เงินทุนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนทิศอีกครั้ง และตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลัก ส่วนหุ้นไทยที่อยู่ในกลุ่ม EM หากดูผิวเผินแล้วเหมือนจะได้อานิสงส์ไปพร้อมกัน แต่ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมากลับเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนอะไร?
ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ปรับตัวได้โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (Developed Market) ต่อเนื่อง 2 ไตรมาสติดต่อกันเป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2020
ตลาดหุ้น EM vs. DM
โดยตลาด EM ปรับตัวขึ้น 8.7% เทียบกับ DM ที่ปรับตัวขึ้น 6.4% ในไตรมาสล่าสุด ด้วยปัจจัยหนุนสำคัญคือ การเริ่มต้นลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายน
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา หลังจากที่ Fed เริ่มต้นลดดอกเบี้ยครั้งแรกของวัฏจักรขาลง ซึ่งเคยเกิดขึ้น 3 ครั้ง คือในปี 2001, 2007 และ 2019
“ทุกครั้งที่มีการลดดอกเบี้ยครั้งแรกของวัฏจักร ตลาดหุ้นเกิดใหม่จะปรับตัวได้ดีกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้วค่อนข้างเห็นได้ชัด คือตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะแกว่งออกข้างหรือซึมลง”
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญคือค่าเงินดอลลาร์ที่มักจะเริ่มอ่อนค่าตั้งแต่ก่อนการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นจริง และหลังการลดดอกเบี้ยค่าเงินดอลลาร์มักจะอ่อนค่าต่ออีก 1-2 เดือน และในอดีต Fed มักจะลดดอกเบี้ยหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มอ่อนแอลงแล้ว
หุ้นจีนแรงหนุนสำคัญของ EM ในปัจจุบัน
ตลาดเดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนพุ่งขึ้นประมาณ 20% ร้อนแรงที่สุดในโลก หลังจากรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นครั้งใหญ่
Charles de Quinsonas ผู้จัดการกองทุนของ M&G Investments กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระแสเงินลงทุนที่ไหลไปยังตลาดเกิดใหม่ย่ำแย่มาโดยตลอด ก่อนที่จะเริ่มเห็นสัญญาณบวกอีกครั้ง
ขณะที่ EPFR ระบุว่า เพียงแค่สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม มีเงินไหลเข้าหุ้นจีนเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากตลาดหุ้นจีนที่มีเงินทุนหลั่งไหลเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ตลาดหุ้นอื่นๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงของฟันด์โฟลวในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ญี่ปุ่น +1.27 หมื่นล้านดอลลาร์
ไต้หวัน +1.7 พันล้านดอลลาร์
ฟิลิปปินส์ +80 ล้านดอลลาร์
เวียดนาม -80 ล้านดอลลาร์
อินโดนีเซีย -300 ล้านดอลลาร์
ไทย -570 ล้านดอลลาร์
เกาหลีใต้ -1.7 พันล้านดอลลาร์
อินเดีย -9.1 พันล้านดอลลาร์
บริบทของหุ้นไทย
แม้หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นมาราว 200 จุดภายใน 2 เดือน แต่ในช่วงเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในช่วง 17 วันทำการล่าสุด ที่ต่างชาติขายสุทธิไปถึง 16 วันทำการ
ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ในบริบทปัจจุบันสำหรับหุ้นไทย ต่างชาติขายสุทธิสวนทางนักลงทุนสถาบันในประเทศ ซึ่งเป็นผลจาก 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรกคือ การโยกย้ายเงินภายในกลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะการย้ายเงินเข้าสู่หุ้นจีนที่มีปัจจัยหนุนค่อนข้างมาก
อีกประเด็นคือ พื้นฐานของหุ้นไทยที่ยังไม่เปลี่ยนไปนัก โดยจะเห็นว่ากำไรของหุ้นไทยยังไม่ได้ถูกปรับขึ้น และมีแนวโน้มจะลดลงเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นจากแรงซื้อของกองทุนวายุภักษ์ และถ้าดูตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายนกำไรของหุ้นไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็อยู่ในขอบล่างของเอเชีย ต่างจากตลาดหุ้นไต้หวัน, อินเดีย, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
“เมื่อต่างชาติเห็นว่ากำไรไม่ได้ปรับขึ้น แต่ราคาวิ่งขึ้นมากกว่า จึงใช้จังหวะนี้ในการรินขายออกมา และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการ Reverse Dollar Carry Trade หลังจากที่บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นมาต่อเนื่องจนแตะระดับ 4.2%”
เมื่อวายุภักษ์หมดแรง หุ้นไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป
ณัฐชาตเชื่อว่าหุ้นไทยจะยังไม่ปรับฐานไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะหลังจากแรงซื้อของกองทุนวายุภักษ์หมดลงน่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุน ThaiESG เข้ามาหนุนอีกราว 2 หมื่นล้านบาท
แต่ในช่วงต้นปีหน้าเมื่อแรงซื้อหมดไป ขณะเดียวกันอาจเริ่มมีแรงขายจากในประเทศออกมา คือกองทุน LTF ที่ขายในปี 2562 และจะครบกำหนดไถ่ถอน หากไปถึงช่วงนั้นแล้วต่างชาติยังคงขายหุ้นไทยก็อาจทำให้ดัชนีปรับฐานได้ไม่ยาก
ด้าน สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า หุ้นไทยในเดือนพฤศจิกายนมีโอกาสจะปรับฐานลงไปสู่ระดับ 1,444 จุด หลังจากวิ่งขึ้นมากว่า 200 จุด
ปัจจัยกดดันหลักคือบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในระยะสั้น
“แต่หุ้นไทยจะยังไม่ได้จบรอบขาขึ้น และในระยะกลางยังมีโอกาสจะวิ่งขึ้นไปสู่ระดับ 1,600 จุด”
ส่วนแรงขายของต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา มองว่าเป็นจังหวะของการรอพิจารณาผลกระทบจากปัจจัยกดดันหลายเรื่อง เช่น การแข็งค่าของเงินบาทที่อาจกระทบต่อ GDP รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่น้อยกว่าคาด และผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจ
เลือกตั้งสหรัฐฯ กำหนดทิศฟันด์โฟลว
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางฟันด์โฟลวหลังจากนี้คือผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า หาก โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง มีโอกาสที่เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ และเงินทุนอาจไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียอีกระลอก เนื่องจากนโยบายที่จะขึ้นภาษีการค้ากับหลายประเทศโดยเฉพาะจีน
กลับกันหาก คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง อาจเห็นเงินทุนไหลกลับมายังเอเชียมากขึ้น
“ช่วง 2 สัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นจะค่อนข้างผันผวน และมีอัปไซด์จำกัด หลังจากปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่มีกำไร และคงไม่อยากจะเดิมพันกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ มากนัก ทำให้เราเห็นเงินทุนไหลกลับไปถือดอลลาร์มากขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมเงินดอลลาร์แข็งค่าทั้งๆ ที่ Fed เพิ่งลดดอกเบี้ย”
ส่วนแรงขายหุ้นไทยของต่างชาติส่วนหนึ่งเป็นการขายหลังจากการเก็งกำไรก่อนหน้าที่กองทุนวายุภักษ์จะเข้ามาซื้อ แต่ส่วนนี้อาจไม่มากนัก และอีกส่วนหนึ่งคือการลดความเสี่ยงก่อนเข้าใกล้การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น