×

กสศ. เร่งจัดสรรทุนเสมอภาครอบแรก ให้นักเรียนยากจนพิเศษ 8 แสนคน ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
09.07.2025
  • LOADING...
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. แถลงข่าวโอนทุนเสมอภาครอบแรกให้เด็กยากจนทั่วประเทศ

วานนี้ (8 กรกฎาคม) ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2568 กสศ. จะจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มที่ได้รับทุนต่อเนื่อง (รอบที่ 1) ตั้งแต่ช่วงชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 ในสถานศึกษามากกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศใน 6 สังกัด จำนวนราว 800,000 คน งบประมาณ 1,536 ล้านบาท ได้แก่ 

 

  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 
  • กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 
  • กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) 
  • สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) 
  • สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
  • สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.)

 

สำหรับนักเรียนกลุ่มใหม่ที่โรงเรียนจะคัดกรองเข้ามา กสศ. เปิดระบบให้ครูประจำชั้นที่ดำเนินการเยี่ยมบ้านในช่วงเปิดเทอม 1/2568 สามารถบันทึกข้อมูลแบบขอรับเงินอุดหนุนนักเรียน หรือ นร/กสศ.01 ระหว่างวันที่ 7-21 กรกฎาคม 2568 ผ่านเว็บไซต์ https://cct.eef.or.th/ หากมีข้อสงสัย คุณครูสามารถสอบถามได้ที่ 0 2079 5475 กด 1 หรือแอด LINE เพิ่มเพื่อนที่ LINE @cctthailand โดยนักเรียนกลุ่มใหม่นี้ กสศ. จะประกาศรายชื่อนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองในวันที่ 21 สิงหาคม 2568

 

“ในช่วงเปิดเทอมทุกปีเป็นฤดูกาลลงพื้นที่เยี่ยมบ้านของคุณครูประจำชั้นเพื่อสำรวจความเป็นอยู่ของลูกศิษย์ กสศ. ได้เปิดระบบให้คุณครูสามารถกรอกข้อมูลสถานะครัวเรือนของนักเรียนที่คุณครู พบว่าสมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่ 3,043 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์ได้รับการพิจารณาสนับสนุนทุนเสมอภาค ซึ่งแทบทุกปีจะมีครัวเรือนมากกว่า 2 ล้านครัวเรือนได้รับการเสนอข้อมูลผ่านระบบเข้ามาให้ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดทั้ง 6 หน่วยงานได้พิจารณาจัดสรรทุนเสมอภาค หากนักเรียนอยู่ในครัวเรือนยากจนหรือยากจนพิเศษ น้องๆ ก็จะได้รับการสนับสนุนเงินปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนและทุนเสมอภาค อย่างต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา ในวงเงินตั้งแต่ 1,000-7,200 บาทต่อปีการศึกษา ตามระดับการศึกษา ระดับความยากจนของครัวเรือน และตามที่ กสศ. และหน่วยงานต้นสังกัดทั้ง 6 สังกัดได้รับการจัดสรรงบประมาณจากทางรัฐบาลมาในแต่ละปี”

 

ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ร่วมมือกับ 6 หน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษากว่า 30,000 แห่ง เพื่อสำรวจ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ นำมาสู่ระบบฐานข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษทั้ง 1.3 ล้านคน เกิดระบบการช่วยเหลือนักเรียน ระบบการชี้เป้าและส่งต่อการสนับสนุนโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ จากแหล่งทุนต่างๆ ทั้ง ภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ และประชาชน เช่น กสศ. ส่งข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคที่ยืนยันสิทธิ์ในระบบ TCAS ให้มหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาส่งเสริมหรือดูแลนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง และรวบรวมแหล่งทุนการศึกษาภายใต้โครงการส่องทางทุน เพื่อช่วยผลักดันให้นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสที่ต้องการศึกษาในระดับสูงกว่าภาคบังคับได้เข้าถึงแหล่งทุนการศึกษากว่า 156 แหล่งทุน และมีทุนการศึกษาจำนวนกว่า 451 ประเภททุนการศึกษา

 

สำหรับทุนเสมอภาคของ กสศ. เป็นเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข สำหรับเด็กเยาวชนในครัวเรือนที่มีความยากจนระดับที่รุนแรง ในระดับที่แม้จะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ยังมีอุปสรรคทำให้เด็กไม่สามารถมาเรียนได้ เช่น ไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอาหาร ความห่างไกล ทุรกันดาร ขาดแคลนของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน และอุปกรณ์การเรียน กสศ. จึงจัดสรรทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในรายการที่นอกเหนือจากรัฐจัดสรรให้ เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียน ค่าอาหาร โดยนักเรียนผู้รับทุนต้องรักษาอัตราการมาเรียนไม่ให้น้อยกว่าร้อยละ 85 และมีพัฒนาการที่สมวัยตามเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

 

ผลลัพธ์ของโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนยากจนพิเศษหลุดออกจากระบบก่อนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ผ่านอัตราการคงอยู่ในระบบการศึกษา และอัตราการศึกษาต่อในช่วงชั้นรอยต่อของการศึกษา (อ.3, ป.6, ม.3) 

 

ล่าสุดในปี 2567 มีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษจำนวนรวม 1.34 ล้านคน ได้รับเงินอุดหนุนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องด้านการศึกษา พบอัตราการคงอยู่ในระบบการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 97.88

 

นอกจากนี้ กสศ. ยังพัฒนาต้นแบบระบบสารสนเทศเพื่อการคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมทุกมิติ (OBEC CARE) นำร่องใน 29 เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา จำนวน 1,136 โรงเรียน ใช้ข้อมูลต่อยอดในการส่งเสริมพัฒนาและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนกว่า 280,000 คน และการจัดทำมาตรการป้องกันการเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเตรียมพร้อมขยายทั่วประเทศในปีการศึกษา 2568

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising