×

มาครง vs. เลอ แปน: สิ่งที่ควรรู้ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบสอง

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2022
  • LOADING...
มาครง vs. เลอ แปน: สิ่งที่ควรรู้ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบสอง

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในปีนี้จะเป็นการกลับมาสู้ศึกกันอีกครั้งระหว่าง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กับ มารีน เลอ แปน ผู้ท้าชิงจากฝ่ายขวาจัด

 

ในการชิงชัยกันเมื่อปี 2017 เลอ แปน ซึ่งถือเป็นรุ่นพี่ในสนามการเมือง เป็นฝ่ายพ่ายมาครง ซึ่งเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ในขณะนั้น ไปด้วยคะแนนเสียงเกือบสองต่อหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดี สำหรับการเลือกตั้งในปี 2022 นี้ แม้ผู้สมัครชิงตำแหน่งยังคงเป็นสองคนเดิม แต่ปัจจัยแวดล้อมของการแข่งขันไม่มีอะไรที่เหมือนกับเมื่อห้าปีที่แล้ว 

 

นี่คือสิ่งที่ควรรู้ก่อนเปิดฉากเลือกตั้งฝรั่งเศสรอบสองในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายนนี้

 

– การเลือกตั้งเป็นอย่างไร?

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสจะต้องลงคะแนนสองครั้งเพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ โดยในการลงคะแนนครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 เมษายน มีผู้สมัคร 12 คนลงชิงชัยกัน ซึ่งทุกคนผ่านการรับรองจากนายกเทศมนตรีและ/หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น รวม 500 คนจากทั่วประเทศ 

 

ผลปรากฏว่า มาครง และ เลอ แปน ได้รับคะแนนไปมากที่สุด แต่เนื่องจากไม่มีใครได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 50% ทั้งคู่จึงต้องมาดวลกันในการแข่งขันชี้ขาดวันอาทิตย์นี้

 

– วันไหนบ้างที่ต้องติดตาม?

มาครง และ เลอ แปน ดีเบตกันในคืนวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์ France 2 และ TF1 ของฝรั่งเศส

 

เลอ แปนดูเตรียมตัวมาดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับเวทีเดียวกันนี้เมื่อปี 2017 ซึ่งในครั้งนั้นเธอทำผลงานได้น่าผิดหวังจนทำให้เส้นทางสู่ปาแลเดอเลลีเซ หรือทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสของเธอต้องสิ้นสุดลง 

 

มาในคราวนี้ เลอ แปนโจมตีมาครงเกี่ยวกับมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยชี้ว่าสิ่งที่มาครงทำนั้นยังไม่มากพอที่จะช่วยเหลือครอบครัวชาวฝรั่งเศสรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่มาครงไล่ต้อนเลอ แปนเกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ของเลอ แปนกับรัสเซีย และการที่เธอเคยสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก่อนหน้านี้

 

ผลสำรวจจาก BFM TV ในเครือ CNN พบว่า 59% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้มาครงเป็นฝ่ายชนะ

 

การเลือกตั้งรอบชี้ชะตาจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน ผู้สมัครไม่ได้รับอนุญาตให้หาเสียงในวันก่อนการเลือกตั้ง หรือในวันเลือกตั้ง และสื่อจะถูกจำกัดการรายงานสถานการณ์ตั้งแต่วันก่อนการเลือกตั้งจนกระทั่งปิดคูหาในเวลา 20.00 น. ของวันอาทิตย์ ตามเวลาฝรั่งเศส

 

– โพลบอกอะไรบ้าง?

การเลือกตั้งปีนี้สูสีกว่าเมื่อห้าปีก่อนมาก

 

มาครง และ เลอ แปน ต่างได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งรอบแรกของปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2017 โดยผลสำรวจต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อต้นเดือนนี้เผยให้เห็นว่า เลอ แปนได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดคูหารอบแรก

 

โพลโดย Ifop-Fiducial ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 เมษายน ชี้ว่ามาครงจะชนะเลอ แปน ในการแข่งขันรอบที่สองไปได้แบบฉิวเฉียดเพียง 51% ต่อ 49% ทั้งนี้ คะแนนนิยมของมาครงนำขึ้นมาเล็กน้อยหลังการลงคะแนนรอบแรก

 

นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า ชาวฝรั่งเศสเลือกตั้งรอบแรกด้วยหัวใจ และเลือกตั้งรอบสองด้วยสมอง ซึ่งหมายความว่าพวกเขาเลือกผู้สมัครที่ตนชื่นชอบก่อน จากนั้นจึงเลือกคนที่คิดว่าแย่น้อยกว่าในรอบที่สอง

 

ในการแข่งขันเมื่อปี 2017 มาครง และ เลอ แปน ได้คะแนนไม่ห่างกันมากที่ 24% และ 21.3% ตามลำดับ ในการเลือกตั้งรอบแรก ก่อนมาทิ้งห่างในรอบชี้ชะตา ด้วยคะแนน 66.1% และ 33.9% ตามลำดับ

 

เพื่อคว้าชัยในรอบชี้ชะตาและก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 มาครงอาจจำเป็นต้องโน้มน้าวให้บรรดาผู้สนับสนุน ฌอง-ลุค เมลองชง ผู้สมัครฝ่ายซ้ายจัด ให้หันมาเทคะแนนให้เขา เมลองชงซึ่งเข้ามาเป็นที่สามในรอบแรกด้วยคะแนนเสียง 22% บอกกับผู้สนับสนุนของเขาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “เราต้องไม่ลงคะแนนให้เลอ แปนแม้แต่คะแนนเดียว” แต่ก็ไม่ได้กล่าวสนับสนุนมาครงอย่างชัดแจ้ง

 

ผู้สมัครส่วนใหญ่ที่แพ้ในรอบแรกต่างขอให้ผู้สนับสนุนตนเองหันมาสนับสนุนมาครง เพื่อสกัดกั้นฝ่ายขวาจัดไม่ให้ชนะขึ้นเป็นประธานาธิบดี ขณะที่ เอริค ซอมมูร์ อดีตนักจัดรายการทีวีคนดังฝ่ายขวา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากสำนวนโวหารอันเจ็บแสบ เรียกร้องให้แฟนคลับของเขาเลือกเลอ แปนเป็นประธานาธิบดี

 

– ชาวฝรั่งเศสคาดหวังอะไร?

คำตอบคือ ชาวฝรั่งเศสคาดหวังในสิ่งที่ไม่คาดหวัง

 

ในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฝรั่งเศสล้วนแล้วแต่ได้รับการเลือกตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ชาวฝรั่งเศสจับตาว่าประวัติศาสตร์จะเปลี่ยนหรือไม่

 

เมื่อเริ่มต้นปี 2022 ยังดูเหมือนว่าการเลือกตั้งน่าจะมุ่งไปที่ประเด็นเกี่ยวกับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของฝ่ายขวา แต่นั่นมันก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน

 

ในขณะที่ทุกสายตาของยุโรปจับจ้องไปที่สงครามนองเลือดของปูติน ประเด็นที่ชาวฝรั่งเศสให้ความสำคัญจึงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่คลังกระสุน การเดิมพันทางการทูต ไปจนถึงภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ 

 

มาครงในฐานะประธานวาระปัจจุบันของ EU สวมบทบาทเป็นรัฐบุรุษของยุโรป พยายามใช้วิถีทางทางการทูตเพื่อสกัดสงคราม ขณะที่เลอ แปนถูกความจำเป็นบีบบังคับให้ต้องเลิกสนับสนุนผู้นำรัสเซีย

 

– มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกบ้างในช่วงห้าปีที่ผ่านมา?

หนึ่งคือ ภูมิทัศน์การเมืองของฝรั่งเศส

 

ชัยชนะของมาครงเมื่อห้าปีที่แล้วในนามของพรรคอองมาร์ช (La Republique en Marche) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายกลางก่อตั้งมาได้เพียงปีกว่า และสมาชิกพรรคจำนวนมากแทบไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อนเลยนั้น ทำให้ฐานะของพรรคการเมืองสายกลางหลักๆ ที่เคยครองอำนาจมานาน ทั้งกลาง-ซ้าย และกลาง-ขวา อย่างพรรคโซเชียลลิสต์ (Socialists) และพรรครีพับลิกัน (Republicans) ต้องสั่นคลอนอย่างมาก

 

โดยในการเลือกตั้งรอบแรกปีนี้ อานน์ อีดัลโก นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคโซเชียลลิสต์ และ วาเลรี เปเครสส์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน ได้คะแนนไปไม่ถึง 5%

 

– มีอะไรต้องรู้อีกบ้างเกี่ยวกับมาครงและเลอ แปน?

มาครงเป็นอดีตนายธนาคารเพื่อการลงทุน และเป็นศิษย์เก่าสถานศึกษาชั้นนำของฝรั่งเศส ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2017 เขาถือเป็นน้องใหม่ผู้ไม่มีประสบการณ์ในสังเวียนการเมือง 

 

อย่างไรก็ดี แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2022 จะเป็นเพียงการเลือกตั้งครั้งที่สองในชีวิตของเขา แต่มาครงไม่ถือเป็นดาวรุ่งน้องใหม่อีกแล้ว ท่ามกลางผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างแผนการส่งเสริมเอกราชและอำนาจทางการเมืองของสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้เขาได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ความพยายามที่จะเอาชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ หรือเพื่อปกป้องข้อตกลงเรือดำน้ำ AUKUS และความพยายามทางการทูตเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามในยูเครนถูกมองว่าล้มเหลว

 

นโยบายภายในประเทศของมาครงสร้างความแตกแยกและเสื่อมความนิยม การจัดการรับมือขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง ซึ่งเป็นหนึ่งในการประท้วงที่ยืดเยื้อที่สุดในรอบหลายทศวรรษของฝรั่งเศสถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ผลงานในการรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิดก็ยังไม่มีผลสรุปเป็นที่แน่ชัด โดยนโยบายที่ถือเป็นลายเซ็นของมาครงในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งก็คือการกำหนดให้ประชาชนต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนจึงจะออกจากบ้านไปไหนมาไหนและใช้ชีวิตได้ตามปกตินั้นช่วยเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านประธานาธิบดี

 

ก่อนการเลือกตั้งรอบแรก มาครงปฏิเสธที่จะร่วมขึ้นเวทีดีเบตกับบรรดาผู้ท้าชิง และเขาแทบไม่ได้หาเสียงเลย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ากลยุทธ์ของมาครงคือการหลีกเลี่ยงการสาดโคลนทางการเมืองให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของเขาในฐานะผู้ที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมากที่สุดในบรรดาแคนดิเดตทั้งหมด 

 

สำหรับเลอ แปน เธอเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในฐานะนักการเมืองขวาจัด เธอเป็นลูกสาวของ ฌอง-มารี เลอ แปน ผู้ก่อตั้งพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) ซึ่งเมื่อปี 2018 มารีน เลอ แปน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรครณรงค์แห่งชาติ (Rassemblement National) ด้วยความพยายามที่จะเปลี่ยนโฉมพรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคที่เหยียดเชื้อชาติและต่อต้านชาวยิว

 

การเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สามของเธอในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยในปี 2017 เลอ แปนชูนโยบายปกป้องชนชั้นแรงงานที่ถูกลืมของฝรั่งเศสจากบรรดาผู้อพยพ โลกาภิวัตน์ และเทคโนโลยี 

 

มาในปีนี้ เลอ แปนยังคงจุดยืนชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพ ความกังขาต่อสหภาพยุโรป และจุดยืนต่อศาสนาอิสลามในฝรั่งเศส โดยเธอต้องการทำให้การสวมผ้าคลุมศีรษะของผู้หญิงในที่สาธารณะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

 

“การหยุดการย้ายถิ่นฐานที่ไม่มีการควบคุม” และ “การขจัดอุดมการณ์อิสลามิสต์” เป็นประเด็นสำคัญในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเลอ แปน อย่างไรก็ตาม เลอ แปนพยายามใช้น้ำเสียงที่อ่อนลงในประเด็นเหล่านี้ และหันไปชูมาตรการการให้เงินสนับสนุน 150-200 ยูโร (162-216 ดอลลาร์) แก่ครัวเรือนฝรั่งเศส รวมถึงการให้คำมั่นว่าจะยกเลิกภาษีการขายจากสินค้าอุปโภคบริโภค 100 รายการ

 

และดูเหมือนการเดินเกมของเลอ แปนจะได้ผล ดังเห็นได้จากคะแนนเสียงที่ได้รับในการเลือกตั้งรอบแรก ซึ่งถือเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเธอในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งสามครั้ง

 

– อะไรคือประเด็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสให้ความสนใจมากที่สุด?

ค่าครองชีพเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวฝรั่งเศสให้ความสนใจมากที่สุด ในขณะที่พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด ราคาพลังงานที่พุ่งสูง และสงครามในยูเครน 

 

โพลของ Ifop ที่จัดทำขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม เผยให้เห็นว่า ชาวฝรั่งเศส 90% กังวลเกี่ยวกับสงคราม ซึ่งในประเด็นนี้มาครงน่าจะมีภาษีดีกว่าเลอ แปน เมื่อพิจารณาจากประวัติในอดีตที่เลอ แปนเคยให้การสนับสนุนปูติน

 

ประเด็นที่ขาดหายไปจากการดีเบตรอบแรกคือวิกฤตสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมฝรั่งเศสระบุว่า แม้ความสำคัญของการปกป้องสภาพภูมิอากาศกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก แต่เรื่องนี้กลับไม่เป็นที่พูดถึงมากนักในฝรั่งเศส 

 

สำหรับในเรื่องนี้นั้น มาครง และ เลอ แปน ชูนโยบายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เลอ แปนให้เหตุผลว่าการพัฒนาพลังงานทั้งสองชนิดมีราคาแพงและไม่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งกังหันลมยังทำลายภูมิทัศน์ของชนบทฝรั่งเศส เธอจึงต้องการยกเลิกการอุดหนุนพลังงานทั้งสองชนิด ขณะที่มาครงต้องการลงทุนในเทคโนโลยีทั้งสองเพิ่มเติม

 

นอกจากนี้ มาครง และ เลอ แปน ยังมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของฝรั่งเศส โดยมาครงสัญญาว่าจะเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และตลาดเสรีของฝรั่งเศสในฐานะผู้นำ EU ขณะที่เลอ แปนแสดงเจตจำนงที่จะเปลี่ยนฝรั่งเศสจากสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยนโยบายเศรษฐกิจแบบกีดกันการค้า และการปรับปรุงความสัมพันธ์ของปารีสกับพันธมิตรและฝ่ายตรงข้าม

 

แต่ในท้ายที่สุดแล้ว บทสรุปของการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับชาวฝรั่งเศสที่อาจตัดสินใจเพียงว่า ผู้สมัครคนใดที่ไม่ชอบน้อยที่สุด ระหว่างประธานาธิบดีที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นสูงและเข้าถึงยาก หรือผู้ท้าชิงที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้วาจาเจ็บแสบเกี่ยวกับอิสลามและการสนับสนุนเผด็จการ

 

ภาพ: Thierry Monasse / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising