×

กูรูชี้ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญ ‘จุดจบของจุดเริ่มต้น’ ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ

11.07.2023
  • LOADING...
ธนาคารกลาง

Kokou Agbo-Bloua หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ระดับโลก การวิจัยข้ามสินทรัพย์และเชิงปริมาณที่ Societe Generale แสดงความเห็นว่า บรรดาธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกกำลังยืนอยู่ ณ ‘จุดสิ้นสุดของจุดเริ่มต้น’ (The End of The Beginning) ในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ ท่ามกลางปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบันที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง 

 

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้นขณะที่ตลาดหลายแห่งต่างเฝ้ารอตัวเลขเงินเฟ้อที่สำคัญจากสหรัฐอเมริกาในปลายสัปดาห์นี้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หลักประจำปี ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวน ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) จะค่อยๆ ขยับเข้าใกล้ตัวเลขเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งตั้งไว้ที่ 2%

 

ด้านภาวะตึงตัวของตลาดแรงงานที่ยังคงมีอยู่และความยืดหยุ่นที่ชัดเจนของเศรษฐกิจชั้นนำอย่างสหรัฐฯ ยังหมายความว่ามีโอกาสมากกว่า 90% ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นมาแตะระดับระหว่าง 5.25-5.5% ในการประชุมปลายเดือนนี้ 

 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมชะลอตัวลงเหลือ 4% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อรายปีที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับขยับเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และ 5.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

ในการประเมินสถานะปัจจุบันของความพยายามของผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ Agbo-Bloua ได้ยกคำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี Winston Churchill ของอังกฤษในการกล่าวสุนทรพจน์ในปี 1942 ว่า “ตอนนี้ยังไม่สิ้นสุด มันไม่ใช่จุดเริ่มต้นของจุดจบด้วยซ้ำ แต่บางทีมันอาจจะเป็นจุดจบของจุดเริ่มต้น”

 

Agbo-Bloua อธิบายว่า ธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องยอมให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อบีบให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น และลดดีมานด์ในตลาดในระดับพอที่จะลดเงินเฟ้อได้

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางนานาประเทศยังไปไม่ถึงจุดนั้น 

 

เหตุผลประการแรกเป็นเพราะเงินเฟ้อในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการที่รัฐบาลนานาประเทศใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลเพื่อรักษาเศรษฐกิจที่ต้องจำศีลเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ โดยมีขนาดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% ของ GDP ดังนั้นกว่าที่เงินเฟ้อดังกล่าวจะลดลงจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

 

ขณะเดียวกันความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาในระบบห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ส่งผลให้หลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเผชิญกับเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนการผลิตเป็นหลัก แต่เป็นเพราะธนาคารกลางต่างๆ ประมาทจนเกินไป คิดว่าเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว (Transitory) และจะหายเองเมื่อกำลังการผลิตกลับมา จึงไม่รีบเร่งขึ้นดอกเบี้ย และ/หรือดูดเงินกลับ ทำให้เงินเฟ้อลดลงได้ยาก

 

นอกจากนี้ บรรดาบริษัทต่างๆ ได้พัฒนา ‘ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ’ ต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่งรวมถึงความสามารถในการรีไฟแนนซ์งบดุล และผลักภาระราคานำเข้าที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภค ทำให้มีการคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้น

 

ยิ่งไปกว่านั้นการที่ตลาดแรงงานในหลายประเทศอยู่ในสภาวะตึงตัว ขณะเดียวกันก็มีการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ต่ำลง ทำให้ผลักดันต้นทุนแรงงานต่อหน่วยที่มีผลต่อราคาค่าจ้างติดลบ 

 

Agbo-Bloua กล่าวว่า ผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินมักทำให้เศรษฐกิจจริงเกิดภาวะถดถอยล่าช้าประมาณ 3-5 ไตรมาส แต่ก็ชี้ว่าการออมส่วนเกินที่เกิดขึ้นระหว่างการแพร่ระบาดของโควิดได้สร้างบัฟเฟอร์เพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคและครัวเรือน ในขณะที่บริษัทต่างๆ สามารถซ่อมแซมงบดุลได้ ส่งผลให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น ซึ่งน่าจะยืดเวลาการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะต้องเกิดขึ้นให้ล่าช้ากว่าที่คาดไว้ และทำให้ใช้เวลานานขึ้นในการลดเงินเฟ้อ 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X