หลังจากที่ข่าวผู้ตรวจการแผ่นดินมีวินิจฉัยตามคำร้องของ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่ขอให้ตรวจสอบนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า โดยผู้ตรวจการแผ่นดินให้กระทรวงพลังงานทบทวนและปรับยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ปี 2018 เพื่อกำหนดให้รัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย: กฟผ.) มีกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยต้องปรับแผนให้แล้วเสร็จใน 120 วัน และดำเนินการให้รัฐผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนดังกล่าวภายใน 10 ปีนับจากนี้
เกิดกระแสตื่นตระหนกของบรรดานักลงทุนในตลาดทุนที่มีต่อหุ้นกลุ่มพลังงานอย่างชัดเจน เนื่องจากคาดการณ์ว่า หาก กฟผ. จะเพิ่มกำลังการผลิตเองให้ได้ 51% นั้น เท่ากับสัดส่วนรายได้ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตและขายให้กับ กฟผ. จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเกิดการเทขายหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) ทำให้ดัชนี SET Index ปิดตลาดที่ 1,747.11 จุด ลดลง 14.14 จุด หรือ 0.81% ด้วยมูลค่าการซื้อขายเกือบ 9 หมื่นล้านบาท
ช่วงปิดตลาดวันนี้ (5 ก.ค.) THE STANDARD ตรวจสอบราคาหุ้นตัวสำคัญของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวพบว่า หุ้นของ บมจ. บีซีพีจี หรือ BCPG อยู่ที่ 19.20 บาทต่อหุ้น หุ้นของ บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF อยู่ที่ 125.50 บาทต่อหุ้น หุ้นของ บมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH อยู่ที่ 64.50 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.39% หุ้นของ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC อยู่ที่ 73.25 บาทต่อหุ้น เพิ่ม 4 บาท หรือ 5.78% หุ้นของ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM อยู่ที่ 36 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 3.6% และหุ้นของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO อยู่ที่ 329 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 3 บาท หรือ 0.92%
สำหรับหุ้นโรงไฟฟ้าที่มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ EGCO โดยถือหุ้นในสัดส่วน 25.41% และ RATCH ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 45% โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า สาเหตุที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้เริ่มปรับขึ้น เนื่องจากเมื่อวานนี้ราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างมาก จึงเป็นช่วงดึงกลับ (Pull Back) ตามปกติเวลาที่เกิดข่าวที่อ่อนไหวต่อตลาดทุน และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ดังเช่นเรื่องโอกาสในการปรับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้น
คมสัน สุขสำราญ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กลุ่มพลังงาน บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบัน กฟผ. มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 31% หากต้องเพิ่มกำลังการผลิตภายใน 10 ปีนับจากนี้ อาจปรับเพิ่มได้ไม่เกิน 36% เท่านั้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องให้เม็ดเงินลงทุนสูง เช่นเดียวกับกรณีที่ กฟผ. ต้องเข้าซื้อคืนกิจการจากบรรดาโรงไฟฟ้าต่างๆ เพื่อครองสัดส่วนการผลิต 51% เรื่องดังกล่าวจึงเกิดขึ้นไม่ง่ายนัก
สำหรับกระบวนการถัดไปคาดว่า เรื่องจะถูกส่งไปที่คณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ยังต้องตีความเรื่องการผลิตไฟฟ้าภายใต้ กฝผ. ให้ชัดเจนว่า ครอบคุลมเฉพาะสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. หรือพิจารณากระบวนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยที่ผ่านมา รัฐบาลไทยต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ จึงเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น (Private Participation) โดยผลิตไฟฟ้าและขายให้กับ กฟผ. ก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชน
สำหรับการเทขายหุ้นกลุ่มโรงงานไฟฟ้าวานนี้ คมสันเห็นว่า น่าจะเกิดจากการขายทำกำไรของนักลงทุน ประกอบกับบางส่วนที่อาจตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว ช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวนทั่วโลก ทำให้นักลงทุนต่างหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงอย่างหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า เนื่องจากไม่หวือหวา และให้เงินปันผลในระดับที่น่าพอใจ และทำให้ราคาของหุ้นกลุ่มนี้พุ่งสูงขึ้น เมื่อเกิดปัจจัยที่กระทบต่อตลาด จึงขายทำกำไร ซึ่งเป็นธรรมชาติของนักลงทุน และความชัดเจนของข่าวเกิดขึ้นในวันนี้ ก็ทำให้เกิดรีบาวด์ในกลุ่มหุ้นโรงไฟฟ้าให้เห็น
คมสันให้คำแนะนำกับนักลงทุนที่สนใจหุ้นกลุ่มธุรกิจพลังงานว่า หุ้นธุรกิจต้นน้ำ (Upstream) อย่าง PTT หรือ PTTEP มีแนวโน้มดีขึ้นตามระดับราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น แม้ผลประกอบการไตรมาส 1 และ 2 ตัวเลขจะไม่สวย แต่เชื่อว่า น่าจะกลับมาดีในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ส่วนกลุ่มที่ยังต้องจับตาคือ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมที่ได้รับผลกระทบกับสงครามการค้าและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล