คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ด้านจุลพันธ์เผย เร่งผลักดัน พ.ร.บ.สถานบันเทิง เข้าสภาก่อนปิดประชุมสมัยนี้ในวันที่ 10 เมษายน 2568 หวัง Entertainment Complex สร้างแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจ สร้างจุดเปลี่ยน ดึงการท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้าประเทศ
วันนี้ (27 มีนาคม) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอแล้ว ต่อไปจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Made Destinations) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อันประกอบด้วยสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโน ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการจ้างแรงงานในประเทศด้วย
การพัฒนาสถานบันเทิงครบวงจรเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศและเป็นเม็ดเงินใหม่จากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก (World Class) แบบครบวงจร รวมทั้งพื้นที่สาธารณะเพื่อการนันทนาการและการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค ประกอบกับ เป็นการนำธุรกิจกาสิโนและการพนันถูกกฎหมายให้เข้ามาอยู่ในระบบอย่างมีมาตรฐาน ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย มีการจัดเก็บรายได้และภาษีอย่างถูกต้อง
จุลพันธ์ยืนยันว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขสิ่งที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการกำกับควบคุมการกำหนดโทษที่เกิดจากการพนัน ซึ่งถือเป็นประโยชน์มหาศาลกับประเทศ เม็ดเงินจากการลงทุนราว 100,000 ล้านบาท เม็ดเงินที่รัฐจะได้รับจากภาษี ค่าธรรมเนียม รวมถึงเม็ดเงินที่ประชาชนจะได้รับจากผลทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นทั้งการจ้างงาน กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม การท่องเที่ยว มีมูลค่ามหาศาล ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องของกาสิโน แต่เป็นเรื่องของสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีขนาดใหญ่เป็นโมเดลทางธุรกิจของต่างประเทศแม้แต่ดูไบ ญี่ปุ่น ก็กำลังเริ่มทำอยู่ เป็นโมเดลที่ต่างประเทศให้การยอมรับ
“วันนี้เรามองข้ามไปในอนาคต เราจะต้องมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอนาคตมากขึ้น ทั้งร้านอาหารและสวนสนุกขนาดใหญ่ระดับเดียวกับ Disney และ Universal เราจะเห็นอินดอร์สเตเดียมขนาดใหญ่เหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีได้บอกไปที่ไทยเชิญ Taylor Swift หรือ Lady Gaga มาแสดง แต่ที่ไม่สามารถทำได้เพราะเราไม่มีสถานที่ที่เพียงพอ ทำให้เกิดความเสียหายในธุรกิจ” จุลพันธ์กล่าว
พร้อมกล่าวต่อว่ามีการกำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าจะต้องมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศไทยในการลงทุน การเดินหน้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งเราพึ่งพาอาศัยกับธรรมชาติกับประเพณีวัฒนธรรมมาโดยตลอด วันนี้เราอยากสร้างจุดเปลี่ยนใหม่ๆ ดึงการท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามาให้กับประเทศไทย
เตรียมชงเข้าสภาก่อนปิดประชุมสมัยนี้
จุลพันธ์เปิดเผยอีกว่า ได้มีการคุยกับ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะวิปของ ครม. ว่าจะมีทางไหมที่จะให้เลื่อนระเบียบวาระให้สามารถเข้าพิจารณาได้ทันสมัยประชุมนี้ก่อนการปิดสมัยประชุมในวันที่ 10 เมษายน 2568 เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการเข้ามาพิจารณาได้ก่อน
“พระราชบัญญัติธุรกิจสถานบันเทิงผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หน้าที่ต่อไปเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดย ครม. ส่งเข้าไปพิจารณาตามปกติ เชื่อว่าจะมีการแก้ไขไปในสิ่งที่เป็นบวกและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน เชื่อว่าจะทันการพิจารณาในที่ประชุมสภาสมัยนี้ เพราะเห็นว่าเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้เกิดการจุดเปลี่ยนของธุรกิจ สร้างความมั่นใจในการลงทุน ซึ่งนักลงทุนต่างชาติมองเข้ามาจะพิจารณาจากความจริงจังของรัฐบาล ที่จะมีการผลักดันสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลจึงต้องผลักดันให้เร็วที่สุดเพื่อสร้างความมั่นใจไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของ Entertainment Complex แต่เป็นการลงทุนในทุกภาคส่วน” จุลพันธ์กล่าว
สำหรับผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจะต้องมีการตรวจสอบจะต้องไม่มีทุนสีเทาอย่างแน่นอน โดยประเมินเม็ดเงินลงทุน อย่างน้อย 1 แสนล้านบาท เกิดจากการจ้างงาน 15,000-20,000 ราย และจะเกิดแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจอีกมาก ซึ่งการศึกษาพื้นที่ลงทุนนั้นจะต้องมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาพื้นที่ว่าพื้นที่ใด
ยืนยันกฎหมายรัดกุม
ในการนี้รัฐบาลได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น ปัญหาทางการเงินและหนี้สิน ปัญหาอาชญากรรม เป็นต้น โดยได้มีการเตรียมการสำหรับการกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบข้างต้น ตัวอย่างเช่น
– การจำกัดคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการเพื่อไม่ให้กระทบต่อเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง
– การห้ามมิให้มีการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน
– การกำหนดให้มีสำนักงานและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรอย่างใกล้ชิด เป็นต้น
รวมทั้งให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร แล้วดำเนินการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบดังกล่าว
ร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิง ประกอบด้วย 7 หมวด 104 มาตรา โดยมีสาระสำคัญกล่าวคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะนโยบายการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรต่อคณะรัฐมนตรี ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร การควบคุมและมาตรการบังคับ รวมถึงการพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุม กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งนี้ สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และต้องประกอบด้วยธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิง (เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา ยอชต์และครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สวนสนุก ฯลฯ) อย่างน้อย 4 ประเภท ร่วมกับกาสิโน โดยกาสิโนต้องมีสัดส่วนไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารอันเป็นที่ตั้งของสถานบันเทิงครบวงจร และอนุญาตให้มีการพนันได้เฉพาะประเภทที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด
รวมทั้งต้องจัดให้มีเขตบริเวณ ของสถานประกอบการคาสิโนที่แยกห่างจากสถานประกอบธุรกิจสถานบันเทิงอื่นอย่างชัดเจน และห้ามบุคคลที่อายุน้อยกว่า 20 ปีเข้าคาสิโน
นอกจากนี้สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องประกอบด้วยพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการ และศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ทั้งหมดอีกด้วย