‘บี’ เจ้าของร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงย่านสีลมและย่านถนนข้าวสาร ให้สัมภาษณ์ว่าอาจถึงเวลาที่ต้องปิดกิจการภายหลังไม่อาจแบกรับต้นทุน ทั้งยังไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ จากภาครัฐ โดยบีเป็นเจ้าของร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงสองแห่ง แห่งแรกนั้นอยู่ย่านสีลม เปิดมาเป็นเวลาสองปีครึ่ง ขณะที่อีกร้านนั้นตั้งอยู่ในย่านข้าวสาร เปิดมาได้ราวๆ ปลายเดือนตุลาคมปี 2563 ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเข้ามาในไทยช่วงเดือนมีนาคม 2564
“ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดรอบแรก ข้าวสารก็เงียบไปหมด พอโควิด-19 ซาก็เริ่มกลับมาเปิดร้านอีกครั้ง ซึ่งคนก็ยังไม่ค่อยกล้ามาเท่าไร เราก็พยายามหาทางดึงให้คนรู้จักและเข้าร้านเรามาเรื่อยๆ” บีเล่า “จนเดือนพฤศจิกายนที่ค่อยกลับมามีสีสันขึ้นมานิดหนึ่ง ย่างเข้าเดือนธันวาคม หลายๆ ร้านก็เริ่มสต๊อกของขายช่วงคริสต์มาสและช่วงปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่คนจะสังสรรค์กัน แล้วก็มีข่าวว่าเกิดระลอกสองเข้ามาใหม่ จำได้ว่านั่นเป็นคริสต์มาสที่เหงาที่สุดตั้งแต่ข้าวสารเคยเจอมาเลย ของที่สต๊อกไว้ก็ขายไม่ได้ รัฐมีคำสั่งให้ปิดเราก็ต้องปิดโดยไม่ทันตั้งตัว ของสดที่ซื้อมาเราก็เอาให้ลูกน้องในร้านไปหมดเลย เพราะทิ้งก็ไม่ได้”
โดยบีเล่าว่า ร้านสาขาที่สีลมนั้นยังพอประคองตัวได้ เพราะที่ร้านยังมีลูกค้าประจำ เปิดเมื่อไรก็ยังมีคนเข้ามาในร้าน แต่ร้านที่ข้าวสารเงียบหายไปเลยนับตั้งแต่เกิดการระบาดรอบสอง ทั้งยังต้องจ่ายค่าเช่าเหมือนเดิมแม้จะโดนสั่งปิด ทำให้พนักงานในร้านค่อยๆ ทยอยลาออกทีละคนเนื่องจากเจ้าของร้านจ่ายค่าแรงให้ไม่ไหว จนสุดท้ายเหลือพนักงานเพียง 3 คน คนทำอาหารในครัว 3 คน และแม่บ้าน 1 คน ทั้งยังเป็นร้านเปิดใหม่ที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก ทำให้การจะสร้างฐานลูกค้าประจำนั้นยากเข้าไปอีก
“อีกทั้งร้านที่ย่านข้าวสารก็แบกภาระเยอะ ทั้งค่าเช่าที่ ค่าแป๊ะเจี๊ยะต่างๆ เจ้าของที่เขาก็บอกว่าลดแล้ว จากปกติเดือนละ 90,000 บาทก็เหลือแค่ 60,000 บาท ส่วนค่าแป๊ะเจี๊ยะจากปีละ 2 ล้านก็ลดเหลือปีละ 1 ล้านบาท แบ่งจ่ายได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500,000 บาท ซึ่งเราต้องจ่ายทั้งที่ร้านเรามีรายได้เป็นศูนย์ ที่ผ่านมามีกำไรอย่างมากก็เดือนละ 1,000 บาท นักดนตรีก็พยายามยอมลดค่าตัว เพราะเขาเห็นว่าคนไม่มีเลย และเขาก็เข้าใจเรา
“คือรัฐจะสั่งปิดตามมาตรการต่างๆ นั้นเราไม่ว่า เราเข้าใจสถานการณ์บ้านเมือง แต่รัฐบาลเขาไม่มีมาตรการรองรับเลย ไม่บอกกระทั่งการเยียวยาใดๆ แล้วพนักงานกลางคืนจะมีสักกี่คนที่เป็นพนักงานประจำที่มีประกันสังคม หรือกดไทยชนะเป็น บางคนเขาก็ไม่รู้ เราก็ร่วมแบกรับคนละครึ่งกับเด็กๆ โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ปัญหาใดๆ จากภาครัฐเลย”
บียังกล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามนั้น ทำให้เธอต้องตัดสินใจปิดร้านสาขาข้าวสาร เนื่องจากสาขาสีลมนั้นยังพอประคองอยู่ได้ ขณะที่ข้าวสารนั้นเธอพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายแล้วเห็นว่าเกินกำลัง เพราะต้องควักเงินของตัวเองเพิ่มเนื่องจากต้องหาเงินมาจ่ายค่าเช่าและต้นทุนต่างๆ
“แล้วเราก็คิดว่าต้องเอาเงินส่วนตัวมาลงอีกเท่าไรจึงจะอยู่รอด เช่น ถ้าเดือนหน้ายังเปิดไม่ได้ หรือต่อให้เปิดได้คนจะกล้ามากินมาใช้ไหม ถ้าคนไม่มาแล้วเราต้องจ่ายเท่าไร เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย เนื่องจากกรณีของเราซึ่งเป็นเจ้าของสถานบริการ เขาจะไปนับเงินรายได้จากปี 2562 ซึ่งปรากฏว่าเราไม่อยู่ในเกณฑ์ของการได้รับความช่วยเหลือ
“เวลารัฐจะสั่งปิดก็ปิดโดยไม่เยียวยา และเมื่อจะสั่งเปิดก็ยังไม่สนับสนุนให้คนมากินเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงเหล่านี้เขาไม่ใช่เชื้อโรคจะมาตั้งแง่รังเกียจ มันเป็นแหล่งทำรายได้ให้บ้านเมืองด้วยซ้ำ ดังนั้นภาครัฐก็ควรส่งเสริม สนับสนุนด้วย แต่นี่ไม่มีกระทั่งน้ำยาฆ่าเชื้อให้เรา เราต้องออกเงินเองทุกตารางเมตรที่เราจ้างคนมาฆ่าเชื้อ” บีกล่าว
โดยบียังกล่าวเพิ่มเติมว่า เวลานี้เหมือนมองไปก็เห็นแต่ความมืด ตนไม่รู้จะเรียกร้องอะไรจากรัฐได้อีก เพราะรู้ว่าเรียกร้องไปก็ไม่เคยได้อะไรกลับมา ทั้งนี้ ก็อยากให้มองว่าร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิงไม่ใช่เชื้อโรค ทุกคนต้องลงทุน เดือดร้อนเท่ากัน อย่าเลือกเยียวยา ถ้าดูแลแล้วก็ต้องดูแลให้ทั่วถึง ต้องคิดมาตรการรองรับด้วยว่าผู้ประกอบการ ประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน ทั้งเจ้าของสถานบันเทิงหรือกึ่งสถานบันเทิงทุกคนเขาก็อยากให้ร้านกลับมาเปิดได้อีกจะได้มีรายได้ และทุกคนก็ทำตามมาตรการของรัฐเสมอมาโดยที่รัฐไม่เคยสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้น ถึงที่สุด สถานบันเทิงหรือกึ่งสถานบันเทิงก็เป็นกลุ่มแรกที่ต้องปิด และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้เปิดเสมอมา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP