×

33 ปี เอปสัน ประเทศไทย กับแคมเปญ ‘33 x Trees’ ร่วมพิทักษ์พงไพรจากไฟป่า

โดย THE STANDARD TEAM
29.03.2024
  • LOADING...

ในปัจจุบันแนวคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ (Sustainability) กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างนำมาใช้กำหนดนโยบายหลักของประเทศหรือองค์กร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและส่งต่อสังคมที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป 

 

โดย ‘ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น’ (Seiko Epson Corporation) ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมการพิมพ์และการฉายภาพสัญชาติญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานกว่า 80 ปี คือหนึ่งในบริษัทที่มี DNA ของความยั่งยืนอันโดดเด่น ซึ่งมีส่วนช่วยประชาคมโลกรับมือกับภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมถึงผลักดันความยั่งยืนผ่านสินค้าและบริการ ตลอดจนกิจกรรมเพื่อสังคมและแนวทางการทำธุรกิจขององค์กร 

 

ไซโก้ เอปสัน กับภารกิจเพื่อความยั่งยืน

 

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษ ไซโก้ เอปสัน ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ช่วงเริ่มแรกของการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และกลายเป็นบริษัทแรกของโลกที่สามารถกำจัด ‘สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน’ หรือ ‘ซีเอฟซี’ (CFC) ซึ่งทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ ออกจากกระบวนการผลิตของเอปสันได้ทั้งหมด และเดินหน้าสนับสนุน ‘เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติอย่างจริงจังในเวลาต่อมา

 

ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2023 บริษัทประสบความสำเร็จครั้งสำคัญอีกครั้ง หลังจากที่ไซโก้ เอปสัน กลายเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นที่สามารถหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาด โดยใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนได้แบบ 100% โดย DNA ของความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมนี้ได้กระจายไปยังเอปสันสาขาต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเอปสัน ประเทศไทย

 

เอปสัน ประเทศไทย กับมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม

 

ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร เอปสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “สภาพแวดล้อมของโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับผลกระทบเชิงลบมากมาย และทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะนิ่งนอนใจได้” 

 

เอปสัน ประเทศไทย จึงขานรับ ‘Environmental Vision 2050’ ซึ่งเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระยะยาวขององค์กรแม่อย่างไซโก้ เอปสัน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะข้อที่ 13 ว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผ่านการนำเสนอนวัตกรรม (Innovation) และแนวทางที่ตอบโจทย์การพิมพ์ ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่าง ‘ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ (CO2) และช่วยประหยัดพลังงาน อีกทั้งยังดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ ‘ซีเอสอาร์’ (CSR) อย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อกระตุ้นการรับรู้และสร้างจิตสำนึกในทุกภาคส่วนขององค์กรอีกด้วย

 

ยรรยงยังกล่าวอีกว่า “เรากำลังอยู่ในทศวรรษที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เราได้เห็นผลกระทบที่รุนแรงขึ้น เกิดบ่อยขึ้นกับชีวิตผู้คนจำนวนมากขึ้น บริษัทจึงพยายามมาโดยตลอดที่จะสื่อสารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริโภค องค์กร ลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ สื่อมวลชน รวมถึงพนักงานเอปสันเอง ถึงสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจกรรมการทำซั้ง หรือการปลูกปะการังเทียมในทะเล เพื่อใช้เป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ งานสัมมนาให้ความรู้นักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจบนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก และการรีไซเคิลขยะพลาสติก เป็นต้น

 

“นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดกับประเทศไทยทุกๆ ปีก็คือไฟป่า ซึ่งทำลายทรัพยากรป่าไม้ปีละเป็นหมื่นๆ ไร่ สร้างปัญหาฝุ่นควันและอากาศที่ร้อนขึ้นในหลายจังหวัด เอปสัน ประเทศไทย ต้องการมีส่วนช่วยขยายเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่ทำลายทั้งสุขภาพของคนไทย เศรษฐกิจ และธรรมชาติของประเทศ จึงได้จัดแคมเปญ CSR ในปีที่ผ่านมาภายใต้ชื่อ ‘33 x Trees’ (THREE THREE x TREES) ในโอกาสครบรอบ 33 ปี เอปสัน ประเทศไทย และความตั้งใจที่จะช่วยรักษาผืนป่าของประเทศไทย โดยชูประเด็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สูญเสียไปจากไฟป่า”

 

 

รู้จักแคมเปญ ‘33 x Trees’ ของเอปสัน ประเทศไทย

 

แคมเปญ ‘33 x Trees’ เป็นแคมเปญที่เน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานเอปสันและครอบครัว รวมถึงสื่อมวลชน ผ่านการร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรม ‘เรื่องจริงของคนตีไฟ’ ที่ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดไฟป่า รวมถึงผลกระทบและวิธีป้องกันไฟป่า โดยผู้เข้าร่วมยังได้ประสบการณ์ดับไฟจริงโดยมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเป็นพี่เลี้ยง อีกทั้งยังได้บริจาคอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจควบคุมไฟป่าภายในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ยรรยงระบุว่า “กิจกรรมนี้ทำให้เราสัมผัสถึงความยากลำบากและความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ที่ต้องลาดตระเวนและดับไฟป่าที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อตลอดระยะเวลา 7-8 เดือนต่อปี เพราะตั้งแต่เดือนตุลาคมยาวไปถึงเดือนพฤษภาคมอีกปีจะเป็นช่วงระวังไฟป่า และในแต่ละปีก็มีผืนป่าเป็นจำนวนมากทั่วประเทศที่เสียหายจากไฟป่า ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดไฟป่าเกือบทั้งหมดมาจากฝีมือมนุษย์ และกว่าจะฟื้นฟูผืนป่าเหล่านี้ได้ต้องใช้เวลานานกว่าที่ป่าถูกเผาไปหลายสิบเท่า ดังนั้นการป้องกันจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และการป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันคน” 

 

 

กิจกรรมต่อมาคือ ‘พิธีบวชป่าลับแล’ ซึ่งเป็นพิธีบวชป่าครั้งแรกของป่าชุมชนเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยเอปสัน ประเทศไทย เลือกจัดกิจกรรมที่ป่าแห่งนี้เพราะป่าชุมชนเขาขลุงเป็นตัวอย่างของป่าที่ครั้งหนึ่งเคยเสื่อมโทรมด้วยฝีมือมนุษย์ และได้รับการฟื้นฟูจนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้งด้วยความร่วมมืออย่างดีจากผู้ใหญ่บ้านและชาวหมู่บ้านสระสี่มุม ป่าแห่งนี้มีตำนานเกี่ยวกับ ‘หมู่บ้านลับแล’ ที่เล่าขานกันมานานหลายชั่วอายุคน ในอดีตผู้คนมักตัดไม้ทำลายป่า ล่าสัตว์ และจับจองพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงอย่างมาก เขาขลุงแห่งนี้จึงกลายเป็นเขาหัวโล้น ก่อนที่จะได้รับการฟื้นฟูในปี 1987 จนป่าฟื้นคืนสภาพและได้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุมชนเมื่อปี 2019 

 

ยรรยงเล่าถึงพิธีบวชป่าลับแลว่า “เอปสันเลือกจัดกิจกรรมที่ป่าเขาขลุง เพราะป่าแห่งนี้ยังไม่เคยมีพิธีบวชป่า ซึ่งเป็นพิธีกรรมทางศาสนาพุทธที่คิดขึ้นมาเพื่อเป็นกุศโลบายให้ผู้คนรู้จักคุณค่าและความสำคัญของผืนป่า ด้วยการสร้างความเชื่อว่าผืนป่าที่ผ่านพิธีบวชเช่นเดียวกับพระในพุทธศาสนา และต้นไม้ที่ถูกห่มด้วยจีวร จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษา เมื่อคนไม่กล้าตัด ต้นไม้ก็จะเติบโตขึ้นเป็นป่าต่อไป กิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มความสำคัญให้กับป่าเขาขลุง และเพิ่มโอกาสที่ป่านี้จะอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

 

 

ขณะที่กิจกรรมสุดท้ายคือ ‘คาราวานสังฆทานต้นไม้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงศรัทธาที่จังหวัดลำปาง โดยเอปสันได้จัดขบวนรถม้าพาพนักงานและคณะสื่อมวลชนเดินทางออกจากสถานีรถไฟนครลำปาง ซึ่งเป็นจุดที่รถม้าคันแรกเดินทางมาถึงและเริ่มออกวิ่งที่เมืองลำปางเมื่อ 108 ปีที่แล้ว มุ่งหน้าไปยัง 3 วัดเก่าแก่ในลำปาง ได้แก่ วัดศรีรองเมือง วัดไชยมงคล และวัดศรีชุม เพื่อร่วมกันถวายต้นกล้าพะยูงจำนวน 333 ต้นเป็นพุทธบูชา พร้อมประกอบพิธีและประเพณีสำคัญประจำแต่ละวัด เช่น พิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีที่วัดไชยมงคล และการห่มผ้าพระธาตุที่วัดศรีชุม โดยทั้ง 3 วัดนี้ล้วนถูกสร้างขึ้นโดยคหบดีชาวเมียนมาที่เข้ามาทำกิจการป่าไม้ทั้งสิ้น ซึ่งต่างต้องการสร้างวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา และขอขมาที่ได้ทำลายบ้านของรุกขเทวดาในผืนป่า

 

นอกจากกิจกรรมเชิงปฏิบัติและลงพื้นที่แล้ว เอปสันยังได้เชิญอาจารย์วัธนา บุญยัง หนึ่งในนักเขียนฝีมือดีของไทย เจ้าของผลงานเขียนทั้งสารคดี นวนิยาย และเรื่องสั้น ที่ได้รวมเล่มตีพิมพ์มากถึง 47 เล่ม มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวจากพงไพร ประสบการณ์การท่องป่า รวมถึงความเชื่อและสิ่งลี้ลับ ในสารคดีชุด ‘Tale From The Wild’ 

 

ยรรยงกล่าวทิ้งท้ายว่า “แคมเปญ ‘33 x Trees’ เป็นชุดความพยายามของเอปสัน ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา บริษัทจะยังคงสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไซโก้ เอปสัน ในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซ CO2 เป็นลบ และตั้งเป้ายุติการใช้ทรัพยากรใต้ดินให้ได้ภายในปี 2050 พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และตลอดซัพพลายเชน โดยบริษัทจะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพและมีจุดยืนเดียวกัน เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้และสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเอปสันให้ได้มากที่สุด”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising