วานนี้ (29 มีนาคม) ความคืบหน้ากรณีเครนก่อสร้างถล่มทับแรงงานเมียนมาเสียชีวิตรวม 7 ราย ที่ไซต์ก่อสร้างโรงงานหลอมเหล็ก ตำบลตาสิทธิ์ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น.
ซึ่งหลังเกิดเหตุแรงงานชาติเดียวกันร่วม 500 คน ร่วมกันชุมนุมขวางไม่ให้นำร่างผู้เสียชีวิตออกจากจุดเกิดเหตุ เพื่อเรียกร้องเงินเยียวยารายละ 5 ล้านบาท ก่อนจะปักหลักนานกว่า 7 ชั่วโมง โดยหนึ่งในแรงงานเผยเหตุที่ไม่เชื่อใจนายจ้าง เพราะเคยเกิดเหตุไฟช็อตแรงงานเสียชีวิต แต่นายจ้างกลับไม่จ่ายเงินชดเชย
เมื่อเวลา 23.00 น. สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 5 จังหวัดระยอง และชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส. เขต 4 จังหวัดระยอง เดินทางมาที่ไซต์งานโดยร่วมกันหาทางออกกับ พล.ต.ต. พงศ์พันธ์ วงษ์มณีเทศ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง, พ.ต.อ. ชัยพงษ์ แสงพงษ์ชัย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรปลวกแดง, สกนธ์ กรกฎ นายอำเภอปลวกแดง รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต และผู้บริหารโรงงาน
ชุติพงศ์กล่าวว่า เบื้องต้นจะให้ญาติผู้เสียชีวิตมาลงชื่อไว้ก่อน ส่วนเรื่องเงินเยียวยาจะมีการช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมตรวจสอบเกี่ยวกับมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งจะมีการเจรจาร่วมกันระหว่างนายจ้างและผู้สูญเสียอีกครั้ง
พ.ต.อ. ชัยพงษ์กล่าวว่า สาเหตุที่แรงงานเมียนมาร่วม 500 คน ยังคงปักหลักและไม่ยอมให้นำศพออกจากจุดเกิดเหตุ เพราะยังตกลงกันไม่ได้ โดยทางญาติผู้เสียชีวิตเรียกร้องมาในตอนแรกรายละ 5 ล้านบาท จนกระทั่งมีการเจรจาจนลดลงมาอยู่ที่ 2 ล้านบาท ไม่รวมเงินประกันสังคม แต่ทางนายจ้างยังไม่รับข้อเสนอ ซึ่งจะมีการเจรจากันใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย
ด้าน สมมาตร อนันต์ธราทรัพย์ เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจังหวัดระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมจังหวัดระยอง กล่าวว่า สำหรับแรงงานที่เสียชีวิตเป็นผู้ประกันตน เป็นแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินประกันตนประมาณ 8 แสนบาท แต่ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
ต่อมามีตัวแทนจากสหภาพแรงงานชาวเมียนมาจาก WAG (Worker Assistance Group for Myanmar) ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวเมียนมา เดินทางมาที่ไซต์งานเกิดเหตุ มาร่วมเจรจากับนายจ้างและญาติผู้เสียชีวิต
หลังใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เวลาประมาณ 01.00 น. ชุติพงศ์ระบุว่า จากการร่วมเจรจาโดยมีญาติผู้เสียชีวิต เจ้าของโรงงาน ตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมา และ สส. จังหวัดระยอง เขต 4 และเขต 5 นายอำเภอปลวกแดง และตำรวจ สรุปว่าจะมีการทำสัญญาระหว่างนายจ้างกับญาติผู้เสียชีวิต และมีตัวแทนสหภาพแรงงานชาวเมียนมาเป็นผู้กำกับดูแล โดยตกลงเงินเยียวยากันที่ 1,600,000 บาท รวมเงินประกันสังคม ส่วนเงินเยียวยาอื่นๆ เป็นไปตามกฎหมาย
นอกจากนี้ทางโรงงานจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานศพทั้งหมด โดยจ่ายก่อนรายละ 5 แสนบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้ภายในระยะเวลา 3 เดือน และหลังจากที่ลงนามเซ็นสัญญาต้องเปิดทางให้รถกู้ภัยนำผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายออกไปส่งที่โรงพยาบาลปลวกแดง
ต่อมาตัวแทนสหภาพแรงงานเมียนมาได้แปลข้อตกลงเป็นภาษาเมียนมา และอธิบายกับกลุ่มแรงงานที่ชุมนุมอยู่ ซึ่งทั้งหมดยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและทยอยแยกย้ายกันออกไป เปิดทางให้รถกู้ภัยจำนวน 4 คันที่บรรทุกผู้เสียชีวิตจากเครนถล่มเดินทางส่งไปตรวจชันสูตรที่โรงพยาบาลต่อไป
อ้างอิง:
- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดระยอง