×

ราคาสินค้า ‘อิเล็กทรอนิกส์’ จะแพงขึ้น ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันให้เกิด ‘ห่วงโซ่อุปทานใหม่’

08.04.2023
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ จะยกระดับมาตรการสกัดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคของจีนเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปรับห่วงโซ่อุปทานใหม่ที่กระจายตัวไปยังแต่ละภูมิภาคของโลก ขณะที่ดอกผลของการสร้างฐานผลิตใหม่ต้องใช้เวลาแม้จะมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนบางส่วน ดังนั้น บริษัทอิเล็กทรอนิกส์โลกรวมถึงไทย มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น มาร์จิ้นบางลง หรือผู้บริโภคอาจเผชิญความท้าทายด้านราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่แพงขึ้น

 

การปรับห่วงโซ่ใหม่คงจะทำให้ไทยได้รับอานิสงส์โดยเฉพาะการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ซับซ้อน โดยการลงทุนน่าจะเติบโตในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าขั้นปลายอย่างรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ แต่โดยรวมผลบวกต่อการลงทุนในไทยอาจยังน้อยกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน  

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกหรือการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำทั่วโลก โดยที่เห็นชัดเจนคือการเร่งปรับฐานการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาจีนของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ผ่านการออกกฎหมายและมาตรการเพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศตน และการหาแนวร่วมในการดำเนินนโยบายควบคุมการส่งออก (Export Controls) จนนำมาสู่สัญญาณการหดตัวลงของยอดนำเข้าของจีนในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงช่วงสองเดือนแรกของปี 2566 และกระแสการกระจายการลงทุนจากจีนไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลกอีกระลอก เมื่อประกอบภาพกับวัฏจักรขาลงของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลังโควิดคลี่คลาย และจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว จึงกระทบต่อผลประกอบการของบรรดาบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก และตามมาด้วยข่าวการปลดแรงงานของผู้ประกอบการหลายแห่ง 

 

คาดมาร์จินทั้งระบบ ‘บางลง’

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ และจีน และผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงข้างหน้า ดังนี้

 

Export Controls ของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ มีแนวโน้มถูกยกระดับให้ครอบคลุมกลุ่มชิปชั้นสูงอื่นที่อาจถูกประยุกต์ใช้เพื่อทดแทนการทำงานของชิป AI เช่น ชิปที่ใช้ช่วยการขับขี่อัตโนมัติในรถยนต์ ชิปประมวลผลในอุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการจีนมักใช้ชิ้นส่วนของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ในผลิตภัณฑ์ของตนเป็นหลัก หรือแม้กระทั่งขยับมาถึงกลุ่มชิปพื้นฐานที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงจังหวะที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2567 จากปัจจุบันที่ขอบข่ายของมาตรการมุ่งเน้นไปที่การห้ามส่งออกชิป AI ชั้นสูงและอุปกรณ์ผลิตชิปชั้นสูงไปยังจีน รวมถึงการกำหนดรายชื่อบริษัทเทคโนโลยีจีนที่ไม่สามารถทำการค้ากับบริษัทสัญชาติอเมริกันได้ (Entity List) ซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นราว 350 รายจากปี 2561 อย่างไรก็ดี กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ น่าจะมีการพิจารณาทยอยออกมาตรการเป็นลำดับขั้นเพื่อลดขอบข่ายผลกระทบ เช่น ควบคุมการส่งออกเฉพาะไปยังบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่ที่อาจเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนก่อน เพื่อดูผลสืบเนื่องก่อนขยายวงให้ครอบคลุมมากขึ้น

 

ไม่เพียงจีนที่คงจะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง แต่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติในกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ก็จะยิ่งเผชิญข้อจำกัดด้านยอดขายมากขึ้น เมื่อต้องแข่งขันกันหาตลาดอื่นทดแทนจีน ขณะที่ดอกผลของการกระจายการลงทุนยังประเทศแม่หรือในกลุ่มพันธมิตรด้วยกันเองยังต้องใช้เวลาหลายปีในการเพิ่มกำลังการผลิตและคืนทุน ถึงแม้ว่าจะได้รับผลบวกบางส่วนจากมาตรการสนับสนุนการลงทุน เช่น CHIPS Act ของสหรัฐฯ ก็ตาม 

 

กระแสการเพิ่มการลงทุนในหลายภูมิภาคทั่วโลก ในขณะที่จีนต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทคของตนเอง จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วเร็วขึ้น และกระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยง โดยการผลิตชิปชั้นสูงของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ จะอยู่ในประเทศแม่และพันธมิตร เช่น สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และสหภาพยุโรป ส่วนการผลิตชิ้นส่วนพื้นฐานหรือชิปที่ไม่ซับซ้อนจะกระจายตัวไปยังแหล่งที่เป็นโอกาสทางการตลาดของสินค้าขั้นปลาย เช่น อุปกรณ์ไอที เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ฯลฯ ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน เอเชียใต้ อเมริกาเหนือ เป็นต้น จากเดิมที่ห่วงโซ่อุปทานกระจุกตัวอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่อาศัยจีนเป็นโรงงานของโลกและไต้หวันเป็นหลัก 

 

ผู้ประกอบการแบกต้นทุนเพิ่ม

 

กระแสลงทุนห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ที่กระจายตัวไปในหลายภูมิภาคน่าจะยิ่งผลักดันให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ผลจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ผลักดันให้เกิดกระแสพึ่งพาตนเอง โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ทำให้กลุ่มสหรัฐฯ แม้แต่ละประเทศจะเป็นพันธมิตรกัน แต่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามแข่งขันกันสร้างห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงขึ้นในประเทศของตนเองเพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ แม้รัฐบาลแต่ละประเทศจะมีการให้เงินสนับสนุนบางส่วนสำหรับการลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่ก็ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับต้นทุนธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานที่กระจัดกระจายในหลายภูมิภาคน่าจะทำให้สเกลการผลิตในแต่ละห่วงโซ่ใหม่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับห่วงโซ่เดิมที่กระจุกตัวอยู่ในเอเชียตะวันออก ดังนั้น มาร์จิ้นธุรกิจทั้งระบบจึงมีแนวโน้มบางลงในระยะข้างหน้า หรือเพื่อที่จะรักษามาร์จิ้นราคาสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็ย่อมมีแนวโน้มแพงขึ้น

 

มองไทย ‘รับอานิสงส์’ บางส่วน

 

ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์การลงทุนบางส่วนจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบทบาทหลักของไทย แต่ก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งมีบทบาทคล้ายคลึงกับไทย แม้ไทยจะมีจุดเด่นที่ไม่เป็นรองเพื่อนบ้านในบางประการ เช่น การมีสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่ไม่แพ้เพื่อนบ้าน และการวางตัวเป็นกลางในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ไทยก็ยังต้องเผชิญประเด็นท้าทายบางประการเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานในการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ซับซ้อน ขณะที่มาเลเซียก็มีความได้เปรียบด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประกอบชิ้นส่วนซับซ้อนและไฮเทค ทำให้โดยภาพรวมแล้ว ผลบวกต่อการลงทุนในไทยอาจน้อยกว่ากลุ่มเพื่อนบ้านดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ไทยน่าจะสามารถเกาะกระแสการลงทุนประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมผลิตสินค้าขั้นปลายที่ไทยเป็นฮับการผลิตอยู่ โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขยายการลงทุนตามกระแสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและเทคโนโลยีอัจฉริยะที่มีความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมามีการลงทุนในไทยรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคตตามการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในตลาดโลก

 

คาดทุนจีนทยอยย้ายฐานผลิตมาไทย

 

อย่างไรก็ดี ไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะตึงตัวของอุปทานอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงในการผลิตสินค้าไฮเทคของค่ายจีนที่มาลงทุนในไทย ปัจจุบันผู้ประกอบการจีนเริ่มทยอยเข้ามาลงทุนผลิตสินค้าไฮเทคโดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทย โดยนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคจากจีนซึ่งยังคงต้องพึ่งพาห่วงโซ่ของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ทำให้ในระยะข้างหน้า หากกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ยกระดับความเข้มข้นในการจำกัดการเข้าถึงชิ้นส่วนไฮเทคของผู้ประกอบการจีน อาจส่งผลให้ไทยต้องเผชิญภาวะอุปทานชิ้นส่วนตึงตัวโดยเฉพาะชิปชั้นสูง ซึ่งถือครองโดยค่ายพันธมิตรสหรัฐฯ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ห่วงโซ่การผลิตสินค้าไฮเทคของค่ายพันธมิตรสหรัฐฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย น่าจะไม่เผชิญกับข้อจำกัดดังกล่าว

 

แม้ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ใหม่ของทั้ง 2 ขั้ว ซึ่งมีโอกาสได้รับคำสั่งซื้อหรือยอดผลิต และการเป็นฐานการส่งออกสินค้าขั้นปลายบางรายการ แต่การกำหนดราคาขายยังต้องขึ้นอยู่กับบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในไทยก็มีแนวโน้มจะเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น มาร์จิ้นบางลง หรือมิเช่นนั้นผู้บริโภคอาจต้องจ่ายค่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในราคาที่แพงขึ้น

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising