ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีบริษัทนำเข้าสำแดงเท็จในการนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างไร เหตุใดจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนปรากฏเป็นภาพข่าวน่าตกใจ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้าไทย 5 เดือนแรกของปี 5.2 หมื่นตัน เกือบเท่าปีที่แล้วทั้งปี
ชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากสถิติการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2560 มีปริมาณเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากปี พ.ศ. 2560 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2561
สำหรับสถิตินำเข้าเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณการนำเข้า 64,436.71 ตัน และในปี พ.ศ. 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม พบว่ามีปริมาณการนำเข้าจำนวน 52,221.46 ตัน
ขณะที่สถิติการนำเข้าเศษพลาสติก ในปี พ.ศ. 2560 มีปริมาณนำเข้า 145,764.98 ตัน และในปี พ.ศ.2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มีปริมาณนำเข้าเศษพลาสติก 212,051.72 ตัน
ทั้งนี้หากนับ 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. 60-เม.ย. 61) ไทยมีมูลค่านำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง 1,344 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าของช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีจำนวนมากถึง 2.9 แสนตัน
โฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า โดยเฉลี่ยจะมีเศษพลาสติกนำเข้าประมาณ 70 ตู้ต่อวัน ส่วนเศษอิเล็กทรอนิกส์เฉลี่ย 17 ตู้ต่อวัน โดยร้อยละ 90 จะนำเข้าผ่านด่านท่าเรือแหลมฉบัง
ขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าได้ถูกต้อง เสียภาษี 0%
กรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร อธิบายจำแนกประเภทของขยะอันตรายต่างๆ ว่ามี 3 ชนิดคือ
1. เศษพลาสติก เสียภาษีศุลกากร 30% ซึ่งการนำเข้าต้องมีใบอนุญาตจาก 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติการควบคุมการนำเข้าส่งออก พ.ศ. 2532 และการควบคุมจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการนำเข้าพลาสติกจะต้องมีการหลอม มีลักษณะเป็นโพลิเมอร์ และที่สำคัญต้องมีการล้างทำความสะอาด รวมถึงต้องมีการแจ้งชัดเจนว่าเมื่อนำเข้ามาและจะขนย้ายไปที่ไหน
2. เศษอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste เสียภาษีศุลกากร 0% เบื้องหลังการนำเข้ามาจากอนุสัญญาบาเซล ซึ่งไทยลงนามเป็นภาคีด้วย ซึ่งหลักการของอนุสัญญานี้มีไว้ควบคุมการเคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ รวมถึงกำหนดมาตรการการกำจัด ดังนั้นก่อนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าประเทศไทยจะต้องมีการแจ้งนำเข้า และแจ้งโรงงานปลายทางที่รับซื้อด้วย
3. เศษโลหะ ซึ่งไม่ต้องมีใบอนุญาตเหมือน 2 ชนิดแรก จะนำเข้าอย่างไรก็ได้ แต่ประเด็นที่เกิดปัญหาในปัจจุบันคือการสำแดงว่านำเข้าเศษโลหะ แต่มีการนำ เศษอิเล็กทรอนิกส์ไปผสมอยู่เผื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
รองโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยด้วยว่า จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น กรมศุลกากรได้เปลี่ยนระบบการตรวจเศษอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่ใช้ระบบสุ่มตรวจ เป็นระบบเอกซเรย์ทุกตู้ที่สำแดงว่าเป็นเศษอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือการสำแดงเท็จว่าเป็นเศษโลหะแต่มีเศษอิเล็กทรอนิกส์ผสมอยู่จำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้กรมศุลกากรยังไม่มีมาตรการที่เข้มงวดชัดเจนในการป้องกันช่องโหว่นี้ เนื่องจากสินค้าประเภทเศษโลหะ ไม่ต้องมีใบอนุญาต จึงมีจำนวนมากและยากที่จะตรวจด้วยระบบเอกซเรย์ทุกตู้สินค้า
ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันมีการสั่งปิดโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยหลายโรงงานเพื่อตรวจสอบว่าได้มาตรฐานตามกฎหมายหรือไม่ ทำให้ขณะนี้กรมศุลกากรเตรียมผลักดันขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 40 ตู้ ตู้ละประมาณ 20 ตัน กลับประเทศต้นทาง เนื่องจากโรงงานปลายทางที่รับซื้อยังไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้
ส่วนตู้สินค้าที่สำแดงว่าเป็นเศษโลหะ แต่ตรวจพบว่ามีเศษอิเล็กทรอนิกส์ผสมอยู่ กรมศุลกากรตรวจพบได้ 33 ตู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรม มาตรวจสอบว่าแต่ละตู้มีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ผสมอยู่ในอัตราส่วนที่ทางกรมกำหนดไว้หรือไม่
กรมศุลฯ ยันยังไม่พบข้าราชการในสังกัดทุจริต
การบุกตรวจค้นโรงงานขยะอิเล็กทรอกนิกส์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและมีการตั้งข้อสังเกตุว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นในกระบวนการสำแดงเท็จนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น
โฆษกกรมศุลกากรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากข้อมูลตามสื่อมวลชน ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ในสังกัดกรมศุลกากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสำแดงเท็จ หรือรับสินบนใดๆ ทางกรมฯ จึงยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่ยืนยันว่าหากพบว่ามีคนของกรมศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการทันที
สำหรับปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไหลสู่ไทยยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป เนื่องจากไทยยังไม่มีนโยบายห้ามนำเข้าขยะพิษเหล่านี้เหมือนประเทศจีน ขณะที่มาตรการการควบคุมต่างๆ ก็ยังมีช่องโหว่อยู่พอสมควร