×

ผบ.ทสส. วอนให้ทุกฝ่ายร่วมมืออยู่กับบ้านลดระบาดโควิด-19 อย่ารอให้ต้องบังคับ ตอบปมสนามมวย ‘เป็นเรื่องของอดีต’

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (26 มีนาคม) พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ผอ.ศปม.) แถลงอธิบายถึงมาตรการหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่า 

 

ใจความของสถานการณ์ฉุกเฉิน ทุกคนคงเห็นจากจำนวนผู้ติดเชื้อ กลุ่มเสี่ยง และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และยังตอบไม่ได้ว่าจะไปถึงที่ใด ความฉุกเฉินคือสถานการณ์นี้ 

 

การประกาศสภาวะฉุกเฉินเป็นความจำเป็น ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามใช้กลไกปกติในการบริหาร เพราะไม่ต้องการให้เกิดความตระหนกในหมู่ประชาชน เศรษฐกิจเสียหาย หรือรบกวนการใช้ชีวิตปกติของประชาชน แต่เมื่อสถานการณ์มาถึงจุดนี้จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องยกระดับขึ้น 

 

การกำหนดมาตรการหลังจากนี้จะกำหนดจากเบาไปหาหนัก สิ่งแรกที่ได้เห็นแล้วคือการมีจุดตรวจ ด่านตรวจในที่ต่างๆ หรือจุดควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

 

“การแต่งตั้งให้ผมที่เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดทำหน้าที่ด้านความมั่นคง ไม่ได้แปลว่าต้องใช้กลไกทหารทั้งหมดมาจัดการเรื่องนี้ เป็นแต่เพียงว่ากลไกจะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายปกครอง และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ข้อกำหนดและบังคับใช้มาตรการที่กำหนดขึ้นอย่างจริงจัง”

 

ทั้งนี้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเปิดเผยว่าปัจจุบันจุดตรวจมีอยู่ 359 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 7 แห่งอยู่ในกรุงเทพฯ พร้อมยืนยันว่าจุดตรวจดังกล่าวไม่มีทหาร มีแต่ตำรวจและฝ่ายปกครอง ยกเว้นบางพื้นที่ที่จะมีสารวัตรทหารเข้าไปเสริม

 

โดยหน้าที่ของจุดตรวจต่างๆ คือการอำนวยความสะดวก คัดกรองกรณีที่ผู้สัญจรไม่ได้ปฏิบัติตามที่กำหนด เช่น เรื่อง Social Distancing การสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการขนส่งสินค้าควบคุมต่างๆ ซึ่งทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการสัญจรของประชาชนจะเป็นปกติ

 

“ข้อเท็จจริงที่เราตระหนักกันแล้วทุกคนก็คือบรรดามาตรการต่างๆ ซึ่งทางแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์เชิญชวนให้พวกเราทุกคนปฏิบัติ ตั้งแต่การเว้นระยะทางสังคม การไม่ชุมนุมกัน ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกนำเสนอมาเป็นเวลานาน แต่กลับกลายเป็นว่าการดำรงชีวิตยังคงเป็นปกติเช่นเดิม นี่เป็นที่มาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

“ถ้าไม่ทำอะไร ตัวเลขไม่เปลี่ยน เราก็อาจจะไม่ต้องตั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเชิญชวนรณรงค์แล้วไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ตัวเลขก็ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องกำหนดเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่าบัดนี้อันตรายรออยู่ข้างหน้า ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หลายประเทศปิดประเทศ หลายประเทศเคอร์ฟิว สิ่งสำคัญคือเชื้อโรคมันไม่ได้ปิดกิจการไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน สิ่งที่จะเป็นไปได้ก่อนที่จะถึงมาตรการสูงสุดคือการล็อกดาวน์ หรือปิดประเทศ

 

“ขณะนี้เรายังไม่ปิดประเทศ ยังไม่ปิดเมือง ยังไม่ปิดบ้าน ทุกคนจะสามารถสัญจรไปมาเป็นปกติได้ แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ตัวเลขยังสูงขึ้น มันจะนำไปสู่การปิดประเทศ ซึ่งจะเป็นความยุ่งยากของเราทุกคน และผลกระทบจะกว้างขวางมาก

 

“แทนที่จะรอให้ถึงการถูกบังคับให้ล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว เราทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความสมัครใจของตัวเราเองดีกว่าไหม เราพูดกันมากเรื่องลดชั่วโมงทำงาน การทำงานที่บ้าน ลดความแออัดในสถานที่ทำงาน ลดการชุมนุมสังสรรค์ แต่ข่าวมีทุกวันเพราะไม่เปลี่ยน สิ่งที่ผมอยากจะเชิญชวนคือวันนี้วันพฤหัสบดี ถ้าเราทุกคนทั้งที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าของกิจการ ลูกจ้าง ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือคนไทยทั่วไป เราหันมาปรับพฤติกรรมครั้งใหญ่ แทนที่เราจะถูกบังคับแล้วต้องปฏิบัติ

 

“ความสำคัญอยู่ที่ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ถ้านายบอกต้องทำงานเต็มเวลา ลูกจ้างก็ต้องทำตาม ซึ่งจะไม่เกิดการเหลื่อมเวลา ลดเวลาทำงาน ลดความแออัด ผมขอความร่วมมือ ผมขอร้องผู้บังคับบัญชาและเจ้าของกิจการ มีวิธีบริหารงานสมัยใหม่ที่จะสามารถเอางานกลับไปทำที่บ้าน ทำงานนอกเวลา หรือวิธีอื่นใดที่จะใช้เครื่องมือทดแทนการเอาลูกน้องมาระดมในที่เดียวกัน ขอให้ทำ หัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าหน่วยงานใดต้องลงมือทำให้เป็นรูปธรรม 

 

“วันนี้วันพฤหัสบดี คิด วันศุกร์พรุ่งนี้ สั่ง เสาร์-อาทิตย์ ลงมือทำ คนไทยทั้งหมดร่วมมือกันอยู่กับบ้าน ลองดูสิครับว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ารัฐบาลบอกว่าล็อกดาวน์ แปลว่าคุณออกนอกบ้านไม่ได้ ต้องมีใบอนุญาตอย่างหนึ่งอย่างใด แต่นี่รัฐบาลไม่ไปถึงขั้นนั้น ถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความสมัครใจ ทำตามที่คุณหมอแนะนำ ถ้าคิดว่าวันนี้จะต้องออกไปซื้อกับข้าว 3 ครั้ง 3 มื้อ วันนี้ปรับพฤติกรรม เสาร์-อาทิตย์ไปซื้อมื้อเดียวได้ไหม แล้วอยู่แต่ในบ้าน อยู่ให้ห่างกัน เริ่มต้นแบบนี้ก่อน ผมขอร้อง ขอวิงวอน จากนั้นอีก 5 วันที่เหลือ ถ้าหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าของกิจการ ลองปรับวิธีการทำงานทั้งหมดให้จันทร์-ศุกร์ถัดไปเป็นวิธีการทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลา ลดเวลาทำงานทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ลองดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น” 

 

ในช่วงตอบคำถาม มีนักข่าวถามถึงกรณีสนามมวยลุมพินีที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีคำแนะนำให้ยกเลิกการรวมกลุ่มของบุคคล แต่ยังมีการจัดงานอยู่ ทำให้คนมองภาพของทหารที่ไม่ทำตามคำสั่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดชี้แจงว่า

 

“มันมีเรื่องของอดีตและมีเรื่องของวันข้างหน้า สิ่งที่ผมมาตรงนี้คือเรากำลังพูดว่าวันข้างหน้าเรามาตกลงและร่วมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งประเทศเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เรื่องในอดีตอาจไม่ได้มีเรื่องเดียวที่ยกขึ้นมา แน่นอนว่ามันเกิดขึ้นจากความบกพร่อง ไม่รัดกุม และอาจจะมีอีกหลายเรื่อง ซึ่งผู้เกี่ยวข้องมีการตรวจสอบ มีการตรวจทาน และมีมาตรการในการดำเนินการ ผมขอไม่ลงไปถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ที่อยากจะพูดคือการปฏิบัติในฐานะที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าผมเชิญชวนให้เราทุกคนกระทำเช่นนี้ด้วยความสมัครใจ”

 

ส่วนในกรณีที่ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน ลดหรือเหลื่อมเวลาทำงาน หากไม่ได้รับความร่วมมือจะดำเนินการอย่างไร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดระบุว่า

 

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่ผมเชื่อ ถ้าสื่อเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจ สื่อเองก็อยากจะให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นไปด้วยเร็ว ถ้าสื่อทำหน้าที่กระตุ้นให้ทุกคนเข้าสู่ความสมัครใจ ปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ผมว่าอย่าเพิ่งไปพูดถึงว่าใครไม่ร่วมมือ ถ้าทุกคนเห็นว่ามันมีประโยชน์ ละเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์โดยยังไม่ทำอะไร นี่เป็นเวลาของชาติ ถ้าไม่พลิกเรื่องนี้กลับมาเป็นความร่วมมือร่วมใจ มันไปไม่ได้ ลดเรื่องการวิพากษ์หรือตั้งคำถามเพื่อบั่นทอนกัน แล้วมาร่วมมือกัน มันจะเกิดผลดีได้ เป็นตัวอย่างของโลกที่สมัครใจโดยไม่ต้องบังคับจะไม่ดีกว่าหรือ ผมไม่ตอบคำถามว่าจะทำอย่างไรหากเจ้าของกิจการไม่ร่วมมือ”

 

นอกจากนี้นักข่าวยังถามด้วยว่ามาตรการดังกล่าวจะมีความเข้มข้นไปอีกนานแค่ไหน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดตอบว่า

 

“ให้คุณหมอเป็นคนตอบว่าระยะปลอดภัยเป็นเมื่อไร เพียงเราใช้ชีวิตแบบใหม่ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปสัก 7 วัน แล้วให้คุณหมอเป็นผู้ประเมินว่าน่าพอใจหรือยัง”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X