วันนี้ (19 ตุลาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีที่ผู้อำนวยการประจำสำนักอำนวยการศาลอาญา กล่าวหา เอเลียร์ ฟอฟิ ในคดีหมายเลขดำ ลศ.11/2564 เรื่องละเมิดอำนาจศาล
กรณีการกล่าวหาสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้เชิญชวนให้ทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านกลอนตุลาการภิวัฒน์ ที่ศาลอาญา โดยมีกลุ่มบุคคลดังกล่าวเข้ามาบริเวณศาลรวมตัวกันอยู่ที่บริเวณบันไดทางขึ้นหน้าศาล ซึ่งมีการใช้เครื่องขยายเสียงและตะโกนข้อความ ปล่อยเพื่อนเรา โดยผู้ถูกกล่าวหาก็ได้ร่วมในการชุมนุมลักษณะก่อความวุ่นวายและตะโกนด่าทอด้วย โดยการไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้วว่าแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างว่าการตะโดนด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าศาลอาญาจะเป็นเพียงการแสดงออกถึงความไม่พอใจการทํางานของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์โควิด ซึ่งแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ก็ตาม แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าวย่อมจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายและไม่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย การที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยใช้ถ้อยคำหยาบคายต่างๆ ในขณะที่มีกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากมาชุมนุมกันที่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นศาลอาญาโดยไม่ยอมรับฟังคำแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าตำรวจ ซึ่งนอกจากเป็นการกระทําอันเป็นการมั่วสุมกันเกินกว่า 20 คนขึ้นไปในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และประกาศของกรุงเทพมหานครแล้วยังเป็นการสุ่มเสี่ยงที่ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสขยายเป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ซึ่งทางไต่สวนแม้จะไม่ได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เข้าไปโปรยกระดาษยื่นหนังสือราชอยุติธรรม อ่านกลอนตุลาการภิวัฒน์ หรือมีการใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงการฝ่าฝืนแผงเหล็กรั้วกั้น ร่วมกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาได้เข้าร่วมชุมนุมและร่วมตะโกนต่อว่าร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ย่อมมีลักษณะเป็นการทำให้ผู้ร่วมชุมนุมดังกล่าวเกิดความฮึกเหิมมากยิ่งขึ้น อันมีลักษณะเป็นการสนับสนุนผู้ชุมนุมดังกล่าวอยู่ในตัว
ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหาร่วมตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวเนื่องจากไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล และต้องการที่จะมาให้กำลังใจแก่ผู้ต้องขังที่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวก็ตาม แต่ผู้กล่าวหาก็ยังสามารถเลือกใช้รูปแบบของการแสดงออกในการให้กำลังใจผู้ต้องขังที่ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว หรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อีกทั้งแม้จะได้ความว่าเป็นการด่าทอเจ้าพนักงานตำรวจ แต่เจ้าพนักงานตำรวจก็ได้รับการประสานเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณศาล ซึ่งก็คือเจ้าพนักงาน การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาจึงมีลักษณะเป็นการใช้คำพูดหรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยส่งเสียงดังภายในบริเวณศาลอาญาอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดของศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในบริเวณศาลอาญา พ.ศ. 2564 ข้อ 1 และเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
การกระทําของผู้ถูกกล่าวหา ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลและฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายและไม่มีข้อยกเว้นให้กระทำได้ จึงเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจ
พิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 31 (3), 33 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งความผิด เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีพฤติการณ์กระทำความผิดที่ร้ายแรง และไม่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมการหรือวางแผนชุมนุม เรียกร้อง หรือก่อความวุ่นวายไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลในลักษณะกดดัน คุกคาม เหิมเกริม อุกอาจ แต่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงมีส่วนร่วมในกลุ่มเพื่อเป็นกำลังใจหรือเป็นแนวร่วมในเหตุการณ์ ถือว่ายังไม่ถึงขั้นร้ายแรง ทั้งผู้ถูกกล่าวหามีวุฒิการศึกษาที่ดีน่าจะมีอนาคตในภายหน้าที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน มีอาชีพสุจริตและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงสมควรให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหากลับตัวเป็นพลเมืองดีในสังคมสักครั้ง
จึงให้รอการกำหนดโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 2 ปี แต่ทั้งนี้เห็นควรกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนในทำนองเดียวกับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบริเวณศาลเช่นทำนองนี้อีก ภายในกำหนดระยะเวลารอการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56