×

#EmptyOldTrafford เมื่อเกมแดงเดือดไม่มีความหมายเท่าการขับไล่เจ้าของ?

22.08.2022
  • LOADING...
แมนยู พบ ลิเวอร์พูล

“นำความเร่าร้อนมา นำเสียงอันทรงพลังมา นำความลุ่มหลงที่มีต่อทีมมา” คือข้อความบนใบปลิวที่ส่งกระจายตามกลุ่มของแฟนบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดบนโลกออนไลน์

 

แต่พวกเขาไม่ได้หมายถึงการที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาแสดงออกเพื่อยืนหยัดเคียงข้างทีมที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายหลังพ่ายแพ้ทั้ง 2 นัดแรกของฤดูกาล ซึ่งเป็นการออกสตาร์ทที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปีของสโมสร

 

คำประกาศของ Red Army กองพันสีแดงนั้นมีขึ้นเพื่อนัดหมายสำหรับการรวมตัวกันต่อสู้กับ ‘เกลเซอร์’ ครอบครัวผู้ถือสิทธิ์ในสโมสรอันเป็นที่รักของพวกเขา สโมสรที่ถูกปู้ยี้ปู้ยำมาต่อเนื่องนาวนานกว่า 17 ปี

 

นอกเหนือจาก #GlazersOut แล้ว #EmptyOldTrafford คืออีกคำขวัญประจำการศึกครั้งนี้

 

มันมีความหมายอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และมันจะเกิดขึ้นได้จริงไหม

 

การลุกขึ้นสู้อีกครั้งของ Green and Gold

 

แคมเปญปลุกแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดในครั้งนี้เริ่มขึ้นโดยกลุ่มที่ชื่อว่า ‘The 1958’ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยเป็นหัวขบวนในการประท้วงสโมสรครั้งใหญ่เมื่อ 16 เดือนก่อน

 

การประท้วงครั้งนั้นเป็นการประท้วงที่ร้อนเร่าและรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอล เมื่อพวกเขาไม่อาจยอมรับกับการที่ครอบครัวเกลเซอร์นำสโมสรเข้าไปมีส่วนร่วมกับการก่อตั้งยูโรเปียนซูเปอร์ลีก (ESL) รายการแข่งขันฟุตบอลที่จะทำลายระบบทุกอย่างของวงการลูกหนังลง ซึ่งแม้จะถอนตัวจากการเข้าร่วมแล้วแฟนปีศาจแดงจำนวนมากยังคงไม่พอใจและต้องการแสดงออกให้รู้

 

ว่าสโมสรฟุตบอลเป็นของแฟนบอลไม่ใช่ของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง

 

จากการกระจายกำลังไปปิดล้อมโรงแรม Lowry ซึ่งเป็นโรงแรมที่พักที่ผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ชจะมารวมตัวกันก่อนเกม ไปสู่การปิดล้อมสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด โดยแฟนบอลพกมาทั้งควันไฟสีเหลือง-เขียว ทั้งการแต่งกายในธีม ‘Green and Gold’ ซึ่งเป็นสีประจำสโมสรดั้งเดิมตั้งแต่ในยุคที่ยังใช้ชื่อทีมว่า นิวตัน ฮีธ

 

ก่อนที่สถานการณ์จะเลวร้ายถึงขั้นการบุกเข้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด และสุดท้ายเกมระหว่างแมนฯ ยูไนเต็ดกับลิเวอร์พูลที่จะต้องลงสนามในครั้งนั้นต้องถูกเลื่อนการแข่งขันออกไปด้วยเหตุผลความปลอดภัย

 

สำหรับการประท้วงครั้งนี้กลุ่ม The 1958 – ซึ่งตั้งชื่อตามปีที่มีเหตุการณ์สำคัญเมื่อเครื่องบินประสบอุบัติเหตุที่มิวนิกจนทำให้ผู้เล่นชุด ‘บัสบี เบบส์’ เสียชีวิตถึง 8 ราย เรียกว่าเป็นวันที่มืดมนอนธการที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสร และในเวลาเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้ง – ไม่ได้มีเจตนาที่จะสร้างความปั่นป่วนอีก

 

การชุมนุมประท้วงอย่าง ‘สงบ’ และ ‘ปฏิบัติทุกอย่างภายใต้กฎหมาย’ คือสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำ

 

โดยการประท้วงจะเริ่มต้นจากการรวมตัวกันที่ Tollgate ซึ่งเป็นผับที่อยู่ใกล้สนามที่แฟนปีศาจแดงรู้จักเป็นอย่างดีก่อนจะรวมตัวกันเดินไปบนถนน ‘เซอร์แมตต์ บัสบี’ เพื่อไปรวมตัวกันต่อหน้าอนุสาวรีย์ ‘United Trinity’ รูปปั้นของสามผู้ยิ่งใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ด อันประกอบไปด้วย จอร์จ เบสต์, เดนิส ลอว์ และ เซอร์ บ็อบบี ชาร์ลตัน

 

และพวกเขาจะหยุดแค่ตรงนั้น จะไม่เข้าไปในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดอีก นั่นคือเป้าหมายของการต่อสู้ครั้งนี้

 

เพราะการต่อสู้ในครั้งนี้คือการเรียกร้องให้แฟนบอลทุกคน ‘ไม่เข้าสนาม’ ให้สนามมันว่างเปล่าไปเลย ไม่ต้องแวะอุดหนุนซื้อข้าวซื้อของที่เมกะสโตร์ของสโมสรด้วย เพราะเงินมันจะหมุนกลับไปสู่เจ้าของที่เลวร้ายอย่างครอบครัวเกลเซอร์

 

แรงบันดาลใจในการต่อสู้แบบอารยะขัดขืน

 

สำหรับที่มาที่ไปของการรณรงค์ให้แฟนบอลแมนฯ ยูไนเต็ดไม่เข้าสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดในคืนนี้นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากการลุกขึ้นสู้กับฝ่ายบริหารของแฟนบอลสโมสรเอซี มิลานในอิตาลี

 

โดยย้อนกลับไปในปี 2015 แฟนบอล ‘ปีศาจแดงดำ’ ก็เคยรวมพลังกันด้วยการ ‘วอล์กเอาต์’ ออกจากสนามมาแล้วในเกมเซเรีย อาที่พบกับกายารี ซึ่งในสนามซานซิโรที่มีความจุกว่า 80,000 คน เหลือแฟนฟุตบอลเด็กและคนแก่แค่เพียบหยิบมือเท่านั้นที่ยังอยู่ในสนาม


นอกเหนือจากนั้นได้หายตัวไปจากสนามเรียบ และทำให้สนามเงียบเหมือนป่าช้า

 

กลุ่มที่เป็นแกนนำในการประท้วงครั้งนั้นคือกลุ่มแฟนฟุตบอลเข้าเส้นที่ชื่อว่า ‘Curva Sud’ ที่มีความโกรธเคืองในการทำงานของฝ่ายบริหารที่ทำให้สโมสรที่ยิ่งใหญ่อย่างเอซี มิลานต้องตกอยู่ในสภาพที่แทบไม่เหลือสภาพของความเกรียงไกรในอดีต

 

ไฮไลต์ในการประท้วงนอกจากภาพอัฒจันทร์ที่ว่างเปล่าแล้วยังมีป้ายผ้าที่เขียนว่า ‘Game Over’ ‘Insert Coin’ และ ‘Save AC Milan’ ด้วย ซึ่งสุดท้ายได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และปัจจุบันมิลานกลับมาเป็นแชมป์อิตาลีอีกครั้งเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

 

นอกจากแฟนบอลเอซี มิลานแล้ว แฟนบอลบาเลนเซียในสเปนก็เคยประท้วงด้วยการเดินออกจากสนามเช่นเดียวกันเพื่อประท้วงต่อฝ่ายบริหารของสโมสร

 

นั่นคือเหตุผลที่ The 1958 และแฟนบอลอีกมากมายต้องการให้แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลท้องถิ่นหรือแฟนบอลผู้มาเยือนจากแดนไกลมองเห็นเป้าหมายเดียวกันในการต่อสู้

 

ศัตรูมีคนเดียวคือ ‘เกลเซอร์’ และพวกเขาต้องการพลังของทุกคน

 

โอกาสที่โอลด์แทรฟฟอร์ดจะว่างเปล่ามีแค่ไหน?

 

ความจริงแล้วแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดก็เคยประท้วงด้วยการเดินออกจากสนามมาก่อน

 

โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในเกมกับเบรนท์ฟอร์ด พวกเขามีการรณรงค์ให้เดินออกจากสนามในนาทีที่ 73 แต่ในความเป็นจริงแล้วมีแฟนบอลไม่มากนักที่เดินออกจากสนามจริงๆ

 

นั่นทำให้เป็นที่น่าจับตาว่าการรณรงค์ไม่เข้าสนามในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะแม้ว่าจะมีการช่วยกันกระจาย #EmptyOldTrafford กันมากมายบนโซเชียลมีเดีย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหยุดไม่ให้แฟนบอลกว่า 73,000 คนเข้าสู่สนามได้

 

The Conversation ได้ทำการสำรวจกระแสบนโซเชียลมีเดีย และพบว่าแฟนบอลที่ช่วยกระจายนั้นมาจากทั่วโลก (ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย) และมีการแยกแฟนบอลออกเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะข้อความ เช่น กลุ่มที่เน้นการขับไล่เกลเซอร์, กลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสโมสร, กลุ่มที่หวังว่าจะมีแฟนบอลบอยคอตไม่เข้าสนาม และกลุ่มที่ใช้ถ้อยคำการแสดงออกที่รุนแรง

 

เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่อาจบ่งบอกได้ว่าจะมีแฟนบอลที่ ‘เอาด้วย’ กับการไม่เข้าสนามจำนวนเท่าไร 

 

และในขณะเดียวกันสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดนั้นไม่ได้มีแค่แฟนบอลท้องถิ่นขาประจำที่จะเข้าไปในสนาม แต่จำนวนมากคือกลุ่มแฟนขาจรที่เฝ้ารอโอกาสที่จะได้ไปเยือนโรงละครแห่งความฝัน โดยเฉพาะในเกมสำคัญอย่างการเจอกับลิเวอร์พูล (ไม่นับแฟนลิเวอร์พูลที่ไปชมเกมนี้ด้วย)

 

มองแล้วโอกาสที่โอลด์แทรฟฟอร์ดจะว่างเปล่านั้นยังเป็นไปได้น้อย อารมณ์ความโกรธแค้นของมวลชนก็ยังไม่เท่ากับวันที่โดนหักหลังในเรื่องซูเปอร์ลีก

 

อย่างไรก็ดีก่อนจะถึงเวลารวมตัวกันในช่วงเย็นวันนี้ และการรวมตัวกันเดินไปถึงที่ Trinity United ในช่วง 1 ทุ่มตรงตามเวลาท้องถิ่น โลกก็ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

 

ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เสมอ

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X