×

อิน จัน ซีรีส์ชีวิตแฝดตัวติดกันที่ยังไม่ทำให้เราอยากติดตาม

09.07.2021
  • LOADING...
eng - chang

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สิ่งที่ชื่นชมคือความสวยงามด้านภาพและโปรดักชันฉาก ที่สามารถเนรมิตประเทศจอร์เจียให้ออกมาเป็นสหรัฐอเมริกาก่อนยุคสงครามกลางเมืองได้เกือบสมบูรณ์
  • แต่สิ่งที่ค่อนข้างขัดใจคือบทที่ยังขาดเสน่ห์ ไม่ซื้อใจคนดูตั้งแต่อีพีแรกอย่างที่ควรจะเป็น ออกไปในแนวเรื่อยๆ มาเรียงๆ ตัวบทเหมือนจับอารมณ์ความรู้สึกตัวละครเป็นห้วงๆ ไม่ได้มีการขมวดปมความขัดแย้งให้น่าติดตาม ยิ่งเมื่อรวมกับการแสดงที่ดู ‘เล่นใหญ่’ เหมือนละครเวที ยิ่งทำให้เหมือนนั่งดูชีวประวัติคนดังผ่านทางช่อง History Channel หรือ Lifetime เสียมากกว่า
  • ในอีพีแรก ซีรีส์เผยให้เห็นความหวังที่จะมีชีวิตใหม่ในดินแดนใหม่ แม้จะเลือกแคปเจอร์แต่ด้านที่สดใส แต่เราก็อยากเห็นความซับซ้อนทางความคิดของคนที่ตัวติดกันตลอดเวลา หรือมีอะไรที่บ่งชี้ถึงความยากลำบากที่ต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ แม้ว่าในอีพีต่อมาจะมีการพูดถึงแรงเสียดทานของสังคมรอบข้างที่มองเขาเป็นตัวประหลาด แต่ก็ขาดความสมูทจนเราไม่ได้รู้สึกอินและเอาใจช่วย

 

เช้าตรู่วันที่ 30 มิถุนายน คนอื่นอาจจะรีบตื่นมาดูเจ้าหญิงดิสนีย์ในบริการสตรีมมิงใหม่เอี่ยม Disney+ Hotstar แต่ผู้เขียนกลับเลือกดู อิน จัน (Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart) เหตุผลข้อแรกได้แก่ นี่คือออริจินัลไทยซีรีส์เรื่องแรกในบริการสตรีมมิงระดับโลก ข้อต่อมาคือ ส่วนตัวติดตามเรื่องราวชีวิตของแฝดสยามอิน-จันมาตั้งแต่กันตนาสร้างเป็นสารคดีในปี 2534 และได้ดูละครเวทีอิน-จัน โปรดักชันของสิงคโปร์โดยผู้กำกับชาวไทย เอกชัย เอื้อครองธรรม ซึ่งทำออกมาได้อย่างน่าประทับใจ และหวังว่า อิน-จัน ในเวอร์ชันซีรีส์ก็น่าจะออกมาดีเช่นกัน

 

eng - chang

ภาพจาก อิน จัน (Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart)

 

เรื่องราวของแฝดสยามอิน-จันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นฝาแฝดตัวติดกันคู่แรกของโลกที่มีชีวิตยาวนาน โลดแล่นไปแสดงโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา พวกเขายังเป็นชาวคนไทยคู่แรกที่ได้สัญชาติอเมริกันและจดทะเบียนสมรสกับหญิงอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงถึงขนาดบัญญัติให้ Siamese Twin เป็นคำเรียกฝาแฝดตัวติดกันไม่ว่าสัญชาติใดในรุ่นต่อๆ มา 

 

ย้อนกลับไปในปี 2534 บริษัทกันตนาเคยทำละครโทรทัศน์กึ่งสารคดี เจาะลึกเรื่องราวของแฝดสยามในทุกแง่มุม ซึ่งถือว่าเป็นความทะเยอทะยานสำหรับบริษัทบันเทิงไทยที่หันมาทำสารคดีระดับโลก ซึ่งก็ทำออกมาได้ดีในแง่ของรายละเอียด ทุ่มทุนเดินทางตามรอยไปถึงอเมริกา จัดงานรวมญาติฝาแฝดอิน-จัน จนต่อมากลายเป็นกิจกรรมของสมาชิกตระกูล Bunker (นามสกุลของอิน-จันหลังย้ายสัญชาติ) ให้มารวมตัวกันทุกอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมทุกปี 

หรือแม้แต่ข้อสงสัยที่อยากรู้แต่ไม่กล้าถามอย่างเรื่องเซ็กซ์ของอิน-จัน สารคดีเรื่องนั้นก็ยังเอาไปให้หมอนพพรประจำคอลัมน์เสพสมบ่มิสมให้มาช่วยวิเคราะห์กัน นับเป็นความแปลกใหม่และเป็นผลงานชิ้นโบแดงของกันตนาและ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก จนโปรเจกต์ละครและภาพยนตร์เกี่ยวกับแฝดสยามมักได้รับการพูดถึงเสมอ เมื่อกันตนาริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ถ้าจำไม่ผิดตอนที่หันมาสร้างภาพยนตร์ เรื่องของอิน-จันก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง แต่ก็ไม่ได้ทำสักที จนมาถึงวาระครบรอบ 70 ปี กันตนาจึงได้ร่วมมือกับทรู ออริจินัล สร้างอิน จัน (Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart) ผลงานการกำกับของ เต็นท์-กัลป์ กัลย์จาฤก หลานปู่ของ ประดิษฐ์ กัลย์จาฤก นั่นเอง

 

eng - chang eng - chang

อิน รับบทโดย บ็อบ-วรุตม์ บราวน์ และ จัน รับบทโดย เบ็น-วราวุฒิ บราวน์

 

มาถึงในเวอร์ชันล่าสุด ผู้กำกับเลือกโฟกัสไปที่ชีวิตส่วนตัวของอิน (บ็อบ-วรุตม์ บราวน์) และจัน (เบ็น-วราวุฒิ บราวน์) ในฐานะคนสู้ชีวิตบนดินแดนใหม่ เริ่มเรื่องในช่วงที่อิน-จันย้ายไปอยู่ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนาในฐานะคนดังที่มาพร้อมความแปลกประหลาด ทำให้คนในชุมชนบางกลุ่มรู้สึกไม่สบายใจ พร้อมกับเล่าเรื่องการพบรักกับสองสาวพี่น้องตระกูลเยตส์คือ ซาร่า แอนน์ เยตส์ (เดน่า สโลซาร์) และ อาดิเลด เยตส์ (มารีญา พูลเลิศลาภ) สิ่งที่ชื่นชมคือความสวยงามด้านภาพและโปรดักชันฉาก ที่สามารถเนรมิตประเทศจอร์เจียให้ออกมาเป็นสหรัฐอเมริกาก่อนยุคสงครามกลางเมืองได้เกือบสมบูรณ์ แต่สิ่งที่ค่อนข้างขัดใจคือบทที่ยังขาดเสน่ห์ ไม่ซื้อใจคนดูตั้งแต่อีพีแรกอย่างที่ควรจะเป็น ออกไปในแนวเรื่อยๆ มาเรียงๆ

 

ตัวบทเหมือนจับอารมณ์ความรู้สึกตัวละครเป็นห้วงๆ ไม่ได้มีการขมวดปมความขัดแย้งให้น่าติดตาม ยิ่งเมื่อรวมกับการแสดงที่ดู ‘เล่นใหญ่’ เหมือนละครเวที ยิ่งทำให้เหมือนนั่งดูชีวประวัติคนดังผ่านทางช่อง History Channel หรือ Lifetime เสียมากกว่า

 

eng - chang

อาดิเลด เยตส์ รับบทโดย มารีญา พูลเลิศลาภ

eng - chang

ซาร่า แอนน์ เยตส์ รับบทโดย เดน่า สโลซาร์

 

ในอีพีแรก ซีรีส์เผยให้เห็นความหวังที่จะมีชีวิตใหม่ในดินแดนใหม่ แม้จะเลือกแคปเจอร์แต่ด้านที่สดใส แต่เราก็อยากเห็นความซับซ้อนทางความคิดของคนที่ตัวติดกันตลอดเวลา หรือมีอะไรที่บ่งชี้ถึงความยากลำบากที่ต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ แม้ว่าในอีพีต่อมาจะมีการพูดถึงแรงเสียดทานของสังคมรอบข้างที่มองเขาเป็นตัวประหลาด แต่ก็ขาดความสมูทจนเราไม่ได้รู้สึกอินและเอาใจช่วยเลย ในช่วงแรกนี้เนื้อเรื่องโฟกัสไปที่ความรักของแฝดสยาม ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ไปรักกันตอนไหน และมีเหตุผลอะไรที่หญิงสาวจากครอบครัวเคร่งศาสนาจะกล้าเสี่ยงมารักกับแฝดผิวเหลืองตัวติดกันในช่วงเวลาที่คนอเมริกันส่วนใหญ่ยังเหยียดผิวกันอยู่? ถ้าทั้งในอีพีแรกและอีพีที่ 2 เร้าอารมณ์และมีเหตุมีผลมากกว่านี้ เราคงอินที่เห็นแฝดสยามตัดสินใจจะผ่าตัดแยกร่าง และเข้าใจว่าทำไมสองสาวพี่น้องถึงยอมสู้กับสังคมรอบข้างเพื่อให้รักสมหวัง

 

eng - chang

 

ส่วนในแง่ของการแสดงผู้ที่มารับบทอิน-จัน ยังแสดงได้ไม่ถึงกับบวก กับบทพูดที่ดูประดิษฐ์ไม่เข้าปาก จึงทำให้ไม่อาจเชื่อว่าเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ผู้เขียนกลับชอบการแสดงของ ไบรอน บิชอพ ผู้รับบท เดวิด เยตส์ พ่อของสองสาวพี่น้อง ที่ทำให้เชื่อได้ว่านี่คือเศรษฐีนักเทศน์แถบทางใต้อเมริกา ทั้งจากกริยาท่าทางและสำเนียงซึ่งดูก็รู้ว่าทำการบ้านมาดี ส่วน โอซา แวง ก็ถือว่าเธอสวมบทบาทคุณแม่ใจดีแถบอเมริกาทางใต้ใช้ได้ทีเดียว แต่ก็ไม่อาจมองข้ามการแต่งหน้าเอฟเฟกต์ที่ทำให้เจ้าตัวดูเหมือนอันปังแมนไปได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าแคสคนอ้วนจริงๆ มารับบทนี้ก็น่าจะดีกว่า

 

eng - chang

 

จากข้อมูลผู้สร้างตั้งใจเล่าเรื่องเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงมีความรัก ช่วงความสัมพันธ์ของร่างกาย และความตายพราก ก็ต้องบอกว่าช่วงมีความรักยังไม่น่าประทับใจ อย่างไรก็ดี มีคำกล่าวไว้ว่า Don’t judge a book by its cover จะให้ด่วนตัดสินว่า อิน จัน (Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart) ดีหรือไม่ดีก็ออกจะเร็วเกินไป แต่สิ่งที่พอจะบอกได้ตอนนี้คือ ซีรีส์ปกสวยเรื่องนี้มีบทแรกกับบทที่ 2 ที่ยังไม่ปล่อยฮุกหมัดเด็ดให้อยากดูต่อ และเป็นไปได้สูงว่าอาจจะถูกทิ้งไว้กลางทาง 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising