โลกต้องหันมาจับตามองอีลอน มัสก์ อีกครั้งหลังความเคลื่อนไหวล่าสุดที่มีการแอบพาดพิง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอแห่ง Meta (หรือ Facebook) ที่มีอำนาจมากเกินไปในบริษัทจนคิดว่าเป็นกษัตริย์หลุยส์ที่ 14
มัสก์ซึ่งเพิ่งสร้างความฮือฮาด้วยการยื่นซื้อ Twitter ได้ตอบคำถามจากผู้สัมภาษณ์ในงาน TED Conference เกี่ยวกับสถานะการเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด และเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดบนแพลตฟอร์ม Twitter ว่าจะสามารถโพสต์สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้หรือไม่
ต่อประเด็นนี้ซีอีโอแห่ง Tesla ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการพยายามซื้อ Twitter ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 9.1% โดยช่วงหนึ่งของการตอบได้มีการพาดพิงไปถึงซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Meta ซึ่งยังมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram และ WhatsApp ทำให้เป็นคนที่มีอำนาจมากจนเกินไป
“ในการเป็นเจ้าของสื่อในรูปแบบนี้ ผมหมายถึงการที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเป็นเจ้าของ Facebook, Instagram และ WhatsApp ซึ่งโดยโครงสร้างการเป็นเจ้าของทำให้จะมี ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กที่ 14’ ที่ควบคุมทุกอย่างในนั้น”
การที่มัสก์เปรียบเทียบเป็นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กที่ 14 เป็นการสื่อถึงกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้รับสมญา ‘ราชาแห่งดวงตะวัน’ เนื่องจากมีทั้งอำนาจและเงินตรา และปกครองฝรั่งเศสยาวนานถึง 72 ปี ก่อนที่มัสก์จะหัวเราะเบาๆ แล้วบอกว่า “ที่ Twitter เราไม่มีอะไรแบบนั้น”
สำหรับบริษัท Meta นั้น ซักเคอร์เบิร์กซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Facebook เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยใน Facebook เองมีหุ้นอยู่ 55% ทำให้สามารถที่จะคุมอำนาจโหวตในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทได้
นอกจากนี้ Meta ยังมีโครงสร้างหุ้น 2 ชั้น ที่ทำให้ซักเคอร์เบิร์กสามารถเลือกผู้บริหารและคณะกรรมการบอร์ดบริหารได้เอง โดยบุคคลเหล่านี้จะโหวตได้ 10 เสียงต่อจำนวนหุ้น ในขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่นจะโหวตได้เพียง 1 เสียงต่อ 1 หุ้น
ขณะที่ Tesla ของมัสก์ไม่ได้มีโครงสร้างบริหารในแบบเดียวกัน เพียงแต่มหาเศรษฐีผู้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกยุคนี้เอง ก็มีอิทธิพลอย่างสูงต่อบริษัทที่ตนเองก่อตั้งเช่นกัน
โดยถือหุ้นจำนวน 17% ซึ่งแม้มัสก์จะไม่ได้ควบคุมบริษัทในระดับเดียวกับที่ซักเคอร์เบิร์กควบคุม Meta แต่กฎการโหวตที่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อการลงมติเรื่องสำคัญทำให้มัสก์มีอำนาจในการจะโหวตคัดค้านได้
อ้างอิง: