×

เริ่มบังคับใช้ พ.ร.ก.ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ผู้เสียหายแจ้งความได้ทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
20.03.2023
  • LOADING...

วานนี้ (19 มีนาคม) พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยกฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากการถูกหลอกลวงฉ้อโกงออนไลน์

 

โดย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการตำรวจทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว พร้อมกับแจ้งข้อกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบ

 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจหลักการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้

 

  1. อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คดีออนไลน์เพื่อฉ้อโกง กรรโชก และรีดเอาทรัพย์ ถือเป็นคดีที่ต้องอยู่บังคับของกฎหมายฉบับนี้

 

  1. กรณีเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือมีเหตุสงสัยว่าอาจจะมีการทำผิดทางเทคโนโลยี สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่ถือว่าบัญชีม้าเป็นข้อมูลที่ได้รับรองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ข้อมูลบัญชีม้าจะถูกธนาคารและเจ้าหน้าที่ส่งต่อให้กันเพื่อระงับช่องทางการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยระงับความเสียหายของผู้เสียหายได้

 

  1. ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้

 

  1. ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรมไว้ชัดเจนและรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายทำธุรกรรมได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน

 

  1. มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้

 

  1. ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และพนักงานสอบสวนนั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิอาญา ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีวิทยุสั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ไหน ต้องอำนวยความสะดวกผู้เสียหาย เร่งช่วยเหลือ

 

  1. มีบทลงโทษเครือข่ายอาจจะทำที่รุนแรงขึ้นทั้งบัญชีม้า คนจัดหาบัญชีม้า 

 

7.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า)

 

7.2 ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า)

 

พล.ต.ต. อาชยนกล่าวต่อไปว่า ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่า ระบบแจ้งความออนไลน์ Thaipoliceonline.com ปิดทำการเพื่อปรับปรุงระบบให้สอดรับกับพระราชกำหนดดังกล่าว และเชื่อมระบบกับทางธนาคารเพื่อส่งต่อข้อมูล อายัดบัญชีได้ทันท่วงที ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยจะพร้อมเปิดระบบใช้งานได้ในวันนี้ (20 มีนาคม)

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจได้ทุกแห่งทั่วประเทศหรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือสามารถแจ้งธนาคารเจ้าของบัญชีตนเองเพื่ออายัดบัญชีคนร้ายได้ตามระบบปกติ กรณีมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ตำรวจศูนย์ PCT หมายเลขโทรศัพท์ 08 1866 3000

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X