×

เอเลนา ริบาคินา กับแผนการสร้างกีฬาเทนนิสในประเทศคาซัคสถาน

20.03.2023
  • LOADING...
เอเลนา ริบาคินา

HIGHLIGHTS

9 min read
  • เอเลนา ริบาคินา นักกีฬาเทนนิสวัย 23 ปี ตัวแทนจากคาซัคสถาน คว้าแชมป์ อินเดียน เวลส์ ด้วยการล้มทั้งมือ 1 และ 2 ของโลกในรอบรองฯ และรอบชิงฯ 
  • เธอคือนักเทนนิสจากคาซัคสถานคนแรกที่คว้าแชมป์ระดับแกรนด์สแลม ในศึกวิมเบิลดันเมื่อปี 2022 และเป็นนักเทนนิสคาซัคสถานที่มีอันดับโลกสูงสุดที่อันดับ 7 
  • เอเลนา ริบาคินา โอนสัญชาติมาจากรัสเซียเมื่อปี 2018 โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากีฬาเทนนิสของ บูลัต อูเตมูราตอฟ เศรษฐีของคาซัคสถานที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ชื่นชอบฟุตบอลและศิลปะการต่อสู้ ให้หลงรักและสนับสนุนกีฬาเทนนิส 
  • บูลัต อูเตมูราตอฟ ลงทุนกับสหพันธ์ฯ ไป 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการสร้างโครงสร้างพัฒนาเยาวชน และวางแผนการพัฒนาระยะยาวสำหรับอนาคตของกีฬาเทนนิสในประเทศ 

เอเลนา ริบาคินา กลายเป็นนักเทนนิสจากคาซัคสถานคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่นักเทนนิสมือ 7 ของโลก หลังผลงานแชมป์อินเดียน เวลส์ เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา หลังการโชว์ฟอร์มอย่างยอดเยี่ยมด้วยการเอาชนะนักเทนนิสหญิงเดี่ยวมือหนึ่งของโลก อย่าง อิกา สเวียเท็ก มือหนึ่งของโลก และ อารีนา ซาบาเลนกา มือสองของโลก 

 

โดยสื่อต่างประเทศเชื่อว่า เอเลนาและนักเทนนิสหญิงมือหนึ่งและมือสองของโลกในเวลานี้ มีโอกาสที่จะกลายเป็นบิ๊กทรีแห่งวงการเทนนิสในอนาคตอันใกล้ เมื่อฟอร์มการเล่นของทั้งสามแข็งแกร่งว่านักเทนนิสหญิงคนอื่นๆ อย่างชัดเจน 

 

การเติบโตของทั้งสามมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะ เอเลนา ริบาคินา ที่เกิดและโตที่กรุงมอสโก รัสเซีย ก่อนจะโอนสัญชาติมาเล่นให้คาซัคสถานเมื่อปี 2018 ในตอนที่เธอเพิ่งก้าวขึ้นมาติดท็อป 200 ของโลก และเพิ่งมีอายุเพียง 19 ปี 

 

ในช่วงเวลาที่ประเทศคาซัคสถานกำลังพยายามสร้างความนิยมให้กับกีฬาเทนนิส ภายในประเทศที่ชื่นชอบฟุตบอลและศิลปะการต่อสู้มากที่สุด 

 

เอเลนา ริบาคินา กับการเติบโตในประเทศรัสเซีย 

 

เอเลนา ริบาคินา

 

ริบาคินาเหมือนกับนักเทนนิสหลายคนในวัยนี้ที่เติบโตมากับการชื่นชอบ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ตำนานนักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 20 สมัย 

 

แต่สิ่งที่ริบาคินาแตกต่างจากแฟนคลับของโรเจอร์คนอื่นๆ คือ เธอคือหนึ่งในคนที่ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์รายการเดียวกับโรเจอร์ได้ในศึกวิมเบิลดันเมื่อปี 2022 

 

ริบาคินาเริ่มต้นเล่นยิมนาสติกกับไอซ์สเกต แต่เนื่องจากความสูงของเธอ ทำให้เธอไม่เหมาะสมกับกีฬาทั้ง 2 ชนิด จนอังเดรพ่อของเธอแนะนำให้ลองเทนนิส เพราะเป็นกีฬาที่พ่อของเธอชื่นชอบอยู่แล้ว ซึ่งเธอก็หลงรักกีฬาชนิดนี้เช่นเดียวกัน 

 

ริบาคินาเริ่มต้นเล่นเทนนิสตั้งแต่ 6 ขวบ ผ่านการฝึกซ้อมในชมรมอย่าง ดินาโม สปอร์ต คลับ, สปาร์ตัก สปอร์ตคลับ ร่วมกับโค้ชเทนนิสมืออาชีพ 

 

“ฉันรักเทนนิส” ริบาคินากล่าวกับ WTA Insider เมื่อปี 2020 

 

“นี่เป็นเกมสำหรับฉันมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ฉันไม่เคยคิดว่านี่คืออาชีพเลย ฉันคิดว่าเป็นเกมมาตลอด และถ้าฉันไม่สามารถทำอะไรได้ ฉันก็จะพยายามพัฒนาตัวเองจนกว่าจะทำได้” 

 

แต่ริบาคินาในช่วงวัยรุ่น เธอยอมรับว่ามีช่วงเวลาที่เธอต้องเลือกระหว่างการเทิร์นโปรเป็นนักกีฬาอาชีพ หรือศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนแรกอังเดรพ่อของเธอก็อยากให้ตัดสินใจเลือกแบบหลัง 

 

แต่สุดท้ายก็มีสหพันธ์เทนนิสคาซัคสถานเข้ามาช่วยให้เธอตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 

 

“ตอนแรกพ่ออยากให้เลือกศึกษาต่อ แต่เขาก็เริ่มเห็นผลงานที่ดีขึ้น และเขารักเทนนิส ดังนั้นเขาจึงเห็นด้วยกับการเลือกเทนนิส 

 

“หลังจากนั้นก็มีสหพันธ์เทนนิสคาซัคสถานเข้ามาพร้อมกับข้อเสนอที่ทำให้การตัดสินใจทุกอย่างง่ายขึ้น 

 

“ฉันตัดสินใจโอนสัญชาติเป็นคาซัคสถาน เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในตัวฉัน และตอนที่พวกเขายื่นข้อเสนอมา ตัวฉันเองก็ไม่ได้เก่งขนาดนั้น ดังนั้นพวกเขาจึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะช่วยเหลือฉัน” 

 

คาซัคสถาน กับเศรษฐีที่ต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นชาติมหาอำนาจทางเทนนิส 

 

เอเลนา ริบาคินา

 

เศรษฐีกับกีฬาเป็นสิ่งที่เราพบเห็นบ่อยในวงการกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลที่มี

มหาเศรษฐีเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรระดับโลก

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะเห็นว่า จุดประสงค์ของการซื้อทีมที่แท้จริงของแต่ละคนคืออะไร และเห็นว่าวิธีการไหนที่ช่วยเปลี่ยนแปลงเงินลงทุนเป็นความสำเร็จระยะยาว

 

แต่สำหรับกรณีของเทนนิสในคาซัคสถาน มีเศรษฐีคนหนึ่งที่ไม่ได้ต้องซื้อเพียงแค่ทีม แต่เขาตัดสินใจที่จะลงทุนกับกีฬาทั้งโครงสร้าง 

 

ย้อนไปเมื่อปี 2007 บูลัต อูเตมูราตอฟ เศรษฐีชาวคาซัคสถานตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างวัฒนธรรมเทนนิสขึ้นภายในประเทศที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบและนิยมกีฬาฟุตบอลและศิลปะการต่อสู้ 

 

“ผมชอบกีฬาเทนนิสตั้งแต่แรก” อูเตมูราตอฟให้สัมภาษณ์ในวัย 64 ปีถึงจุดเริ่มต้นของความรักที่เขามีให้กับเทนนิส แม้ว่าตัวเขาเองจะเคยเล่นกีฬามวยสากล ฟุตบอล และเทเบิลเทนนิสมาก่อนที่เขาจะเริ่มต้นเล่นเทนนิสในช่วงปี 1990 ในยุคหลังสหภาพโซเวียต 

 

ก่อนหน้านั้นกีฬาเทนนิสในสหภาพโซเวียตถูกมองว่าเป็นกีฬาของชนชั้นสูง และมีสนามเทนนิสเพียงไม่กี่แห่งทั่วทั้งประเทศ และค่าใช้จ่ายในการเล่นเทนนิสก็สูงมาก 

 

แต่สำหรับอูเตมูราตอฟเขามองว่าเทนนิสคือกีฬาที่เหมือนกับหมากรุกที่ต้องใช้ร่างกายแข่งขัน ทั้งความว่องไว ความฉลาด สมาธิ และการพัฒนาทางร่างกายอย่างต่อเนื่อง 

 

หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย และคาซัคสถานแยกตัวออกมา อูเตมูราตอฟทำหน้าที่เป็นคนกลางทางธุรกิจระหว่างคาซัคสถานและยุโรป รวมถึงสหประชาชาติ ขณะที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของ นูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถานในเวลานั้น ที่อยู่ในตำแหน่งนานถึง 30 ปีในช่วงเวลาของความเปลี่ยนแปลงในประเทศ 

 

หากจะพูดถึงกีฬาที่ประสบความสำเร็จที่สุดจากประเทศคาซัคสถานต้องยอมรับว่า ชื่อของ ‘Triple G’ เกนนาดี โกลอฟกิน เจ้าของแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวต อาจเป็นที่รู้จักมากที่สุด 

 

ในขณะที่กีฬาเทนนิส สหพันธ์เทนนิสของประเทศเกือบจะล้มละลาย เมื่อปี 2007 ก่อนที่อูเตมูราตอฟ ซึ่งเป็นแฟนกีฬาของทั้ง ราฟาเอล นาดาล และ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ จะตัดสินใจเข้ามาช่วยกอบกู้กีฬาเทนนิสในประเทศ 

 

“ตอนนั้นเหมือนกับว่าเราต้องเริ่มต้นใหม่” อูเตมูราตอฟกล่าว 

 

ในประเทศที่มีประชากร 20 ล้านคนที่กระจายไปทั่วพื้นที่กว่า 2,000 ไมล์ และมีอากาศหนาวเกือบตลอดทั้งปี การเล่นเทนนิสซึ่งส่วนใหญ่จะเล่นในหน้าร้อนถือเป็นความท้าทายมาก ยังไม่นับรวมถึงสนามเทนนิสที่แทบจะไม่มีอยู่ในประเทศ 

 

อูเตมูราตอฟ กับการลงทุนสร้าง Team Kazakhstan เพื่อพัฒนากีฬาเทนนิส 

 

เอเลนา ริบาคินา

 

200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณเกือบ 7,000 ล้านบาท คือเงินที่อูเตมูราตอฟ ร่วมกับสหพันธ์เทนนิสคาซัคสถานลงทุนในอะคาเดมีที่มีชื่อว่า ‘Team Kazakhstan’ พร้อมกับสร้างศูนย์เทนนิสทั้งหมด 38 แห่ง ใน 17 เขตทั่วประเทศ 

 

อบรมและฝึกสอนโค้ชและเทรนเนอร์เป็นร้อยคน และให้เงินอุดหนุนการเรียนของเยาวชน ซึ่งนักกีฬาเยาวชนที่ฝึกซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ มีโอกาสได้เงินประมาณ 40-120 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน 

 

ส่วนนักเทนนิสเยาวชนระดับต้นๆ จะได้รับมาถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการฝึกซ้อมและการเดินทาง 

 

เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ที่ว่าเป็นกีฬาของชนชั้นสูงที่ต้องมีต้นทุนมหาศาลในการเล่น เป็นกีฬาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ 

 

จากเดิมที่คาซัคสถานมีนักกีฬาลงทะเบียนทั้งหมด 1,800 คน ปัจจุบันคาซัคสถานมีนักเทนนิสลงทะเบียนทั้งหมด 33,000 คน และมีเจ้าหน้าที่สหพันธ์ฯ ทั้งหมด 32 คน คอยประสานงานกับโค้ช 70 คนทั่วประเทศที่ติดตามพัฒนาการของเยาวชน 

 

แต่เงินลงทุนสร้างโครงสร้างพัฒนาเยาวชนอย่างเดียวไม่เพียงพอกับการสร้างนักกีฬาระดับสูง 

 

เดฟ ไมลีย์ เจ้าหน้าที่พัฒนานักกีฬาของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ ( ITF) ที่มาช่วยสหพันธ์เทนนิสคาซัคสถานในฐานะผู้อำนวยการ กล่าวว่า “คุณสร้างนักกีฬาได้หากมีระบบการพัฒนาที่ดี” 

 

แต่อูเตมูราตอฟรู้ว่าผู้คนในประเทศจะเปิดรับกีฬาเทนนิสก็ต่อเมื่อมีนักกีฬาตัวแทนประเทศที่แข่งขันอยู่ในระดับสูงสุด และนั่นคือสาเหตุให้เขามองหานักกีฬาจากประเทศอื่น แทนที่จะรอคอยเพียงแค่ผลผลิตจากการลงทุนสร้างระบบพัฒนาเยาวชน 

 

เขาเริ่มต้นมองหาจากประเทศรัสเซียที่ใช้ภาษาสื่อสารเดียวกัน และมีนักกีฬาที่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอจากสหพันธ์ในประเทศ โดยมีข้อเสนอที่เรียบง่ายคือ เล่นเทนนิสให้คาซัคสถาน ที่มีภาษาและประวัติศาสตร์ที่เหมือนกัน และเราจะสนับสนุนอาชีพของคุณ 

 

ในช่วงแรกเขาได้ ยูริ ชูคิน และ ยาโรสลาวา ชเวโดวา มาแข่งให้กับคาซัคสถาน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จนัก 

 

โดย ยาโรสลาวา ชเวโดวา ทำผลงานได้ดีที่สุดคือก้าวขึ้นไปถึงมือ 25 ของโลก เมื่อปี 2012 และผ่านเข้าไปถึงรอบ 8 คนสุดท้ายในระดับแกรนด์สแลม 3 ครั้ง และคว้าแชมป์ประเภทคู่ในศึกวิมเบิลดัน และยูเอสโอเพน 

 

ปัจจุบันเป็น ริบาคินา และ อเล็กซานเดอร์ บูบลิค อีกหนึ่งนักกีฬาโอนสัญชาติจากรัสเซียที่มาลงเล่นให้กับคาซัคสถาน 

 

ซึ่งแน่นอนทางสหพันธ์เทนนิสรัสเซียได้ยกเลิกการสนับสนุนหลายรูปแบบกับนักกีฬาทั้งสอง ทำให้พวกเขาต้องลงทุนหาสนามและโค้ชฝึกซ้อมด้วยตัวเอง 

 

แต่แม้ว่าแผนของเขาในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าจะประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้อูเตมูราตอฟมองแล้วว่า คาซัคสถานจะไม่เซ็นนักกีฬาโอนสัญชาติมาเป็นตัวแทนคาซัคสถานต่อจากนี้ 

 

เพราะเขาจะรอผลผลิตที่เกิดขึ้นจากระบบการลงทุนสร้างโครงสร้างพัฒนาเทนนิสในประเทศแทน 

 

ซึ่งตอนนี้มีนักกีฬาเยาวชนอย่าง ซานการ์ นูร์ลานูรี ที่ครองตำแหน่งมือสูงสุดของรุ่นในยุโรป และปีนี้พาเพื่อนร่วมทีมเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในรายการของ ITF อายุไม่เกิน 14 ปี 

 

รวมถึงเมื่อเดือนตุลาคม 2022 คาซัคสถานได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิสระดับ ATP 500 เป็นครั้งแรก โดยมีนักกีฬาทั้ง คาร์ลอส อัลคาราซ, ดานิล เมดเวเดฟ, สเตฟานอส ซิตซิปาส และ โนวัค ยอโควิช เดินทางมาแข่งขันอีกด้วย 

 

การลงทุนของอูเตมูราตอฟเป็นตัวอย่างการพัฒนากีฬาภายในประเทศที่น่าสนใจ เมื่อเขามองเห็นโอกาสในกีฬาที่เขาชื่นชอบและอยากต่อยอด แม้ว่าจะไม่ใช่กีฬาที่เป็นเบอร์หนึ่งในใจของคนในประเทศ 

 

เขามองเห็นการลงทุนที่สร้างโครงสร้างพัฒนาคน ต่อด้วยการเอากีฬาชนิดนี้ไปนั่งอยู่ในใจของผู้คนด้วยความสำเร็จระยะสั้น ด้วยการโอนสัญชาติ ก่อนจะรอคอยผลตอบแทนระยะยาว ด้วยความเชื่อมั่นในระบบที่เขาก่อสร้างขึ้นมา 

 

ปัจจุบันอูเตมูราตอฟยังได้รับตำแหน่งรองประธานของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ ขณะที่ เอเลนา ริบาคินา ถูกยกให้เป็นหนึ่งในนักเทนนิสหญิงชั้นนำของโลกที่มีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับคาซัคสถานอย่างต่อเนื่อง 

 

การลงทุนครั้งนี้ของอูเตมูราตอฟ ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้เงินมหาศาลจากเศรษฐีที่มีใจรักในกีฬาอย่างแท้จริง 

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการถอดบทเรียนจากการทดลอง และการลงทุนของเขามาปรับใช้กับการพัฒนากีฬาในประเทศ ให้มองเห็นทั้งความสำเร็จระยะสั้นและแผนการระยะยาว ที่จะทำให้นักกีฬาได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จในระดับสูงสุด 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X