วันนี้ (29 เมษายน) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงถึง ‘โครงการ อว.สร้างงาน’ โดยระบุว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำโครงการสร้างงานสำหรับประชาชนที่ว่างงาน อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะเป็นการจ้างงานประชาชนจำนวน 10,000 คนเป็นระยะเวลา 5 เดือน มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน
โดย ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า โครงการสร้างงานสำหรับประชาชนจำนวน 10,000 คน จะเข้ามาทำงานภายใต้หน่วยงานของ อว. จำนวน 42 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจ้างงาน ที่จะจ้างงานประชาชนให้มาทำงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ โดยผู้ได้รับการจ้างงาน นอกจากจะได้งานทำแล้ว ยังจะได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านต่างๆ แตกต่างกันไป
ทั้งนี้หน่วยงานจ้างงานทั้ง 42 แห่งของ อว. จะทำหน้าที่รับสมัคร การมอบหมายงาน การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ได้รับการจ้างงาน การฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน การติดตามและประเมินผล เป็นต้น ที่สำคัญโครงการนี้ หากผู้ที่ได้รับการจ้างงานต้องการนำทักษะที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ สามารถเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว. ได้เลย
“หน่วยงานที่จะจ้างงานประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ 39 แห่ง โดยงานที่ผู้ที่ได้รับการจ้างจะไปทำงานกระจายอยู่ในท้องถิ่นหรือชุมชนต่างๆ มากกว่า 1,500 ชุมชน โดยจะทำงานเน้นหนักการพัฒนาชุมชนเมือง ชุมชนชนบท อาทิ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชน ทำการช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลชุมชนที่สำคัญต่อการเฝ้าระวัง ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางในด้านสาธารณสุขชุมชน การพัฒนาระบบ Smart Farming ในชุมชน ทำการช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรในชุมชน ช่วยในการวางแผนการพัฒนาระบบ Smart Farming รายเกษตรกร ช่วยในการจับคู่เทคโนโลยีที่เหมาะสม ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Smart Farming ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การจัดการขยะชุมชน ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการขยะที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ช่วยงานสำรวจข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น” ดร.สุวิทย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ให้ไปทำโครงการคืนผืนป่าให้ประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การสำรวจพื้นที่ การจัดทำเขตหมู่บ้าน การจัดทำแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ การสำรวจข้อมูลรายแปลง เป็นต้น
ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ 2,324,037 ไร่ 16 จังหวัด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำเรื่องโครงการช่วยเหลือการผลิตแก่เอสเอ็มอีและโอทอปในโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การวางแผนการผลิต การใช้เครื่องมือในการผลิต การควบคุมการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต และกองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะให้ไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปช่วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะต้องปฏิบัติงาน ได้แก่ การช่วยในเทคโนโลยีการแปรรูปมะม่วง เทคโนโลยีการจัดเก็บและยืดอายุของผลผลิตมะม่วง การช่วยผลิตชุดปลูกผัก การช่วยแปรรูปผลไม้ในรูปผลไม้แช่แข็ง เป็นต้น
“โครงการ อว.สร้างงาน แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นระยะเวลา 5 เดือน แต่จะเป็น 5 เดือนที่มีค่าหากผู้เข้าร่วมโครงการนำไปต่อยอดหรือนำทักษะ ที่ได้รับจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่ง อว. พร้อมที่จะเปิดรับให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว. ได้เลย และในระยะต่อไป อว. ก็ได้เตรียมเสนอของบประมาณในส่วนของ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อการจ้างงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยได้” ดร.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า