×

ภาคอุตสาหกรรมยก ‘กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม’ โจทย์ใหญ่ส่งออกไทย วอนรัฐบาลใหม่หนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Next-GEN Industries

25.03.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรม

กลุ่มอุตสาหกรรมมองว่า กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นโจทย์ใหญ่ของภาคส่งออกไทย ซึ่งครองสัดส่วนราว 60% ของ GDP ชี้การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่รวมถึง EV ช่วยเร่งเครื่อง GDP ได้ หวังรัฐบาลใหม่ให้การสนับสนุนผ่านการสานต่อนโยบายเดิมและแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยาก 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Climate Change: ความเสี่ยงและโอกาสสำหรับประเทศไทย’ ในงาน TEA Annual Forum 2023 ภายใต้ชื่อ ‘ถึงเวลา! ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์’ จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นับเป็นความท้าทายและเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะในภาคส่งออกของไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของ GDP เนื่องจากประเทศผู้ซื้อสินค้าไทยรายใหญ่ๆ อย่างเช่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ก็ต่างตั้งกติกาด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดขึ้น ตัวอย่างเช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ 

 

ทั้งนี้ CBAM เป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้าไปในสภาพยุโรป โดยสินค้า 5 กลุ่มแรก คือ สินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม 

 

เพื่อตั้งรับและเรียนรู้ความท้าทายนี้ ส.อ.ท. ได้จัดตั้งสถาบัน Climate Change เพื่อรองรับและเรียนรู้กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่มีชื่อว่า FTIX โดยหวังว่าจะช่วยสร้างความพร้อมให้อุตสาหกรรมไทยมากขึ้น

 

Next-GEN Industries – BCG’ ตัวเปลี่ยนเกมอุตสาหกรรมไทย

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา GDP โตต่ำ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3% ต่อปีเท่านั้น ซึ่งมาจาก 2 ปัญหาสำคัญ คือ ภาวะสังคมผู้สูงอายุ และกับดักรายได้ปานกลาง โดยน่าจะต้องใช้เวลากว่า 30 ปีถึงจะก้าวเป็นประเทศรายได้สูงได้ ดังนั้นไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอุตสาหกรรมที่ใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้ GDP โตเร็วกว่านี้

 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส.อ.ท. จึงมีนโยบาย Next-GEN Industries ซึ่งประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นแชมป์อยู่ในปัจจุบัน และอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, Robotics, Automation, Digital, Bio-Fuel และ Bio-Chemical เป็นต้น

 

“ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 10-11 ของโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศลูกค้าของเราหลายประเทศเริ่มขีดเส้นแล้วว่าจะเลิกใช้รถยนต์น้ำมันภายในหลายปีข้างหน้า ดังนั้นไทยต้องรีบเปลี่ยน (Transform) ตัวเองไปเป็นฐานรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยด่วน ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคพยายามเร่งตัวขึ้นมาแทนที่ไทย” 

 

นอกจาก Next-GEN Industries แล้ว ส.อ.ท. ยังมองว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นแต้มต่อของอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยมีขนาดอุตสาหกรรม BCG ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเชื่อว่านโยบายที่ชัดเจนประกอบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ถูกจุด จะทำให้เม็ดเงินถูกดึงดูดมาที่ไทยอีกครั้ง

 

ความร่วมมือคือกุญแจแก้ปัญหา

ขณะที่ ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) มองว่า ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสไม่ใช่ความเสี่ยง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวช่วยผลักดันให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น เกิดเทรนด์ 3D ซึ่งประกอบด้วย การลดคาร์บอน (Decarbonized), การกระจายศูนย์ (Decentralized) และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัล (Digitalized) พร้อมเน้นย้ำว่าธุรกิจจะต้องปรับตัว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เพื่อทำให้เป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นจริง

 

เช่นเดียวกับ ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่ World Bank ประจำประเทศไทย ได้เปรียบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เหมือนคำคม ‘You will Never Walk Alone’ กล่าวคือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย โดยปัจจุบันไม่ใช่ปัญหาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเนื้อเดียวกับเศรษฐกิจและสังคมวิถีชีวิต

 

ขวัญพัฒน์ยังมองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ต้องได้รับความร่วมจากทุกภาคส่วน จะใช้แค่เงินจากภาครัฐไม่พอ เอกชนต้องร่วมด้วย เนื่องจากตามรายงาน Country Climate & Development Report (CCDR) ของ World Bank ประมาณการว่า ทั่วโลกต้องใช้เงินทุนถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเป้าหมาย Net Zero 

 

หวังรัฐบาลใหม่เดินเครื่องต่อ พร้อมแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยาก

ด้านเกรียงไกรเห็นสอดคล้องเช่นกันว่า ความร่วมมือจำเป็นต้องเกิดจากทุกฝ่าย พร้อมระบุว่า ตนหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าใจปัญหา ทันเกม และทันโลก สานต่อนโยบายเดิมและแก้ไขกฎระเบียบที่ยุ่งยาก โดยเชื่อว่าหากเอกชนและรัฐบาลเดินไปพร้อมกัน ประเทศไทยจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น ภายใต้ตลาดที่ยุติธรรมและมีการแข่งขันอยู่เสมอ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X