วันนี้ (9 กรกฎาคม) ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อการประชุมสภาฯ วันนี้ โดยระบุว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติถอนออกไปนั้น ใจความสำคัญคือเหตุผลของการถอนร่าง หากอ้างอิงจากมติ ครม. ก็มีการอ้างว่า เป็นเพราะ ครม.มีการเปลี่ยนเยอะ จึงต้องทบทวนกฎหมายใหม่
ขณะเดียวกัน การให้สัมภาษณ์ของ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ระบุในเชิงว่า การที่รัฐบาลจะเดินหน้ากฎหมายนี้ หรือมีความเชื่อมั่นต่อเมื่อรู้ว่ามีเสียงข้างมาก ดังนั้น เชื่อว่า สิ่งที่ประชาชนอยากได้ยินมากกว่า คือเหตุผลที่รัฐบาลจะเสนอถอนร่าง ว่าเป็นไปตามเสียงเรียกร้องของประชาชน หรือข้อห่วงใยของพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้ากฎหมายโดยขาดความรอบคอบ
“ถ้าเหตุให้เหตุผลที่ดีเพียงพอในสภา และให้คำมั่นสัญญาเป็นบันทึกในที่ประชุมว่า จะไม่เสนอร่างนี้กลับมาอีก จนกว่าที่จะมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ดีเพียงพอ ไม่ได้เป็นการถอน เพื่อรอวันหนึ่ง เมื่อรัฐบาลรวบรวมเสียงข้างมากได้ แล้วจะเสนอกลับเข้ามาอีก ก็เชื่อว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมสนับสนุน กลับกันถ้าเป็นการถอนร่างเพื่อเป็นกลยุทธ์ในสภา เราเองคงต้องพูดคุย หารือกันอีกครั้ง ว่าจะเดินหน้ากันอย่างไร” ณัฐพงษ์กล่าว
ส่วนกรณี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ผู้นำจีนไม่พอใจนโยบาย Entertainment Complex ณัฐพงษ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในที่ประชุมด้วยอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องที่ผู้นำจีนจะแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการเดินหน้านโยบายนี้อย่างไร ก็ต้องสอบถามอนุทินเป็นหลัก แต่จากประสบการณ์ พบว่าการที่นักท่องเที่ยวจีนลดลง เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย
ควรรับทั้ง 4 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สร้างบรรยากาศที่ดี
สำหรับความกังวลว่า วันนี้องค์ประชุมสภาฯ อาจล่ม และทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 4 ฉบับ ยังไม่ได้ถูกพิจารณา ณัฐพงษ์เชื่อว่า ทุกพรรคเองให้ความสำคัญในการเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เราก็ให้ความสำคัญกับการถอนร่าง Entertainment Complex ด้วย ดังนั้น หากไม่อยากให้การประชุมล่มในวันนี้ ฝั่งรัฐบาลเองก็มีส่วนสำคัญ ที่จะต้องให้คำมั่นสัญญา หากทำได้ ก็เชื่อว่าฝ่ายค้านก็คงไม่ติดขัดอะไร แต่หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ ก็ต้องรอดูว่า ในการประชุมสภาวันนี้ เราจะเดินหน้ากันอย่างไรได้บ้าง
ณัฐพงษ์กล่าวด้วยว่า จุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยเอง ที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ว่า วาระหลายๆ อย่างที่เขาไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะมีพรรคภูมิใจไทยร่วมรัฐบาล ครั้งนี้พรรคภูมิใจไทยมาเป็นฝ่ายค้านแล้ว จึงคิดว่านอกเหนือจากวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่พรรคเพื่อไทยจะสามารถแสดงความจริงใจได้ ก็รอดู ส่วนตัวเชื่อว่ามีโอกาสมากขึ้น
ส่วนกรณีที่วิปรัฐบาลมีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของพรรคประชาชน และภาคประชาชน ณัฐพงษ์กล่าวว่า ต้องรอดู มีโอกาสมากขึ้น แต่เรื่องการเสนอกฎหมายที่ถูกเสนอมาจากหลายพรรคการเมือง หลายภาคส่วน ก็ยังมีข้อแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ตนยืนยันว่า ไม่ว่าจะมีข้อแตกต่างหรือเห็นต่างกันอย่างไร เรายังมีพื้นที่และโอกาสในการพิจารณาความเห็นต่างกันในชั้นกรรมาธิการวาระที่สองได้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะปัดตกตั้งแต่ชั้นรับหลักการในวาระที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น หากเราอยากจะเดินหน้า เรื่องการนิรโทษกรรม คืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง หรือการชุมนุมต่างๆ ก็ควรสร้างโอกาส สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับหลักการวาระที่หนึ่งทุกร่างไปก่อน
สำหรับกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ฝ่ายรัฐบาลดูจะไม่เห็นด้วย ในส่วนของภาคประชาชนไม่ปิดกั้นใช่หรือไม่ ณัฐพงษ์กล่าวว่า ร่างของเราไม่ได้ล็อกหรือบังคับให้มีการนิรโทษกรรม ม.112 แต่มีการเปิดช่องให้ไปทำได้ในระดับของชั้นคณะกรรมการ รวมถึงอาจจะสามารถมีการตั้งเงื่อนไขได้ด้วย ว่า หากนิรโทษกรรม ม.112 ไปแล้ว และมีการกระทำผิดซ้ำ โทษเดิมที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะถือว่าเป็นโมฆะ และให้ไปรวมกับโทษใหม่ด้วย
ส่วน ม.112 จะกลายเป็นเงื่อนไข ให้พรรคอื่นไม่รับหลักการร่างของพรรคประชาชนหรือไม่ ณัฐพงษ์กล่าวว่า การเปิดช่องของร่างเราให้สามารถทำได้ในชั้นกฎหมายลำดับรองต่างๆ ก็คิดว่า เป็นจุดกึ่งกลางในการหาทางออก สำหรับข้อคิดเห็นที่ยังต่างกันได้อยู่
ขณะที่ สส.ของพรรคประชาชน อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีแก้ไข ม.112 จะทำให้พรรคประชาชนพูดเรื่องนี้ในสภาฯ ลำบากหรือไม่ ณัฐพงษ์มองว่า ไม่เกี่ยว เพราะพื้นที่การประชุมสภาฯ ควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ที่จะพูดได้ในประเทศนี้ ที่เราจะหารือประเด็นที่แหลมคม และข้อคิดเห็นที่ยังเห็นต่างกันมากในสังคม