×

พลิกดู กฎหมายสมรสเท่าเทียม พบหลายหน่วยงานเห็นชอบหลักการ ลุ้นชะตากรรมต่อในสภา คู่ขนานกฎหมายคู่ชีวิต

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2022
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม

‘37 วัน มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้ถึง 54,445 ความคิดเห็น’ นี่คือตัวเลขที่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ ป.พ.พ. หรือที่เรียกกันอย่างเข้าใจว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียม

 

เมื่อลองเปิดความเห็นจากเอกสารมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังดึงร่างไปศึกษา 60 วัน พบหลายหน่วยงานตอบเห็นชอบกับหลักการ อาทิ

 

สำนักงบประมาณเห็นชอบหลักการ ยืนยัน ไม่มีข้อขัดข้องทางงบประมาณ

 

ขณะที่กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง เห็นว่าทำให้สถานะของบุคคลหลากหลายทางเพศเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกับชายหรือหญิง และเมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับเงินสวัสดิการต่างๆ จากรัฐของคู่สมรสแม้จะเป็นบุคคลเพศเดียวกันก็ตาม ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างไปจากร่างกฎหมายคู่ชีวิต ที่ยังไม่บัญญัติรองรับ

 

THE STANDARD ชวนมองเส้นทางการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการเร่งเห็นชอบร่างกฎหมายคู่ชีวิต ก่อนจะถึงวาระพิจารณาในวันพรุ่งนี้ (15 มิถุนายน) 

 

1. จุดตั้งต้นการเสนอ และการรับฟังความเห็นที่มากสุดทุบสถิติเป็นประวัติการณ์

 

พบหลายหน่วยงานเห็นชอบหลักการ แต่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกตว่า ควรแยกบัญญัติกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ

 

  • 18 มิถุนายน 2563: ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง (สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล) ต่อประธานสภา 
  • 2 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2563: สภาเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นต่อร่างสมรสเท่าเทียม เพียง 37 วัน มีผู้แสดงความคิดเห็นถึง 54,445 ความคิดเห็น
  • แบ่งตามความเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนี้ นอกจากนักเรียน นักศึกษา อาชีพทั่วไปอื่นๆ พบว่ามีคนในศาลยุติธรรมจำนวนถึง 114 คน , สำนักงานอัยการสูงสุด 14 คน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 39 คน, มหาดไทย 44 คน ร่วมให้ความเห็น
  • สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สรุปความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ พบ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานศาลยุติธรรม เห็นชอบในหลักการของกฎหมายนี้ 
  • แต่สำนักงานอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่า ควรแยกบัญญัติกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ เพราะถ้ามีการบังคับใช้แล้วมีปัญหาในภายหลัง การแก้ไขเพิ่มเติมจะทำได้สะดวก และไม่กระทบสิทธิหน้าที่ในเรื่องครอบครัวระหว่างชายกับหญิง ส่วนการเสนอในรูปแบบร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจกระทบสิทธิหน้าที่ของชายและหญิงที่เป็นคู่สมรสอยู่ตามกฎหมายเดิม 
  • สำหรับการวิเคราะห์ในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า หากมีการใช้กฎหมายนี้ บุคคลที่เป็นข้าราชการที่สมรสกับคู่สมรสเพศเดียวกัน ย่อมมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2543 อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้มีสิทธิเบิกมากขึ้น จะส่งผลต่องบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นภาระทางการคลังของประเทศได้

 

2. ร่างกฎหมายคู่ชีวิต ครม. ส่งมาประกบ แบบหายใจรดต้นคอ ก่อนจะถูกวิปรัฐบาลตีกลับ ว่าควรคำนึงหลักศาสนา

 

  • 8 กรกฎาคม 2563: ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายคู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่กระทรวงยุติธรรมจัดทำ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) พิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร
  • 15 ธันวาคม 2563: ครม. กลับมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมวิปรัฐบาล ให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับกลับไปทบทวนหลักการความจำเป็นในการมีกฎหมายให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยคำนึงถึงกฎหมายอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันและหลักศาสนา

 

3. กฎหมายสมรสเท่าเทียมเข้าสภา แต่ถูกถ่วง 60 วัน รัฐบาลขอไปศึกษา หลายหน่วยงานยืนยันเห็นชอบหลักการ ขณะที่ ครม. เร่งเห็นชอบร่างกฎหมายคู่ชีวิต ชงประกบ

 

  • 9 กุมภาพันธ์​ 2565: สภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงข้างมาก เห็นชอบให้ส่งร่าง กฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ที่กำลังเข้าสู่วาระ 1 ในสภา กลับไปให้ ครม. พิจารณาก่อน และรอผล 60 วัน 
  • 16 มีนาคม 2565: สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งถือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ทำความเห็นว่า ครม. ไม่สมควรเห็นชอบรับหลักการ ร่าง กฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยเหตุผล 3 ประเด็น 1 ใน 3 ประเด็นมีการนำแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2564 กรณี ป.พ.พ. มาตรา 1448 เรื่องการสมรสทำได้เฉพาะหญิงชายเท่านั้น มาพิจารณาด้วยและเห็นว่า ควรตราเป็นกฎหมายเฉพาะ เช่น ร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่าการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไปอันมีการยึดถือหลักการตามวิถีธรรมชาติของมนุษย์และวิถีชีวิตดั้งเดิม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของสังคมไทยมาอย่างช้านานว่า การสมรสกระทำได้เฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
  • แม้ว่าบทสรุปของกฤษฎีกาจะชงให้ไม่เห็นด้วย หากพิจารณาความเห็นจากหน่วยงานที่จัดรับฟัง พบว่าหลายหน่วยงานเห็นชอบกับหลักการทั้งสิ้น เช่น 
  • สำนักงบประมาณ บอกเห็นชอบหลักการ และไม่มีข้อขัดข้องทางงบประมาณ 
  • กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เห็นชอบเพราะสาระสำคัญส่งเสริมการก่อตั้งครอบครัวของบุคคล 
  • กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เห็นชอบ และยืนยันว่าเป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม เช่น ICCPR ที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประกันความเสมอภาคแห่งสิทธิและความรับผิดชอบของคู่สมรสในการก่อตั้งครอบครัวโดยเท่าเทียมไม่แบ่งแยกชายหญิง 
  • กรมองค์การระหว่างประเทศ ย้ำอีกเสียงว่า ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต เรียกร้องให้ไทยรับรองคู่สมรสเพศเดียวกัน หรือบุคคลซึ่งได้จดทะเบียนรับรองการใช้ชีวิตคู่ในสถานะคู่สมรส 
  • กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง เห็นว่าทำให้สถานะของบุคคลหลากหลายทางเพศเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกับชายหรือหญิง และเมื่อร่างกฎหมายนี้มีผลใช้บังคับย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิในการได้รับเงินสวัสดิการต่างๆ จากรัฐของคู่สมรสแม้จะเป็นบุคคลเพศเดียวกันก็ตาม ซึ่งเป็นกรณีที่แตกต่างไปจากร่างกฎหมายคู่ชีวิตที่ยังไม่บัญญัติรองรับ
  • 29 มีนาคม 2565: ครม. รับทราบผลการพิจารณาของกฤษฎีกา และเร่งให้กระทรวงยุติธรรมเร่งพิจารณาร่างกฎหมายคู่ชีวิต และร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง (ฉบับกระทรวงยุติธรรม) แล้วเสนอ ครม. เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว
  • 20 เมษายน 2565: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเผย ได้ข้อสรุปหลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและกลุ่มหลากหลายทางเพศ และกลุ่มศาสนา เกี่ยวกับร่างกฎหมายคู่ชีวิต พร้อมทั้งได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชศึกษาวิจัย 
  • 30 พฤษภาคม 2565: กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้ความเห็นต่อวิปรัฐบาล กรณีร่างสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล ด้านวิปรัฐบาลย้ำเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกา และยินดีสนับสนุนการดำเนินการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….  
  • 7 มิถุนายน 2565: เพียง 1 วัน ก่อนที่ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ของสภา คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งร่างนี้รัฐบาลบอกว่ารับฟังความคิดเห็นทุกมิติแล้ว ผู้แทนกลุ่มศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ไม่ขัดข้อง เพราะเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่รองโฆษกรัฐบาลก็ทิ้งท้ายว่า “สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการเป็นคู่ชีวิตในกฎหมายฉบับอื่นๆ จะมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้” 
  • 8 มิถุนายน 2565: ท้ายสุดวาระการพิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็ถูกเลื่อนไปสัปดาห์หน้า คาดว่าร่างกฎหมายคู่ชีวิตคงได้มาประกบการพิจารณาด้วยพร้อมๆ กัน จึงต้องมาลุ้นต่อว่า ปาฏิหาริย์แบบร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า จะเกิดกับ ‘ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ด้วยหรือไม่ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising