หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่างานเอ็นเตอร์เทน หรือที่เรียกกันว่า งานเอ็นท์ งานบริการสมัยใหม่ที่ถอดรูปแบบมาจากงานบริการจากประเทศญี่ปุ่น ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในการให้บริการและการไปใช้บริการ เป็นงานที่เหมาะสำหรับคนที่มีใจรักการบริการ รักการพูดคุย รักการสร้างสรรค์ สามารถกอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ
งานเอ็นเตอร์เทนในประเทศญี่ปุ่น
สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าหนึ่งในเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่นคือ การให้บริการที่ใส่ใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นนั้นมีสถานบันเทิงหลากหลายรูปแบบที่มีการบริการเป็นจุดขายหลัก ธุรกิจเหล่านี้จะมีชื่อเรียกว่า ‘เซ็ตไต’ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่อ้อมกอด เมดคาเฟ่ เลานจ์ หรือแม้กระทั่งบาร์โฮสต์ เป็นต้น
ธุรกิจเหล่านี้ล้วนใช้ร่างกายที่สวยงามมาเป็นต้นทุนทางสัญลักษณ์ในการขายบริการ แต่การขายบริการเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีการมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะแต่ละธุรกิจนั้นขีดเส้นจำกัดขอบเขตการให้บริการไว้ชัดเจน เช่น คาเฟ่อ้อมกอดนั้น ผู้จัดการคาเฟ่ได้เคยสัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับการให้บริการของคาเฟ่ที่ไม่ได้ให้บริการเกี่ยวเพศสัมพันธ์เลย รวมถึงคาเฟ่นี้มีไว้สำหรับชายผู้ที่โดดเดี่ยวและต้องการใครสักคนเท่านั้น หรือเลานจ์มีข้อจำกัดในการให้บริการอย่างชัดเจนว่า ห้ามลวนลาม ห้ามโอบ ห้ามกอด ห้ามจับมือ แต่สามารถแตะมือได้บ้าง และจะไม่มีการออกไปต่อกับลูกค้า การให้บริการเลานจ์เกือบทั้งหมดจะไม่มีการค้าบริการทางเพศแอบแฝงเลย
การที่สถานบันเทิงที่ให้บริการเหล่านี้มีขอบเขตการให้บริการที่ชัดเจนทำให้เกิดกฎหมายรองรับธุรกิจประเภทเซ็ตไตออกมา โดยจะเป็นกฎหมายภายใต้ธุรกิจเริงรมย์ แต่เซ็ตไตนั้นเป็นธุรกิจที่เปิดเผยมากที่สุด
มากไปกว่านั้น ในปี 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ได้ออกประกาศมาเพื่อกำหนดลักษณะของตัวบริการธุรกิจเซ็ตไตให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแค่ตัวกฎหมายเท่านั้นที่มาช่วยให้รูปแบบธุรกิจนี้ถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือความมีวินัยของคนญี่ปุ่นที่ยอมรับในกฎหมาย และไม่ข้ามเส้นการให้บริการที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจให้บริการอีกบางส่วนที่มีการให้บริการทางเพศมาเกี่ยวข้อง แต่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติจากการใช้ช่องโหว่ด้านกฎหมาย
งานเอ็นเตอร์เทนในประเทศไทย
จากการที่วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทย โดยเริ่มจากวัฒนธรรมคาวาอี้ เกิดขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา รวมถึงการให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม ทำให้เกิดกระแสความนิยมแพร่หลายไปในสากล รวมไปถึงวัฒนธรรมการบริการที่ก่อให้เกิดงานบริการในรูปแบบของงานเอ็นเตอร์เทน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริการที่มีอิทธิพลต่อตัวตนของผู้ทำงานเอ็นเตอร์เทน ทำให้เกิดเป็นรสนิยม (Taste) ที่สะสมในตัวของเหล่าผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ให้บริการ จึงเกิดการนำรสนิยมนั้นมาก้าวเข้าสู่แวดวง (Field) งานเอ็นเตอร์เทนที่ปรับให้เข้ากับบริบทแวดวงของงานเอ็นเตอร์เทนในไทย
จุดนี้เองจึงเกี่ยวโยงกับแนวคิดเรื่องทุน ที่กล่าวโดย ปิแอร์ บูดิเยอร์ นักปรัชญาสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เจ้าของแนวคิดทฤษฎีที่ว่าด้วยเรื่องทุน เป็นนักสังคมศาสตร์ที่มีอิทธิพลทางความคิดและได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ ในบริบทของการใช้ร่างกายที่หลายๆ คนมองว่างดงามเป็นทุนทางสัญลักษณ์ เพื่อนำทุนเหล่านี้ไปแลกเปลี่ยนเป็นทุนทางเศรษฐกิจตามที่ผู้บริการได้ตั้งใจไว้ จากการที่งานเอ็นท์ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลมานั้น จึงทำให้มีทั้งความเหมือนและความต่างจากงานเอ็นท์ในประเทศญี่ปุ่น
ในมุมมองของความเหมือนเป็นในรูปแบบของการที่เน้นการให้บริการเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจของผู้มาใช้บริการที่รู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว เนื่องจากผู้ที่มาใช้บริการส่วนใหญ่พบว่า การที่มาใช้บริการงานเอ็นเตอร์เทนนั้นต้องการเพื่อนในการพูดคุย ออกไปเที่ยว หรือนั่งสังสรรค์ด้วยกัน
สำหรับรูปแบบของประเภทงานเอ็นเตอร์เทนตามขอบเขตการศึกษาในวิจัยนั้นพบว่า งานนี้มีหลายรูปแบบการให้บริการเหมือนกันอีกด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้บริการได้ ไม่ว่าจะเป็นพริตตี้บอย ชายหนุ่มรูปร่างหน้าตาดีที่ให้บริการเสิร์ฟอาหารและให้บริการในร้านอาหาร โฮสต์ ชายหนุ่มรูปหล่อที่คอยดูแล ชงเหล้า ให้ความบันเทิงในพื้นที่ที่เรียกว่าบาร์โฮสต์ หรือเพื่อนเที่ยวจากโลกออนไลน์ เพื่อนจากโลกออนไลน์ที่นัดมาเพื่อไปเที่ยว กินข้าว ดูหนังหรือสังสรรค์เป็นเพื่อนเวลาเหงา
ขอบเขตการให้บริการที่ไม่ชัดเจน
ถึงแม้ว่างานเอ็นเตอร์เทนในประเทศไทยจะเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับคนที่อยู่ในงานนี้ จากการที่ไม่ได้กำหนดขอบเขตการให้บริการที่ชัดเจนว่าการให้บริการนั้นมีถึงระดับไหนและมีข้อจำกัดที่ตรงไหน จึงทำให้เกิดช่องโหว่จากการที่ไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน อย่างที่เห็นว่าในการเอ็นท์บางระดับมีการมีเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ขอบเขตของงานเอ็นท์ไปทับกับการค้าบริการทางเพศ ที่ก็ยังมีความคลุมเครือทางด้านกฎหมายและขัดต่อหลักศีลธรรมความเชื่อของคนบางกลุ่ม หรือไม่ว่าจะเป็นการเอ็นเตอร์เทนที่มีการใช้สารเสพติด ต่างก็เป็นการกระทำที่ผิดต่อหลักกฎหมาย นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดภาพเหมารวมในสังคมว่างานประเภทนี้คืองานที่ผิดกฎหมายและเกิดการไม่ยอมรับจากคนหลายๆ กลุ่มในสังคม
จากที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปได้ว่างานเอ็นท์ในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีข้อต่างกันในการขีดเส้นขอบเขตการบริการให้ชัดเจนที่นำไปสู่การทำให้งานนี้ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานเอ็นเตอร์เทนในประเทศไทยนั้นไม่สามารถทำให้ถูกกฎหมายเลยทีเดียว
จากข้อมูลในการวิจัยพบว่า การที่จะทำให้งานนี้ถูกกฎหมายนั้นก็คือ การตั้งกรอบการให้บริการที่ชัดเจน รวมถึงการสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับงานบริการประเภทนี้ อย่างในอาเซียนมีงาน 7 ประเภทที่เดินทางได้อิสระ เว้นไว้แต่งานบริการที่ต้องมาตั้งนิยามกันไว้ว่างานนี้ทำได้แค่ไหน ถ้าจะข้ามเขตพรมแดนได้ต้องเป็นงานแบบใด เมื่อใดก็ตามที่ถูกกำหนดขอบเขตได้ชัดเจน ก็จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้นในขอบเขตของงานที่ทำ เมื่อพิสูจน์ภาระงานได้จะสามารถเอางานประเภทนี้มาอยู่ในระบบ แล้วงานนี้จะส่งผลกระทบเชิงมหภาคได้ เช่น ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และงานประเภทเอ็นเตอร์เทนนี้จะสร้างเม็ดเงินให้ประเทศได้อย่างแท้จริง
อ้างอิง:
- mgronline.com/around/detail/9550000131288
- g-aca-th.com/archives/356
- mgronline.com/japan/detail/9630000065689
- บทความนี้อยู่ภายใต้ความการร่วมมือของนิสิตวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการสื่อสารเพื่อการจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย เรื่อง ‘การศึกษาปรากฏการณ์งานเอ็นเตอร์เทน ในกรุงเทพมหานคร’ โดยกลุ่ม INNO4ENT ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมเกิดความรู้และความเข้าใจในปรากฏการณ์งานเอ็นเตอร์เทน ตั้งแต่การเข้าสู่ การดำรงอยู่ และการออกจากงาน โดยผู้วิจัยหวังว่า บทความนี้จะสร้างความรู้และความเข้าใจในปรากฏการณ์นี้ให้กับคนในสังคมไทยได้