สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนับจนถึงครึ่งปีแรก 2562 ที่ผ่านมา ทั้งแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) ที่ 15,366 คัน ถือเป็นตัวเลขที่หวือหวา และสะท้อนสัญญาณการตื่นตัวบางอย่างได้ดี เมื่อตัวเลขดังกล่าวนับเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของยอดการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งปี 2561 (ยอดจดทะเบียน: 20,344 คัน)
หันไปมองที่รถยนต์ไฟฟ้าแท้ๆ ประเภทที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่แบบ 100% (BEV) บ้าง ครึ่งปีที่ผ่านมามีจำนวนการจดทะเบียนที่ 420 คัน สูงกว่าปี 2561 ที่จดทะเบียนตลอดทั้งปี 325 คัน ส่วนภาพรวมความพร้อมของโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าปีนี้ก็มีอยู่ประมาณ 340 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อแนวโน้มของการใช้งานและความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) จึงได้ร่างข้อเสนอเเนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อเตรียมนำเสนอให้ภาครัฐนำไปปรับใช้เป็นนโยบายบริหารประเทศ 8 ข้อ เนื่องจากภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรม EV ประเทศไทย เปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
สำหรับแนวทาง 8 ข้อที่สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเตรียมนำเสนอให้ภาครัฐ ประกอบด้วย
1. จัดทำเเผนที่นำทางเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ (EV Roadmap) ซึ่งทางสมาคมเน้นว่าต้องมีการกำหนดเป้าหมายของจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า เเละสถานีอัดประจุไฟฟ้าอย่างเหมาะสม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการนโยบาย โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพื่อการบูรณาการที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2. เเนะให้รัฐพิจารณาปรับปรุงข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งให้รถสามล้อไฟฟ้าเเละรถรับจ้างไฟฟ้าสามารถจดทะเบียนได้เสรี รวมถึงส่งเสริมการใช้รถสามล้อไฟฟ้าในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเสนอให้มีการเเยกการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างประเภทปลั๊กอิน ไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV)
3. แนะให้ภาครัฐควรออกมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วยส่งเสริมให้ประชาชนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะการลดภาษีส่วนบุคคลสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพิ่มแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ออกมาตรการเพิ่มหัวจ่ายประจุไฟฟ้าตามที่จอดสาธารณะ เเละเพิ่มสิทธิในการวิ่งรถยนต์ในช่องทางพิเศษ หน่วยงานรัฐควรเป็นผู้นำด้านการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก่อน ด้วยการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ตามมติ ครม. รถโดยสารสาธารณะทั้ง ขสมก. รถตุ๊กตุ๊ก รถแท็กซี่ ควรเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด สนับสนุนให้มีการเเยกประเภทป้ายทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแบบเฉพาะ โดยการใช้สีและสัญลักษณ์บนป้ายทะเบียนที่สามารถมองเห็นและแยกแยะได้ สำหรับป้ายที่เป็นประเภทไฟฟ้า 100% (BEV) เเละประเภทปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชน เเละการมีส่วนร่วมของผู้ขับขี่ในการช่วยลดมลภาวะเเละรักษาสิ่งเเวดล้อม
4. ควรมีการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในรูปแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเเละรถสามล้อไฟฟ้า
5. ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเเละการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้มีการสนับสนุนการสร้างงานวิจัย และพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ และการพัฒนาแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า(EV Open Platform) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำแพลตฟอร์มมาต่อยอดได้
6. จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรมีการออกมาตรฐานยานยนต์ที่ครอบคลุม รวมไปถึงการจัดให้มีหน่วยงานทดสอบเเละรับรองมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพเเล้ว โดยใช้แนวทางตามมาตรฐานสากล
7. เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การสนับสนุนให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Quick Charge ตามสถานที่ต่างๆ
8. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การอบรมและการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพในสถาบันการศึกษา
ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า “สมาคมช่วยกันระดมความคิดในการจัดทำข้อเสนอทั้งหมดจากทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์และมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยในส่วนต่อไปผมคิดว่าทางภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะสนับสนุนให้ข้อเสนอดังกล่าวสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติเเละเป็นรูปธรรมมากขึ้น
“สมาคมยินดีให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในทุกๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการใช้เเละพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย และการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ยังสามารถช่วยลดมลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อนที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเรา”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์