฉบเข้ามาโดยที่กองหลังไม่ทันรู้ตัว และเมื่อรู้ตัวอีกทีบอลก็ตุงตาข่ายไปแล้ว

 

แต่ภาพในจินตนาการนี้แตกต่างจากภาพของจริงที่ได้เห็นในเกมที่ลอนดอนสเตเดียม – เกมที่ถือเป็นการแจ้งเกิดอย่างงดงามของกองหน้าตัวเป้าที่อันตรายที่สุดในโลกเวลานี้ – เมื่อเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยียมแทงทะลุช่องด้วยน้ำหนักระดับเท้าชั่งทอง (ซึ่งลูกก็ยังโค้งเหมือนการวาดเส้นอยู่ดี) ให้ฮาลันด์วิ่งสปีดทะลุแนวรับเข้าไปถึงในกรอบเขตโทษ

 

ความไวของฮาลันด์มากเสียจนที่เมื่อถึงบอลแล้วยังไม่มีกองหลังคนไหนตามทัน ทำให้เขามีเวลา ‘จรด’ ด้วยการเปิดองศาของร่างกายให้เข้าเท้าซ้ายข้างถนัด ก่อนที่จะเลือกมุมยิงที่เสาไกลเข้าไปอย่างเลือดเย็น


มันเป็นประตูที่ดูง่ายดายเหลือเกินสำหรับตัวของเขาเองและแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

และมันก็เป็นประตูที่ส่งสัญญาณเตือนกองหลังทุกทีม ไม่เฉพาะในพรีเมียร์ลีก แต่ข้ามไปถึงคู่แข่งทุกทีมที่จะลงชิงชัยในศึกยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกฤดูกาลนี้

 

เราไม่สามารถประมาทนักเตะที่มีความไวเหมือนปีศาจคนนี้ได้จริงๆ เพราะเพียงเผลอกะพริบตาครั้งเดียว เขาสามารถฉีกหนีคู่แข่งไปเล่นงานจุดตายได้ทันที โดยสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ตอนนี้ฮาลันด์อยู่ในทีมที่สร้างสรรค์เกมรุกได้ดีและหลากหลายที่สุดในโลก

 

ลูกจ่ายจากเดอ บรอยน์ เป็นแค่หนึ่งในคนที่พร้อมจะประเคนโอกาสมากมายให้ เช่นเดียวกับที่ อิลคาย กุนโดกัน แทงทะลุช่องให้เขาฉีกเข้าไปในเขตโทษ ก่อนจะโดน อัลฟอนโซ อาเรโอลา ผู้รักษาประตูตัวสำรองของเวสต์แฮมที่เพิ่งจะลงสนามมาแทน ลูคัส ฟาเบียงสกี ซึ่งโชคร้ายได้รับบาดเจ็บ (ก็ปะทะกับฮาลันด์อีกนั่นแหละ) รวบแบบหมดท่าเพราะตามความเร็วไม่ทัน

 

ไม่นับลูกครอสจากริมเส้นที่เกมแรกอาจจะยังทำงานได้ไม่ดีนัก แต่ก็พอมองเห็นจากลูกที่ ฟิล โฟเดน บรรจงเปิดเข้าไปที่กลางประตู ฮาลันด์ก็เป็นคนที่ทะยานขึ้นโขกก่อนใคร ซึ่งเคราะห์ดีสำหรับเวสต์แฮมที่ลูกโหม่งอาจจะไม่ใช่อาวุธหลักของกองหน้ารายนี้

 

แต่ใครจะรู้ครับ เมื่ออยู่กับอัจฉริยะอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอลา ปีศาจตนนี้จะเก่งขึ้นอีกแค่ไหน?

 

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนที่ฤดูกาลจะเปิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจบเกมเอฟเอ คอมมิวนิตี้ ชิลด์ ซึ่งแมนฯ ซิตี้ พ่ายต่อลิเวอร์พูลไป 1-3

 

เกมนั้นมีการพูดถึงซิตี้และฮาลันด์กันหนาหู เพราะดาวยิงผู้เป็นบุตรชายของ อัลฟ์-อิงเก ฮาลันด์ ดาวเตะแข้งโหดที่เคยค้าแข้งกับหลายสโมสรในอังกฤษ เหมือนเจอ ‘รับน้อง’ จากหนึ่งในกองหลังที่ดีที่สุดในโลกอย่าง เวอร์จิล ฟาน ไดจ์ค

 

“เขาชินกับฟุตบอลเยอรมนีมากไป ฮาลันด์คิดว่าเขาอยู่คนเดียวแล้ว แต่หลังจากนั้นฟาน ไดจ์ค ก็โผล่มา และพูดว่ายินดีต้อนรับสู่พรีเมียร์ลีก” เซร์คิโอ อเกวโร อดีตกองหน้ารุ่นพี่ผู้เป็นตำนานของชาวซิติเซนส์ออกความเห็น

 

​​

 

ขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนมากได้โอกาสตั้งคำถามถึงทั้งแมนฯ ซิตี้ และฮาลันด์ โดยบอกว่าเห็นได้ชัดว่าสไตล์การเล่นของทีมแชมป์อังกฤษกับศูนย์หน้าคนใหม่ของพวกเขา ซึ่งเป็นนักเตะที่กวาร์ดิโอลาอดทนรอคอยมานานเกือบ 2 ปี ดูยังไม่เข้ากัน

 

กว่าจะปรับจูนให้เข้ากันจะใช้เวลานานแค่ไหน? และจะสามารถปรับจูนให้เข้ากันได้จริงไหม?

 

หนึ่งในนักวิจารณ์ที่ร่วมวงด้วยคือ โจนาธาน วิลสัน นักเขียนเจ้าของหนังสือ Inverting the Pyramid: The History of Football Tactics ที่เขียนบทความลงใน The Guardian ว่าซิตี้จะสามารถใช้งาน ‘จุดเด่น’ ของฮาลันด์ได้จริงไหม?


คำถามนี้น่าสนใจตรงที่แม้จะไม่มีกองหน้าอย่างฮาลันด์ หรือแม้แต่กองหน้าอาชีพคนไหนเลยก็ตาม ซิตี้ในยุคนี้เป็นทีมที่ใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์แบบมากที่สุด ไม่เพียงแค่ในเรื่องของระบบการเล่นที่ล้ำลึก แต่รวมถึงนักเตะในทีมก็ล้วนเป็นยอดมือกระบี่ของวงการ ความสมดุลทั้งในเกมรับและเกมรุก ไปจนถึงหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อ

 

ขนาดไม่มี ‘หมายเลข 9’ พวกเขายังสอยแชมป์เอาเป็นว่าเล่น แล้วทำไมถึงซื้อนักเตะที่ดูแล้วเหมือนไม่น่าจะเข้ากับสไตล์การเล่นของทีมมา?

 

ในมุมมองของวิลสัน การมาของฮาลันด์มีเป้าหมายที่ไปไกลกว่าพรีเมียร์ลีก กองหน้ารายนี้มาเพื่อทำให้ทีมพิชิตยุโรปคว้าถ้วยแชมเปียนส์ลีกให้ได้ เพราะเป็นระยะเวลาร่วมทศวรรษแล้วที่โคตรกุนซืออย่างเป๊ปเองก็ไม่เคยพาทีมเป็นแชมป์ได้อีกเลย

 

บางครั้งก็แพ้โชคชะตา บางครั้งก็แพ้เพราะวิธี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ต้องเจอกับทีมที่เก่งและแกร่งที่สุดในระดับที่ไม่ห่างกันมาก

 

นักเตะอย่างเออร์ลิง​ ฮาลันด์ ซึ่งเป็นกองหน้าในรูปแบบที่แตกต่างจากที่มี ด้วยความเป็นศูนย์หน้าที่มีความแข็งแกร่งสูง มีความเร็วเหมือนรถฟอร์มูลาวัน และมีสัญชาติญาณในการล่าตาข่ายที่น่าเหลือเชื่อ มีโอกาสที่จะเป็น ‘คำตอบสุดท้าย’ ที่จะพาแมนฯ ซิตี้ ไปถึงฝัน

 

เพียงแต่มันก็มีราคาที่ต้องจ่าย นอกจากเงินค่าตัวที่ต้องให้ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แล้ว ซิตี้ที่เหมือนสำเร็จวิชาศาสตร์ลูกหนังระดับคัมภีร์เทวดาต้องสละทุกสิ่ง ลืมทุกอย่าง มาเริ่มต้นศึกษาวิชาแขนงใหม่แบบคนไร้ตัวตน

 

ในเกมคอมมิวนิตี้ ชิลด์ ในขณะที่เขาพยายามวิ่งไปยังพื้นที่ว่างแต่บอลมาไม่ถึง และในภาพรวมแล้วทีมก็เล่นไม่ดี ส่วนตัวก็เล่นไม่ได้

 

แต่กระนั้นก็ยังมองเห็น ‘ประกาย’ บางอย่าง จากจังหวะท้ายเกมที่เขาสลัดตัวประกบเพื่อขยับไปรออยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถจบสกอร์ได้ แม้ว่าสุดท้ายในเกมนั้นมันจะจบลงด้วยความว่างเปล่า เพราะโอกาสที่ดีที่สุดนั้นเขายิงชนคาน

 

มาถึงเกมกับเวสต์แฮม ในช่วงต้นของครึ่งแรกความรู้สึกก็ยังบอกว่าไม่แตกต่างจากเกมคอมมิวนิตี้ ชิลด์ แต่ความแตกต่างมาเกิดขึ้นเมื่อนักเตะของซิตี้ค่อยๆ เริ่มปรับจังหวะการเล่นกันเองในระหว่างเกม จากที่ครองบอลไม่อยู่ก็ครองบอลได้ จากที่สร้างเกมไม่ได้ก็เริ่มเจาะได้มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ระหว่างนั้นทีมก็ปรับจูนกับฮาลันด์เหมือนกัน บอลเรียดบ้าง โด่งบ้าง จนทุกอย่างเริ่มเข้าเค้า

 

สุดท้ายก็อย่างที่บอกไปข้างต้น การแทงบอล 2 ครั้งของกุนโดกันและเดอ บรอยน์ นำไปสู่ 2 ประตูของแมนฯ ซิตี้ และ 2 ประตูของฮาลันด์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการวิ่งฉีกแนวรับให้ขาดกระจุยอย่างง่ายดายในเกมนี้ 

 

เหมือนที่ใครหลายคนชอบบอก ‘ความไวเป็นเรื่องของปีศาจ’

 

เราได้เห็น ‘ปีศาจสีฟ้า’ กันเต็มๆ แล้วในวันนี้ โดยที่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ปีศาจตนนี้ยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังที่มีในตัวออกมาอย่างเต็มที่ด้วยซ้ำไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X