วันนี้ (9 พ.ย.) บริเวณศาลพระพรหม เอราวัณ แยกราชประสงค์ คึกคักหนาแน่นกว่าทุกวัน ประชาชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ต่างหลั่งไหลมาสักการะศาลพระพรหม เอราวัณ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาการก่อสร้างครบ 61 ปี
สื่อมวลชนและรายงานหลายฉบับล้วนอ้างประวัติความเป็นมาของศาลพระพรหม เอราวัณ จากวิกิพีเดียว่า ศาลพระพรหม เอราวัณ แยกราชประสงค์ ถูกสร้างขึ้นมาเนื่องจากพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จัดสร้างโรงแรมเอราวัณ แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศในปี 2494
แต่ในช่วงแรกของการก่อสร้างได้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี 2499 บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรม ได้ติดต่อพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. อดีตนายแพทย์ใหญ่กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม
พลเรือตรีหลวง สุวิชานแพทย์ ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม ‘เอราวัณ’ นั้นเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขคือจะต้องขอพรจากท้าวมหาพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม จึงได้มีการตั้งศาลพระพรหม ออกแบบตัวศาลโดย นายระวี ชมเสรี และหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญท้าวมหาพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499
ศาลพระพรหม เอราวัณ มีชื่อเสียงในการบนบานขอลูก โดยมีเรื่องเล่าต่อกันว่าคนฮ่องกงและไต้หวันเคยมาบนบานขอลูกกับศาลพระพรหมแห่งนี้แล้วได้สมปรารถนา ชื่อเสียงของศาลพระพรหม เอราวัณ จึงได้รับการบอกต่อจนโด่งดัง ชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ จึงนิยมเดินทางมาสักการะขอพร
ครึ่งศตวรรษ ศาลพระพรหม เอราวัณ มาพร้อมความสูญเสีย
21 มีนาคม 2549 องค์ท้าวมหาพรหมถูกชายสติไม่ดีทุบแตกละเอียดเหลือแต่เพียงฐาน จากนั้นชะตาชีวิตของชายสติไม่ดีดังกล่าวต้องสิ้นสุดลงเมื่อถูกประชาชนในบริเวณนั้นรุมทำร้ายด้วยความโกรธแค้น โดยนอนเสียชีวิตห่างจากศาลพระพรหมเพียง 20 เมตร
ความเสียหายของท้าวมหาพรหมเป็นจุดสนใจหลักของผู้คน บางคนถึงกับร้องไห้ที่ท้าวมหาพรหมถูกทำลาย พร้อมเชื่อว่าเป็นเวรกรรมที่ชายสติไม่ดีผู้นั้นควรได้รับ
สุดท้ายพ่อของชายสติไม่ดีคนนั้นได้แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยภายหลังทราบชื่อผู้ก่อเหตุคือ นายธนกร ภักดีผล อายุ 27 ปี มีอาการสติไม่ดีหลังเข้ารับการเกณฑ์ทหาร รักษาตัวอยู่ 6 ปีจึงก่อเหตุขึ้น จากนั้นมีการจับตัวคนรุมทำร้ายได้ 2 คน แต่ดูเหมือนสังคมไทยจะตัดสินโทษตายให้กับชายสติไม่ดีผู้นี้ไปเรียบร้อยแล้วพร้อมเหตุผล ‘เวรกรรมตามทัน’
สิงหา ’58 คดีประวัติศาสตร์ ระเบิดศาลพระพรหม เอราวัณ
คนไทยคงไม่ลืมเหตุระเบิดสี่แยกราชประสงค์ บริเวณศาลพระพรหม เอราวัณ ในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 มีผู้บาดเจ็บ 163 คน และเสียชีวิตกว่า 20 คน
หลังเหตุระเบิด มีการเผยแพร่ภาพกล้องวงจรปิดและออกหมายจับ ‘ชายเสื้อเหลือง’ ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดบริเวณศาลพระพรหม เอราวัณ รวมถึง ‘ชายเสื้อฟ้า’ ผู้ต้องสงสัยวางระเบิดท่าเรือสะพานสาทร
จนที่สุดมีการจับกุมตัวนายอาเดม คาราดัก และนายเมียไรลี ยูซูฟู โดยตำรวจชี้ว่านายอาเดมคือชายเสื้อเหลืองที่ก่อเหตุวางระเบิดบริเวณศาลพระพรหม เอราวัณ ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม เนื่องจากรูปพรรณสันฐานของชายเสื้อเหลืองในภาพวงจรปิดกับรูปร่างจริงของนายอาเดมไม่ใกล้เคียงกัน
ขณะที่ทางการไทยปฏิเสธว่า เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่ ‘การก่อการร้าย’ แต่เป็น ‘การก่อวินาศกรรม’
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยว่า คดีระเบิดราชประสงค์ผ่านไป 2 ปีแล้ว แต่ยังไร้ความคืบหน้า มีการสืบพยานได้ 2 ปาก จาก 447 ปาก โดยอ้างว่าการสืบพยานต้องรอล่ามแปล 3 ภาษา ล่ามคนแรกต้องแปลจากไทยเป็นอังกฤษ แล้วให้ล่ามอีกคนแปลจากอังกฤษเป็นภาษาอุยกูร์ นอกจากนี้ยังปรากฏว่านายอาเด็มและนายเมียไรลีเคยตะโกนฟ้องสื่อมวลชนระหว่างเดินทางขึ้นศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ว่าทั้งคู่ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมและทรมาน โดยคดีดังกล่าวถูกพิจารณาไต่สวนโดยศาลทหาร ความคืบหน้าเป็นไปอย่างล่าช้า คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงปี 2565 จึงจะสืบพยานแล้วเสร็จ
ความล่าช้าของคดีสวนทางกับการบูรณะศาลพระพรหม เอราวัณ โดยหลังเหตุระเบิดผ่านไปเพียง 3 วัน กทม. ได้เร่งทำความสะอาดพื้นที่โดยรอบที่เกิดเหตุ แรงระเบิดทำให้องค์ท้าวมหาพรหมได้รับความเสียหายประมาณ 10 จุด จุดที่ใหญ่ที่สุดคือบริเวณคาง โดยสำนักช่างสิบหมู่ได้เข้าไปบูรณะตั้งแต่วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาท โดยมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด