×

‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ตลาดมืด หรือเทรนด์ใหม่ของธุรกิจนิโคติน?

22.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บุหรี่ไฟฟ้ามีตัวเลขซื้อขายในประเทศไทยราว 2,800-6,000 ล้านบาทต่อปี
  • พ่อค้ารายใหญ่เผยว่า ทั่วโลกมีแบรนด์อุปกรณ์เกินกว่า 200 แบรนด์ และแบรนด์น้ำยามากกว่า 7,000 แบรนด์

     จากกรณีชาวอังกฤษถูกจับในประเทศไทยฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษรายงานว่า บริษัททัวร์ในอังกฤษต้องประกาศเตือนนักท่องเที่ยวว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย  

     ด้านเว็บไซต์ www.gov.uk ของรัฐบาลอังกฤษ ให้คำแนะนำในการท่องเที่ยวในไทยอย่างชัดเจนว่า นักท่องเที่ยวไม่สามารถนำอุปกรณ์สูบบุหรี่ที่ใช้ไอน้ำ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า หรือบารากู่ไฟฟ้า และไส้ของอุปกรณ์เหล่านี้เข้ามายังประเทศไทยได้ หากพบเห็นอาจมีการยึด ปรับ หรือต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

     นอกจากนี้ การขายหรือจัดหาบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประเภทเดียวกันในไทยก็ไม่สามารถทำได้ โดยอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก หรือรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีชาวอังกฤษประมาณ 2-3 คนถูกจับกุมแล้วในข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบบุหรี่ที่ใช้ไอน้ำ

     ทั้งนี้ฐานความผิดของเจ้าหน้าที่ในการจับกุมฐานครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับการครอบครองสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษี ซึ่งในกรณีนี้ ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช ทนายชื่อดัง ได้อธิบายผ่านรายการโทรทัศน์ NBT มีคำตอบ ในวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า หากเทียบตามหลักกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำได้ เพราะตัวกฎหมายบัญญัติไว้เพียงห้ามขายและห้ามนำเข้า ส่วนการครอบครองของหนีภาษีในกรณีบุหรี่ไฟฟ้านั้น บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีฐานภาษี เพราะเป็นสินค้าต้องห้าม ซึ่งห้ามนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่าย ไม่เกี่ยวกับตัวผู้ใช้และครอบครอง ทำให้เกิดคำถามว่า ที่ผ่านมาล้วนเป็นไปตาม ‘ดุลพินิจของเจ้าพนักงาน’ จากช่องโหว่ของกฎหมายหรือไม่

     และหากบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ใน บรรทัดฐานเดียวกับบุหรี่มวน ในทางประโยชน์ของภาครัฐแล้ว นอกจากภาษีที่ถูกขีดทิ้งจากการเป็น ‘สินค้าต้องห้าม’ มีมิติอื่นๆ ทางสังคมที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษอีกหรือไม่ หากไม่พูดถึงข้อถกเถียงด้านประเด็นสุขภาพเพียงอย่างเดียว

คนใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยมากจะเป็นกลุ่มเฉพาะ มีรายได้พอสมควร ไม่ใช่คนทั่วไปจะซื้อ เพราะการลงทุนเครื่องมีราคาค่อนข้างสูง เทียบกับบุหรี่ทั่วไปที่แยกซื้อได้ ไถเพื่อนได้

 

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ไทยควรปรับตัวตามกระแสโลก

     ผศ. ดร. อุ่นกัง แซ่ลิ้ม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้อธิบายว่า

     “เม็ดเงินที่หมุนเวียนในประเทศไทยที่ทำวิจัยอยู่และพอเปิดเผยได้บางส่วน คิดจากผู้ค้ารายใหญ่และรายเก่า ตีมูลค่าประมาณ 2,800-6,000 ล้านบาทต่อปี ถ้ามองมูลค่าเดี่ยวๆ อาจดูเยอะ แต่ถ้าเทียบกับบุหรี่มวนที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท คิดเทียบประมาณ 5% นับว่าไม่เยอะ แต่โตเร็ว และผมคิดว่าการโตเร็วมาจากการแบน ซึ่งทำให้คนหันมาสนใจกันมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยิ่งการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวของภาครัฐด้วย ทั้งนี้คนใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยมากจะเป็นกลุ่มเฉพาะ มีรายได้พอสมควร ไม่ใช่คนทั่วไปจะซื้อ เพราะการลงทุนเครื่องมีราคาค่อนข้างสูง เทียบกับบุหรี่ทั่วไปที่แยกซื้อได้ ไถเพื่อนได้

     ผศ. ดร. อุ่นกัง อธิบายต่อว่า ในประเทศอื่น ขนาดทางเศรษฐกิจของบุหรี่ไฟฟ้าใหญ่กว่าประเทศไทยมาก คาดกันว่าในปี 2025 บุหรี่ไฟฟ้าจะมาแทนที่บุหรี่มวน และคาดว่าภายในปี 2034 บุหรี่มวนในปัจจุบันอาจจะไม่มีเหลืออยู่ เปรียบเทียบกับกรณีโทรศัพท์มือถือที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia หายไปจากตลาด

     ทั้งนี้บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เช่น Japan Tobacco และ Philip Morris  เองยังมีการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดย Philip Morris ได้ทำแบรนด์บุหรี่ไฟฟ้าของตนเองชื่อว่า ไอคอส (Iqos) ส่วนในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่เป็นโรงงานยาสูบเองก็ควรต้องปรับตัว คำถามคือโรงงานยาสูบได้เตรียมพร้อมหรือไม่ เพราะหากเปลี่ยนโฉมไปจริง รายได้โรงงานยาสูบอาจหายไป เหลือเป็นภาษีนำเข้าในจำนวนน้อยเท่านั้น

     ทั้งนี้ ผศ. ดร. อุ่นกัง ยังกล่าวว่า กระแสโลกเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว ถ้ายังมองโลกแบบเดิมๆ จะตามไม่ทันกระแสโลก การห้ามคือวิธีโบราณ

     “คุณต้องยอมรับว่ามันมาแนวนี้ กฎหมายต้องปรับยังไง ถ้าคุณห้ามอย่างเดียวคุณก็ไม่มีความรู้ ไม่มีงานวิจัยของตัวเองรองรับพฤติกรรมการใช้ นี่คือความจริงในสังคม แต่ถ้าเราห้ามให้มันอยู่ใต้ดิน เราก็จะไม่รับรู้อะไรเลย วิธีง่ายที่สุดคือใช้บรรทัดฐานกฎหมายเดิมที่เรามีอย่างยาสูบ อะไรที่มีเคสปัญหาต่างจากงานวิจัยเขา เราก็เก็บข้อมูลมาออกกฎหมายเพิ่มเติมได้ ในทางเศรษฐศาสตร์ เรามองว่าไม่โอเค มันมีแต่เสียกับเสีย คือทุกอย่างมันมีข้อดีข้อเสีย ของในโลกนี้ไม่มีอะไรดำสนิทหรือขาวสะอาด ทุกอย่างมันออกสีเทาๆ เราก็มาหากันสิว่าข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร แล้วคิดวิธีจัดการแบบที่สังคมและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

     ผศ. ดร. อุ่นกัง ได้จำแนกประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้ หากให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายโดยใช้มาตรการควบคุมเดียวกันกับบุหรี่มวน

  1. เคารพสิทธิ์ ให้ทางเลือกแก่ผู้เสพติดสารนิโคติน รวมถึงลดปัญหาการตีความโดยเจ้าที่
  2. ควบคุมมาตรฐานของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ เครื่องสูบ น้ำยา โดยวัตถุดิบหลักที่เป็นสารเคมีในอุตสาหกรรมอาหารสามารถใช้บรรทัดฐานขององค์การอาหารและยาได้
  3. รัฐจะได้ภาษี และสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ร้านค้า รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ

คาดกันว่าในปี 2025 บุหรี่ไฟฟ้าจะมาแทนที่บุหรี่มวน และคาดว่าภายในปี 2034 บุหรี่มวนในปัจจุบันอาจจะไม่มีเหลืออยู่

 

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงแฟชั่น หรือนวัตกรรมใหม่

     “การกระจายเม็ดเงินในธุรกิจนี้จะทำให้มีผู้เข้ามาผลิตเยอะขึ้น ซึ่งภาครัฐก็ต้องควบคุมและวางมาตรฐาน รวมไปถึงมันจะทำให้เกิดการแข่งขัน และอาจนำไปสู่นวัตกรรม” ผศ. ดร. อุ่นกังกล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า คนไทยเองก็มีคนที่ทำแบรนด์น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ดีส่งออก เมื่อรู้ว่าขายในประเทศไม่ได้จึงไปผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย แล้วแปะแบรนด์ส่งขายรอบโลก เช่นเดียวกันกับเคสของคราฟต์เบียร์ คนไทยจำนวนหนึ่งมีความสามารถ แต่เมื่อกฎหมายไม่เปิดช่อง จึงต้องไปกลั่นที่อื่น จากนั้นค่อยนำเข้ามา แทนที่ประเทศไทยจะผลิตเอง ใช้เอง ขายเอง นำรายได้มาหมุนเวียนในประเทศ

 

 

หมอประกิตเตือน อย่าหลงกลบริษัทบุหรี่

     อีกด้านหนึ่งนั้น ศ. นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า

     “หากเปิดให้มีการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี นอกจากเป็นการมอมเมาเยาวชนให้เสี่ยงที่จะเสียคนแล้ว ครอบครัวและประเทศชาติจะสูญเสียเศรษฐกิจ เสียเงินตราออกนอกประเทศโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จึงขอให้รัฐบาลอย่าหลงเล่ห์เหลี่ยมของบริษัทบุหรี่ และขอให้ห้ามนำเข้าหรือจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป”

     ขณะที่ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 ว่า ปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผลในการช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร แต่มีการลักลอบนำเข้าและขายอย่างผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่มีการขายผ่านทางอินเทอร์เน็ตอย่างเปิดเผย เป็นการกระตุ้นให้เกิดนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วยการออกผลิตภัณฑ์ปลดปล่อยนิโคตินรูปแบบใหม่ๆ มากระตุ้นให้อยากลอง

     ในประเด็นนักสูบหน้าใหม่นี้ ผศ. ดร. อุ่นกัง ได้กล่าวว่า “ที่ทางภาครัฐกังวลเรื่องประตูสู่การสูบบุหรี่ในเยาวชนเนี่ย หมอทางจิตวิทยาวัยรุ่นควรเข้ามาอธิบายให้ละเอียดว่า Gateway Theory มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ มันมีปัจจัยทางจิตวิทยาอยู่ด้วย อย่างเรื่องเสพยาบ้านี่ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปเสพได้ มันต้องเกิดการกล่อมเกลาทางสังคม อยู่ในกลุ่มผู้ใช้ ที่ภาครัฐบอกกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะนำไปสู่นักสูบหน้าใหม่ได้ไหม ในความเห็นผมมันเป็นไปได้น้อยมาก อาจจะมีเคสที่เกิดขึ้นบ้างในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการไปสำรวจในเด็กมัธยม และความต่างในการเข้าถึงของเด็กไทยกับสหรัฐอเมริกาคือเรื่องรายได้ เด็กไทยไม่ได้มีรายได้ ดังนั้นเด็กที่เข้าถึงได้คือเด็กที่พ่อแม่มีฐานะ และอาจจะสปอยล์ลูกพอสมควรที่จะให้ลูกมีเงินใช้ขนาดนี้ ถ้าจะให้เวิร์กก็ต้องมีการสำรวจ มีการวิจัย ไม่ใช่พูดกันลอยๆ ว่ามันทำให้เกิดผู้สูบหน้าใหม่จากบุหรี่ไฟฟ้า“

ของในโลกนี้ไม่มีอะไรดำสนิทหรือขาวสะอาด ทุกอย่างมันออกสีเทาๆ เราก็มาหากันสิว่าข้อดีคืออะไร ข้อเสียคืออะไร แล้วคิดวิธีจัดการแบบที่สังคมและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

 

พ่อค้าและผู้ผลิตรายย่อยอ้าง การผูกขาดตลาดในแวดวงบุหรี่ไฟฟ้าเป็นไปไม่ได้

     จากประเด็นข้อสงสัยว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่างานวิจัยสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า หรือการเคลื่อนไหวเพื่อให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในไทยนั้นเป็นเพราะมีบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังเพื่อให้สามารถเข้ามาทำตลาดเพิ่มยอดขายได้ จากการพูดคุยกับพ่อค้าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าแบรนด์ดังแบรนด์หนึ่งในไทย เขาให้ข้อมูลที่พอทำให้เชื่อได้ว่าเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ผลประโยชน์นี้ขึ้นอยู่กับบริษัทหรือนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม เนื่องจากแบรนด์น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจากทั่วโลกนั้นมีรวมกันเกินกว่า 7,000 แบรนด์ และแบรนด์ผลิตอุปกรณ์ก็รวมกันเกินกว่า 200 แบรนด์ จึงเป็นไปได้ยากหากจะผูกขาดตลาดนี้อย่างแท้จริง แม้จะมีบริษัทที่มีทุนมาก แต่ด้วยจำนวนแบรนด์ ก็ทำให้การแข่งขันสูง ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย

     พ่อค้ารายนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่า คนคนหนึ่งเสียเงินกับค่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าราว 1,000-3,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณในการสูบ โดยในแวดวงพ่อค้าและผู้ผสมน้ำยาที่รู้จักกันก็ได้มีการตั้งข้อตกลงร่วมในการไม่ขายอุปกรณ์หรือน้ำยาให้กับคนที่มีอายุต่ำกว่า 18-21 ปี โดยพยายามอิงกับกฎหมายเรื่องยาสูบ ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันคือการที่ร้านค้าจำนวนหนึ่งไม่กรองอายุผู้ซื้อ ทำให้เด็กและเยาวชนที่อายุยังน้อยสามารถเข้าถึงได้ แต่ด้วยราคาของสินค้าที่เริ่มต้นในค่าอุปกรณ์นั้นอยู่ที่ราว 1,000 บาท ซึ่งแพงกว่าการซื้อบุหรี่มวนหนึ่งซองมาสูบ ทำให้การเข้าถึงของเยาวชนที่ยังไม่มีรายได้ถูกจำกัดลง

     ดังนั้นผู้ซื้อส่วนใหญ่อาจเป็นกลุ่มคนที่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนบุหรี่มวนเพื่อรักษาสุขภาพ ตามหลักงานวิจัยจากประเทศอังกฤษ (‘บุหรี่ไฟฟ้า’ แฟชั่นอันตราย หรือทางเลือกใหม่ของนิโคติน?)

     หรือแท้จริงแล้ว การหันมาสูบ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ อาจเป็นคำกล่าวอ้างของคนที่อยากลองบุหรี่แบบใหม่ และเลิกบุหรี่ไม่ได้

     เรื่องนี้มีสองมุมให้คิดเสมอ คุณล่ะ คิดในมุมไหน?

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising