สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า ภาระหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) สูงกว่า GDP ถึง 2.5 เท่า ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่ IMF เผยหนี้สาธารณะทั่วโลกยังสูงเกือบเท่าขนาด GDP และสูงกว่าระดับก่อนโควิดราว 7.5% ทำให้ G20 เร่งกดดันจีนให้เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนปัญหาดังกล่าวจะลุกลาม โดยเฉพาะต่อประเทศรายได้ต่ำ
ข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) แสดงให้เห็นว่า หนี้ภาครัฐ ครัวเรือน และภาคเอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ 31 แห่ง มีมูลค่ารวม 98.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนมิถุนายน คิดเป็น 2.5 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) นับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่เคยสูงแตะระดับ 90 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี
ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทั่วโลก นับเป็นการเพิ่มปัญหาหนี้ให้รุนแรงขึ้น เนื่องจากการกู้ยืมส่วนใหญ่ของประเทศตลาดเกิดใหม่มักเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์ ทำให้ประเทศเหล่านั้นมีภาระหนี้ที่ต้องชำระมากขึ้น นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ยังดึงเงินทุนต่างชาติออกจากตลาดเกิดใหม่ ทำให้หลายประเทศ เช่น บราซิลปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม แม้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
และยังเป็นการกดดันให้บางประเทศต้องขายเงินดอลลาร์ เพื่อปกป้องสกุลเงินของตน โดยตามการคาดการณ์ของภาคเอกชนเร็วๆ นี้ระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในจีน ตุรกี และแอฟริกาใต้ ลดลงต่ำกว่าระดับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พิจารณาว่าเพียงพอต่อการป้องกันความวุ่นวายในตลาดการเงิน
โดยหากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ไม่ยอมลดลง และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไปเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ภาระหนี้ในตลาดเกิดใหม่เพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็อาจจะประสบกับความเสี่ยงครั้งใหญ่
ขณะเดียวกัน ประเทศรายได้ต่ำจำนวนมากในแอฟริกาและภูมิภาคอื่นๆ กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารที่รุนแรงขึ้นจากสงครามในยูเครน รวมถึงชาด เอธิโอเปีย และแซมเบีย มีความเสี่ยงสูงหรือกำลังประสบปัญหาหนี้สิน ตามรายงานของ IIF เมื่อเดือนกันยายน
หนี้สาธารณะทั่วโลกยังสูงเกือบเท่าขนาด GDP โลก
ขณะที่รายงาน Fiscal Monitor ฉบับล่าสุดของ IMF ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพุธ (12 ตุลาคม) ระหว่างการประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกในปีนี้คาดว่าจะยังคงอยู่ที่ 91% ของ GDP โลก ลดลงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 แต่ยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7.5%
ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ โดยประมาณ 60% ของประเทศรายได้ต่ำที่สุดขณะนี้ กำลังเสี่ยงต่อการประสบปัญหาหนี้
กลุ่ม G20 เตรียมหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้
ภาระหนี้ประเทศตลาดเกิดใหม่ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือของรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าธนาคารกลาง G20 ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อคืนวันพุธ (12 ตุลาคม)
ทั้งนี้ เมื่อปี 2020 กลุ่ม G20 ได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ขึ้นมา โดยจีนซึ่งเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่ก็เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีคลัง G20 กลับล้มเหลวในการตกลงร่วมกันที่จะออกแถลงการณ์ร่วมในการประชุมครั้งก่อนๆ เมื่อเดือนเมษายนและกรกฎาคม เนื่องจากมีปัญหาการแตกแยกภายในจากกรณีรัสเซีย โดยแนวทางการให้กู้ยืมของจีนยังคงเป็นประเด็นปัญหาอยู่ ทำให้การหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องนี้ อาจเพิ่มเชื้อเพลิงให้กับความวุ่นวายในเศรษฐกิจโลกได้
ด้าน Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวในงานซึ่งจัดโดย Bretton Woods Committee ว่า การดำเนินการตามกรอบของ G20 นั้น “น่าผิดหวังมาก” พร้อมเสริมว่า จีนไม่ได้มีส่วนร่วมมากพอที่จะสรุปข้อตกลงนี้ได้
IMF ย้ำความจำเป็นในการปรับโครงสร้างหนี้
Vitor Gaspar ผู้อำนวยการฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และแรงกดดันทางการคลังที่เพิ่มสูงขึ้น ตอกย้ำความเร่งด่วนสำหรับความพยายามในการ ‘ปรับโครงสร้างหนี้’ มากขึ้นสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จีนที่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างทันท่วงที
โดยปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้นรุนแรงขึ้นจากภาวะช็อกด้านอาหารและพลังงาน ตลอดจนภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องกำหนดกรอบนโยบายเพื่อหลีกเลี่ยงความไม่สงบทางสังคม
“การเพิ่มขึ้นของความยากจนขั้นรุนแรง และความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการระบาดใหญ่ควรได้รับการแก้ไขในระดับโลก ด้วยชุดความคิดริเริ่มในวงกว้าง รวมทั้งความพยายามมากขึ้นในการลดหนี้ในประเทศเปราะบาง” Vitor Gaspar
ในรายงาน Fiscal Monitor ยังชี้ให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายทางการคลังต้องเผชิญกับการชั่งน้ำหนัก (Trade-off) ที่ยากลำบาก ระหว่างการพยายามปกป้องครัวเรือนที่มีรายได้น้อย กับการหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่จะขัดต่อนโยบายการเงิน
ขณะที่ Paolo Mauro รองผู้อำนวยการฝ่ายการคลัง IMF ระบุว่า เพื่อลดความเสี่ยง ผู้กำหนดนโยบายการคลังต้องทำให้ผู้คนรู้สึกว่า การจ่ายภาษีถูกนำไปใช้อย่างดี และต้องให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล ความโปร่งใสทางการคลัง และภาษีแบบก้าวหน้า ที่ไปเรียกเก็บผู้มีรายได้สูงมากขึ้น
อ้างอิง: