เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ชาวบ้านคลองนาทับ ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พบวาฬตัวหนึ่งว่ายน้ำเกยตื้นเข้ามา จึงพากันช่วยเหลือ ขณะที่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ได้สั่งการให้ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จังหวัดสงขลา ร่วมกับทีมสัตวแพทย์ของกรม ทช. ลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือทันที
วาฬตัวดังกล่าวมีลักษณะผอม การลอยตัวผิดปกติ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น พบก้อนเนื้อกระจายอยู่ทั่วลำตัว ไม่กินอาหาร มีอาการซึม ก่อนจะพบว่ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ
หลังพยายามยื้อชีวิตเป็นเวลา 5 วัน ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา วาฬตัวนี้ได้จากโลกนี้ไป โดยก่อนตายมันได้สำรอกเอาพลาสติกออกมาจำนวน 1 ชิ้น จากนั้นมีการชักเกร็งและสำรอกเอาพลาสติกออกมาอีก 4 ชิ้น
ผลการชันสูตรซากวาฬ ทีมสัตวแพทย์พบขยะจำพวกพลาสติกในส่วนต้นของกระเพาะอาหารน้ำหนัก 8 กิโลกรัม นับได้จำนวน 85 ชิ้น ซึ่งขยะดังกล่าวอุดตันบริเวณกระเพาะส่วนต้น และพบพลาสติกบางส่วนที่ถูกย่อยในกระเพาะหลัก ซึ่งขยะดังกล่าวเป็นแผ่นพลาสติก ถุงพลาสติก และห่อขนม
สาเหตุการตายหลักจึงเกิดจากขยะพลาสติกที่วาฬกินเข้าไป ทำให้เกิดการอุดตัน โดยขยะดังกล่าวเป็นขยะที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ เมื่อวาฬป่วยจึงไม่สามารถออกล่าอาหารได้เอง จึงกินพลาสติกเข้าไปเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นอาหาร ซึ่งขยะเหล่านี้มีผลทำให้อาการของวาฬแย่ลงและตายในที่สุด
สำหรับวาฬตัวนี้คือ ‘วาฬนำร่องครีบสั้น’ เป็นวาฬที่อาศัยรวมกันเป็นฝูงใหญ่บริเวณทะเลเปิดในโซนเขตร้อน พบได้ตามไหล่ทวีปและร่องน้ำลึก ในประเทศไทยเคยมีการพบเจอวาฬนำร่องครีบสั้นที่บริเวณจังหวัดพังงา จำนวน 2 ครั้งเมื่อปี 2552 และ 2553 ส่วนในฝั่งอ่าวไทยมีรายงานการเกยตื้นของวาฬชนิดนี้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือเมื่อปี 2544 และ 2553 พบเกยตื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อปี 2536 พบเกยตื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ขยะทะเล ทั้งกิน ทั้งรัด ทำสัตว์ทะเลตาย
สัตวแพทย์หญิงวัชรา ศากรวิมล สัตวแพทย์ปฏิบัติการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า โดยปกติวาฬหรือโลมามีโอกาสกินขยะทะเลได้น้อยถ้ามันไม่ป่วย แต่เมื่อมันป่วย หาอาหารไม่ได้ สมองก็จะสั่งให้กิน
แต่ทั้งนี้ไม่ใช่สัตว์ทะเลทุกตัวที่จะแยกออกระหว่างขยะกับอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มเต่าทะเล เราจะพบเต่าทะเลกินเชือก กินพลาสติกเป็นประจำ เนื่องจากอาหารในกลุ่มที่เต่าทะเลกินคือแมงกะพรุน ดังนั้นด้วยลักษณะและสีสันจึงใกล้เคียงกับพลาสติก
กรณีที่สัตว์ทะเลกินพลาสติกหรือขยะ ถ้ามีปริมาณน้อยจะสามารถขับถ่ายออกมาได้ แต่ถ้าจำนวนขยะที่กินมีเยอะหรือเป็นขยะชิ้นใหญ่จะทำให้เกิดการอุดตันในทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตายได้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากขยะนอกจากแบบที่สัตว์กินเข้าไปแล้ว ยังมีอีกแบบหนึ่งซึ่งพบบ่อยก็คือ ‘แบบที่รัดสัตว์ทะเล’ ซึ่งจะพบเยอะมากในกลุ่มเต่าทะเล ที่โดนอวนหรือเชือกขนาดยาวรัด ซึ่งสัตว์ทะเลนั้นหายใจด้วยปอด เมื่อโดนเชือกรัดก็อาจทำให้สัตว์เหล่านี้จมน้ำตายได้
นอกจากขยะที่เป็นชิ้นๆ แล้ว ที่น่ากังวลและเป็นประเด็นระดับโลกอยู่ตอนนี้คือ ‘ขยะไมโครพลาสติก’ ซึ่งกำจัดยาก มองด้วยตาไม่เห็น เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร
ไมโครพลาสติกมี 2 ประเภทคือ แบบที่เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่ เช่น ถุงพลาสติก หรือหลอด
ส่วนอีกประเภทคือพลาสติกที่ถูกผลิตให้เล็กมาตั้งแต่แรกเพื่อใช้ในครัวเรือนและอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติกในน้ำยาซักผ้า เม็ดบีดส์ เม็ดสครับในเครื่องสำอางและยาสีฟัน
ไมโครพลาสติกเหล่านี้ สัตว์ทะเลพวกแพลงตอนและหอยจะกินเข้าไปได้ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่ส่งผลกระทบไปถึงสัตว์ทะเลใหญ่ รวมถึงสัตว์หายาก
“การตายของวาฬตัวนี้สะท้อนว่า สิ่งที่เรากระทำมันไม่ได้อยู่แค่รอบตัวเรา แต่มันขยายเป็นวงกว้างมาก เพราะวาฬที่เจอเป็นวาฬน้ำลึก อาศัยอยู่บริเวณไหล่ทวีปซึ่งน้ำลึกมาก แต่ขนาดโซนน้ำลึกขนาดนั้นยังกินขยะเข้าไปได้เลย”
ชีวิตวาฬหนึ่งตัวที่สูญเสียไป อาจสะท้อนปัญหาใหญ่ที่เลวร้ายมากกว่าที่เราคิด
- จากผลการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่า ไทยทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
- อันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 ไทย และอันดับ 6 ศรีลังกา