วันนี้ (9 มิถุนายน) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายการการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า กำลังจะเป็นภาระของประชาชนในขณะนี้และคนที่จะเกิดในวันข้างหน้า ต้องชะลอในการพัฒนา การปรับปรุงสวัสดิการสังคมให้ต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ เพราะรัฐบาลต้องเก็บเงินภาษีส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ วิโรจน์ยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงวิธีการใช้เงินกู้ของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเคยกู้เงินแล้ว 1 ล้านล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือเงินเยียวยา เงินสาธารณสุข และงบฟื้นฟู แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำเหมือนกับการฉีดยาชาให้สลบแล้วฟื้นขึ้นมาพบว่าหมอยังไม่ผ่าตัดรักษา สุดท้ายอาการก็ทรุดหนัก โดยชี้ให้เห็นว่างบเยียวยาวงเงิน 685,000 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้ว 635,308 ล้านบาท คิดเป็น 93% ซึ่งใช้ไปแล้วเกือบเต็มวงเงิน ในขณะที่งบสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท เบิกจ่ายไปเพียง 9,556 ล้านบาท คิดเป็น 21% ขณะที่โครงการเตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล กันวงเงินไว้ 10,132 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแค่ 178 ล้าน คืบหน้าเพียง 1.8% เช่นเดียวกับโครงการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาด ที่กันวงเงินไว้ 1,497 ล้านบาท เบิกจ่าย 127 ล้านบาท คืบหน้าไปแค่ 8.5% จึงไม่แปลกว่าที่การระบาดระลอกใหม่มีจำนวนผู้เสียชีวิตวันละ 30-40 คน จนเศรษฐกิจพังพินาศเช่นนี้
“การที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความมั่นใจในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นว่าการฉีดวัคซีนคุ้มกันหมู่จะสำเร็จได้เมื่อใด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็คาดหวังอะไรไม่ได้เลยเหมือนกับขาหัก บังคับให้เขาผ่าตัดดามเหล็ก สุดท้าย ไม่แคล้วต้องตัดขาทิ้ง” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์อภิปรายอีกว่า นอกจากนี้การรายงานตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนแล้วจะต้องไม่ใช่การนำตัวเลข 4.6 ล้านโดสมาหลอกประชาชน เพราะตัวเลขนี้ฉีดอีกแค่ 1.1 ล้านโดสก็จะชนะสิงคโปร์ได้แล้ว แต่จะต้องรายงานจากสัดส่วนของประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นดัชนีสำคัญ ซึ่ง ณ วันนี้ประเทศไทยมีผู้ฉีดเข็มแรกยังไม่ถึง 5% ฉีดเข็มสองแล้วเพียงแค่ 2% เท่านั้น การฉีดวัคซีนในไทยอย่างล่าช้าอยู่มาก
ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยว มีโรงแรมในภาคใต้ปิดตัวไปแล้วกว่า 90% โดยเดือนเมษายนมียอดอัตราการเข้าพัก 10-15% เดือนพฤษภาคมลดลงมาเหลือแค่ 1% และยังไม่รู้ว่าจะแย่ไปถึงเมื่อไร อีกทั้งเกิดภาวะตกงานไปแล้ว 1 ล้านคน และอาจจะไหลไปถึง 2 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อปี 2563 ที่มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท เหลืออยู่เพียงแต่สาระในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะลดลงไปอีก
ที่น่าเศร้าที่สุด มาตรการท่องเที่ยวที่ผู้ประกอบการหวังว่ารัฐบาลจะช่วยให้ยืนได้ด้วยลำแข้งตัวเองได้บ้าง ตัวอย่างโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 1 และเฟส 2 ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนค่าที่พักร้อยละ 40 แทนที่จะช่วยผู้ประกอบการ แต่กลับนำเอาเงินภาษีประชาชนไปดึงสภาพคล่องให้เอเจนซีรับจองที่พักออนไลน์ ซึ่งเป็นเอเจนซีต่างชาติได้รับสภาพคล่องไปหมุนเงินถึง 6,000 บาท สุดท้ายเป็นการบีบให้ผู้ประกอบการไทยต้องไปแข่งขันกับแอปพลิเคชันของเอเจนซีต่างชาติ แม้จะไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชัน แต่ก็ต้องจ่ายค่าการตลาดและค่าโฆษณาให้ ส่วนลูกค้าที่จะจองห้องพักตรงโดยตรงกับทางโรงแรมก็ไม่สามารถทำได้ และจะถูกนำชื่อออกจากการจองทันที ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าจะนำงบประมาณไปกระตุ้นให้คนไทยไปลองใช้แอปพลิเคชันของเอเจนซีต่างชาติทำไม ทั้งที่ภาษีรายได้นิติบุคคลเหล่านี้รัฐบาลก็เก็บจากเขาไม่ได้
“เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมา จึงเปรียบเหมือนกับค่ารักษาพยาบาลที่ต้องกู้มาจ่าย โดยโรงพยาบาลจันทร์โอชาก็ได้แต่ฉีดยาชา วางยาสลบ แต่ไม่ยอมผ่าตัดรักษาให้ แถมลากเราไปหัดเดินจนขาหักต้องไปตัดขาทิ้ง แล้วยังมาบอกว่าจะขอเก็บเงินอีก 500 บาท เพื่อขอวางยาสลบเราอีก แล้วเราจะยอมหรือไม่ ทั้งนี้ค่ารักษาอีก 500,000 ล้านบาทจำเป็นต้องจ่ายแน่ แต่ควรเปลี่ยนไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลจันทร์โอชา” วิโรจน์กล่าว
วิโรจน์สรุปว่าที่ผ่านมารัฐบาลนี้กู้เงินมาถลุงไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท ขาดสติปัญญาในการจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่าย ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ล้มเหลวในการกระจายความเสี่ยง การจัดซื้อจัดหาวัคซีน จัดฉีดวัคซีนล่าช้า กระจายวัคซีนก็เหลื่อมล้ำ ยังไปโทษโรงพยาบาลว่าสาเหตุที่ต้องเลื่อนการฉีดวัคซีน เพราะโรงพยาบาลจัดวัคซีนฉีดเร็วใช่หรือไม่ถึงขั้นตั้งกรรมการสอบ ซึ่งเป็นความล้มเหลวด้านสาธารณสุข รวมถึงการเยียวยาประชาชนที่ต้องแบกรับเงินกู้ในอนาคต ซึ่งรั่วไหลไปสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทต่างชาติแทน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์