×

ปรับค่าไฟฟ้ารอบ 3 ลดรายจ่าย กระทบหนี้ภาครัฐ

โดย THE STANDARD TEAM
08.12.2023
  • LOADING...

วันนี้ (8 ธันวาคม) ความคืบหน้ากรณีการปรับค่าไฟฟ้า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับค่าไฟฟ้าเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วยนั้น ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้มีการพิจารณาในรายละเอียดกันอีกครั้ง 

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ประกาศนโยบายลดราคาพลังงานช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดไปแล้ว 2 ครั้ง คือ

 

  1. วันที่ 13 กันยายน 2566 ครม. มีมติปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย เหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย

 

  1. วันที่ 18 กันยายน 2566 ครม. มีมติลดอัตราค่าไฟฟ้ารอบ 2 จาก 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาท สำหรับค่าไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566

 

แต่ประกาศลดค่าไฟไปไม่นาน กกพ. ก็ประกาศเพิ่มค่าไฟฟ้า ทำให้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกับกล่าวในงานสัมมนาวิชาการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) ว่า เลขออกมา 4.68 บาทต่อหน่วยนั้นรับไม่ได้ โดยตอนนี้ตัวเลขค่าไฟที่ 4.20 บาทต่อหน่วยเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ตัวเลขที่อยากได้และจะกดลงมาคือตัวเลข 4.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งอยู่ระหว่างพูดคุยกัน

 

เตรียมชงรอบ 3 ตรึงค่าไฟเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

 

ทำให้วันนี้มีความเคลื่อนไหวจาก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย โดยตรึงราคาค่าไฟฟ้าให้ได้ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 ยูนิตต่อเดือน จะได้ใช้ไฟฟ้าในราคาเดิม และยืนยันว่าจะเสนอ ครม. ก่อนครบกำหนดการตรึงราคาแน่นอน 

 

นอกจากการเสนอคณะรัฐมนตรีตรึงราคาค่าไฟสำหรับกลุ่มเปราะบางต่อแล้ว ยังจะมีการเสนอตรึงราคาก๊าซหุงต้มราคา 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมด้วย  

 

ยืดหนี้ กฟผ. เพื่อกดค่าไฟ อีกกี่ปีจะใช้หนี้หมด 

 

ขณะที่ ศุภโชติ ไชยสัจ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงนโยบายการปรับลดค่าไฟของรัฐบาลว่า ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรีจะใช้วิธีการใดเพื่อกดค่าไฟ จะใช้วิธีเดิมคือยืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปอีกใช่หรือไม่ ปัจจุบันต้นทุนค่าไฟอยู่ที่ 4.04 บาทต่อหน่วย ถ้าขึ้นค่าไฟอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วยตามที่นายกรัฐมนตรีระบุ หมายความว่าก้อนหนี้ที่ กฟผ. แบกอยู่ในปัจจุบันกว่า 95,000 ล้านบาทจะใหญ่ขึ้นอีกในอนาคต การใช้วิธีแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ จะไม่เป็นผลดีต่อใครเลย

 

ศุภโชติกล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การแก้ไขปัญหาที่โครงสร้าง ทั้งการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ การแก้ไขสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า และที่สำคัญคือ การหยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนใน สปป.ลาว กว่า 3,000 เมกะวัตต์ที่เซ็นมาในราคาแพงมากถึง 2.7 บาทต่อหน่วย หรือโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ที่ประกาศผลออกมาแล้วว่าเอกชนรายใดได้ไป รวมถึงที่จะมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีก 3,600 เมกะวัตต์ 

 

ศุภโชติตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่นายกรัฐมนตรีพูดนั้นไม่ตรงกับทั้ง 3 ทางเลือกของ กกพ. ที่เคยเสนอก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย 

 

  1. ถ้าต้องการให้ กฟผ. ชำระหนี้ที่แบกอยู่ภายใน 4 เดือน ค่าไฟที่ควรเป็นคือ 5.95 บาทต่อหน่วย 

 

  1. ให้ กฟผ. จ่ายคืนภาระหนี้ภายใน 1 ปี ค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

 

  1. อนุญาตให้ กฟผ. ยืดระยะเวลาการจ่ายหนี้ออกไปเป็น 2 ปี ค่าไฟจะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย

 

“แต่ถ้ารัฐบาลบอกว่าจะกดไว้ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ต้องถามว่าอีกกี่ปีถึงจะใช้หนี้หมด สิ่งที่เขาทำไม่ใช่การช่วย แต่เป็นการโยนตุ้มไปถ่วงให้หนักขึ้น วันนี้เราเห็นค่าไฟกระโดดจาก 3.99 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย พุ่งขึ้นกว่า 69 สตางค์ แต่ในอนาคตถ้าหนี้ก้อนใหญ่ขึ้นเราอาจจะเห็นค่าไฟเพิ่มขึ้นครั้งละ 1 บาทหรือมากกว่านั้น ประชาชนจะยิ่งรับไม่ไหว” ศุภโชติกล่าว

 

ก้าวไกลแนะ หยุดแก้หนี้-เซ็นสัญญา แก้โครงสร้าง 

 

ศุภโชติยังระบุอีกด้วยว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำทันทีคือ หยุดสร้างหนี้ แก้ที่โครงสร้าง วางแผนอนาคต ด้วยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ แก้ไขสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้า และหยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising